โควิด-19

"โอไมครอน" 9 ข้อรับมือช่วง ก.พ.-มี.ค. เหตุเพราะ "โควิด19" ไม่ได้อยู่ช่วงขาลง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

อาจารย์เจษฏ์วิเคราะห์ "โควิด19" ยังไม่ใช่ช่วงขาลง แนะ 9 ข้อ เตรียมตัวรับมือ "โอไมครอน" คาดว่าจะระบาดเต็มที่ช่วงก.พ.-มี.ค. นี้

รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์  ถึงสถานการณ์การระบาดของ "โควิด19" โดบระบุว่า 

ผมคิดว่า "โควิด19" ยังคงเป็นขาขึ้น ไม่ใช่ขาลง" นะครับได้เห็นหลายคนออกความเห็นในเชิงว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย ซึ่งระลอกใหม่นี้มากับเชื้อไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์ omicron นั้นกำลังเป็นขาลงแล้ว เรากำลังจะผ่านพ้นวิกฤติไปแล้ว
บางคนก็เสริมด้วยการยกรายงานข่าวสถานการณ์ในต่างประเทศ ว่าหลายประเทศเป็นขาลงแล้ว แถมของไทย ก็มีข่าวว่า สธ. จะปรับลงระดับความฉุกเฉินของโควิด ให้เป็นโรคประจำถิ่น
ก็ต้องขอบอกว่า ผมเห็นต่างในเรื่องนี้นะครับ ผมคิดว่าเรายังอยู่ในช่วงขาขึ้นของการแพร่ระบาด ยังไม่มีหลักฐานว่ามันถึงจุดสูงสุดแล้วและกลายเป็นขาลง อย่างที่เข้าใจกัน
คือ เป็นเรื่องจริงที่หลายประเทศ ซึ่งมีการระบาดของ omicron อย่างหนัก นั้น จนมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากมายอย่างรวดเร็ว แต่เมื่อผ่านไปประมาณ 1-2 เดือน ก็มาถึงจุดพีคสุดของการระบาด และกำลังลงมาอย่างเห็นได้ชัด ตัวอย่างเช่น ประเทศแอฟริกาใต้ สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา แคนาดา ฯลฯ (ดูรูปที่ 1 ประกอบ)

"โอไมครอน" 9 ข้อรับมือช่วง ก.พ.-มี.ค. เหตุเพราะ "โควิด19" ไม่ได้อยู่ช่วงขาลง

ส่วนของไทยเราเองนั้น แม้ว่าเส้นกราฟจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่รายวัน จะยังไม่ได้พุ่งสูงชันเหมือนของประเทศอื่นๆ แต่ก็เห็นได้ว่าอยู่ในช่วงที่ยังเป็นขาขึ้น โดยเฉพาะถ้าดูแบบที่นับรวมทั้งผลการตรวจแบบ PCR และ ATK ด้วยกัน (เส้นสีเทาในรูปที่ 2) ก็จะเห็นได้ว่ายังคงเป็นขาขึ้น 

"โอไมครอน" 9 ข้อรับมือช่วง ก.พ.-มี.ค. เหตุเพราะ "โควิด19" ไม่ได้อยู่ช่วงขาลง เพียงแต่ว่าถ้าเทียบประเทศไทย กับเอเชียประเทศอื่นๆ ที่กำลังมีการระบาดขนาดนี้ (เช่น สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ในรูป) กราฟของเราค่อนข้างไม่ชันมากนัก ซึ่งอาจจะมาจากความสามารถในการที่ช่วยกันควบคุมการแพร่ระบาด กดความชันกราฟเอาไว้ของคนไทย
หรือในมุมกลับข้าง การที่จำนวนผู้ติดเชื้อที่รายงานอย่างเป็นทางการนั้นยังไม่สูงนัก อาจเกิดจากปัญหาเรื่องการตรวจ ที่ยังไม่กว้างขวางครอบคลุมเชิงรุกเพียงพอ  , หรือจากกรณีที่ถ้าตรวจ ATK เป็นบวกแล้ว ก็มักจะให้ทำการกักตัวที่บ้านเลย โดยไม่นำยอดรวมนับกับของกระทรวงด้วย ,  แถมผู้ที่ติดเชื้อ omegle ส่วนใหญ่มักจะไม่มีอาการป่วย หรือมีเพียงแค่เล็กน้อย ทำให้ไม่เคยได้รับการตรวจด้วยซ้ำ จนหายเอง
สุดท้าย ทำให้มีตัวเลขรายงานผู้ติดเชื้อ น้อยกว่าที่ควรจะเป็น เมื่อเทียบกับแนวโน้มในประเทศอื่นๆ  ที่ omicron มีชื่อเสียงในด้านลบ ว่ามันแพร่ระบาดเป็นวงกว้างมาก ได้อย่างรวดเร็ว (ซึ่งก็น่าแปลกใจ เพราะก็ได้ยินข่าวอยู่เรื่อยๆ ว่า มีผู้ติดเชื้อจำนวนมากในจังหวัดนั้นจังหวัดนี้ วงการนั้นวงการนี้ แต่ทำไมตัวเลขทางการกลับไม่ค่อยสูง) 

 

เอาเป็นว่า อย่าเพิ่งประมาทกันครับทุกท่าน ผมยังคิดว่าเราจะต้องรับมือกับโควิด-โอมิครอนกันเต็มที่ต่อไป โดยเฉพาะในเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคมนี้ 
แล้วหลังจากนั้น เมษายน-พฤษภาคมไปแล้ว ถ้าผ่านไปได้ด้วยดี รับมือกับโอมิครอนได้ดี (ด้วย 3 อาวุธสำคัญ คือชุดตรวจ ATK , การทำ home isolation และระดมฉีดวัคซีนทุกวัย) ก็เป็นไปได้ที่ประเทศไทยเราจะเริ่มเข้าสู่ end game เหมือนกับประเทศอื่นเขา เข้าสู่ขาลงอย่างแท้จริง จนเริ่มผ่อนคลายลดความกังวล ใช้ชีวิตกันเป็นปรกติขึ้นครับ

 

ขอแถมด้วย "9 ประเด็นสำคัญ" ที่ควรทราบ รับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-omicron

 

1. โอมิครอน ไม่ใช่วัคซีนเชื้อเป็น
(แม้จะมีหลักฐานมากขึ้นแล้วว่า การที่เราติดเชื้อโควิดไวรัสสายพันธุ์ omicron นั้น จะทำให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อสายพันธุ์ด้วย บวกกับการที่มันแพร่กระจายได้รวดเร็วมาก ทำให้ผู้เชี่ยวชาญในต่างประเทศหลายๆ คน บอกว่าโอมิครอนจะก่อให้เกิด natural  immunity หรือภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติได้ แต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่า มันจะปลอดภัยที่จะไปรับเชื้อไวรัสเข้าร่างกายโดยตรง เหมือนกับเป็นวัคซีนเชื้อเป็น อย่างที่บางคนเข้าใจผิด) 

 

2. โอมิครอน ไม่ใช่ไม่รุนแรง แต่รุนแรงน้อยกว่าเดลต้า
(คือ เป็นที่ยอมรับโดยทั่วกันแล้วว่า ความรุนแรงที่เชื้อโอเมครอนทำให้เกิดขึ้นกับผู้ป่วยนั้น น้อยกว่าสายพันธุ์เดลต้า แต่มีจุดสังเกตที่สำคัญคือ อาการที่ไม่ค่อยรุนแรงนั้น มักจะเป็นในกลุ่มที่ได้เคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิดเอาไว้ ส่วนผู้ที่ยังไม่เคยฉีดวัคซีน และอยู่ในกลุ่มเสี่ยง ก็ยังมีอันตรายจากเชื้อไวรัสโอไมครอน จนอาจถึงเสียชีวิตได้อยู่ดี )

 

3. การระบาดระลอก 5 มาแน่
(จริงๆ ทั้ง 9 ข้อนี้ มาจากที่ผมเคยบรรยายในรายการวิทยุไปตั้งแต่เมื่อปลายปี 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งก็เป็นไปตามที่คาดการณ์กันไว้ คือมีการระบาดของโรคโควิดเริ่มขึ้นในช่วงเดือนมกราคม อันเกิดจากสายพันธุ์โอเมครอน ที่ระบาดในวงกว้างและเข้ามาแทนที่เดลต้าได้อย่างรวดเร็ว )

 

4. คาดว่าระลอก 5 คือ ก.พ. - มี.ค.
(อันนี้ ก็เป็นการคาดการณ์ตั้งแต่เมื่อปลายปีก่อน โดยดูจากระยะของการแพร่ระบาดในแต่ละประเทศไล่ๆ กันมา นั่นก็คือ แอฟริกาใต้เริ่มในช่วงเดือนพฤศจิกายน สหราชอาณาจักรช่วงเดือนธันวาคม สหรัฐอเมริกาช่วงเดือนมกราคม ดังนั้นเอเชียรวมถึงไทย ก็น่าจะมาถึงช่วงกุมภาพันธ์ ซึ่งตอนนี้ก็เห็นได้ชัดว่าเริ่มการระบาดแล้ว แต่ยังไม่ขึ้นพีคสูงเท่าไหร่ จึงน่าจับตาดูว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างที่คาดไว้หรือเปล่า )

 

5. ฉีดวัคซีนเด็ก 5-11 ปี เดือน ก.พ.
(สถานการณ์การระบาดรอบนี้ที่น่าห่วงที่สุด ก็คือ กลุ่มที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนเลย ซึ่งก็จะเหลือแค่กลุ่มเด็กเล็กตั้งแต่อายุ 12 ปีลงไป (แม้จะไม่ค่อยมีอาการป่วยหนักรุนแรง แต่ก็มีอาการไม่สบายได้นะครับ) และกว่าที่วัคซีนจะมาให้ฉีดได้นั้น ก็คงจะเป็นช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งถ้ามีการระบาดในช่วงนี้จริงๆ ก็น่ากังวลว่าจะฉีดวัคซีนกันทันหรือเปล่า) 

 

6. วัคซีนต้องฉีดก่อนการระบาดเดือนครึ่ง
(เป็นหนึ่งในเรื่องที่พบว่า คนจำนวนมากเลยเข้าใจผิด คือมองวัคซีนเหมือนยารักษาโรค ไประดมฉีดกันตอนที่เกิดการระบาดของเชื้อไวรัสแล้ว ซึ่งมันจะไม่ทันท่วงที เพราะจริงๆแล้วเราจำเป็นจะต้องฉีดให้ครบ 2 โดส และรออีกประมาณ 2 สัปดาห์ ร่างกายถึงจะสร้างภูมิคุ้มกันได้เต็มที่ ซึ่งนั่นคือนับรวมแล้วประมาณ 1 เดือนครึ่งทีเดียว ที่ควรจะฉีดก่อนที่จะมีการระบาดของโรคโควิดเกิดขึ้น) 

 

7. วัคซีนสำหรับเด็กต่ำกว่า 5 ขวบ ยังไม่มี
(กลุ่มที่น่าเป็นห่วงที่สุดในช่วงครึ่งปีนี้ ก็คือกลุ่มเด็กเล็กมาก ซึ่งยังไม่มีวัคซีนให้ฉีดเลย ในต่างประเทศมีรายงานของเด็กกลุ่มนี้ ที่ต้องเข้าโรงพยาบาลมากขึ้นกว่าในการระบาดครั้งที่ผ่านๆ มา)

 


8. คาดวัคซีนของอเมริกาสำหรับเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ออกราว เม.ย.
(ล่าสุด มีวัคซีน mRNA ของบริษัทไฟเซอร์ ซึ่งได้ใช้สูตรวัคซีนตัวเดียวกันกับของผู้ใหญ่ แต่ลดโดสลงมาเหลือ 1 ใน 10 ส่วน เอามาใช้กับเด็กเล็กมากได้ แต่ก็คงเดือนเมษายนไปแล้วจะเริ่มฉีดกัน และกว่าจะมาฉีดที่ประเทศไทย ก็คงครึ่งปีหลัง) 

 

9. คำแนะนำสำหรับเด็กเล็กคือ เก็บให้ดี คนรอบข้างเด็ก ต้องฉีดวัคซีนให้หมด
(อันนี้ก็ขึ้นกับสถานการณ์การระบาด หากเกิดมีการระบาดเป็นอย่างหนักในประเทศไทยหรือในเขตจังหวัดไหน ก็คงจะต้องพยายามดูแลเด็กกลุ่มนี้ให้ดีเป็นพิเศษ เนื่องจากยังไม่ได้ฉีดวัคซีนเลย และวิธีการที่ทำได้คือ ให้ผู้ใหญ่ที่อยู่รอบข้างทั้งหมด ฉีดวัคซีนป้องกันให้ครบถ้วนทุกคน เพื่อลูกหลานของเราเอง)

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ