โควิด-19

หมอขอแนะ "โอไมครอน" ปรับแนวทางรับมือ ยกเลิกมาตรการไม่จำเป็น - เร่งฉีดวัคซีน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หมอขวัญชัย โพสต์ทั่วโลกปรับแนวคิดรับมือ "โอไมครอน" จากพยายามกำจัดเชื้อให้หมดไปมาเป็นเร่งสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ หลายประเทศยกเลิกมาตรการป้องกัน "โควิด-19" แนะไทยควรเร่งฉีดวัคซีน ทยอยยกเลิกมาตรการไม่จำเป็น

ศ.นพ.ขวัญชัย ศุภรัตน์ภิญโญ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โพสต์เพจเฟซบุ๊ก Khuanchai Supparatpinyo  ถึงกรณีการอยู่กับ "โควิด-19" อย่างปลอดภัย หลัง "โอไมครอน" ระบาดมากว่า 2 เดือน ทั่วโลกเริ่มปรับแนวทางการรับมือ "โอไมครอน" หลายประเทศเริ่มยกเลิก-ผ่อนคลายมาตรการป้องกันการระบาด ขณะที่ไทยเตรียมประกาศให้ "โควิด-19" เป็นโรคประจำถิ่น แนะเร่งฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม และทยอยยกเลิกมาตรการที่ไม่จำเป็น โดยมีข้อความว่า

หมอขอแนะ "โอไมครอน" ปรับแนวทางรับมือ ยกเลิกมาตรการไม่จำเป็น - เร่งฉีดวัคซีน

ทั่วโลกเริ่มมีแนวคิดในการปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกับโควิดหลังการระบาดของ "โอไมครอน" มากขึ้นเรื่อยๆ ภายหลังการระบาดของ "โอไมครอน" ไปทั่วโลกเพียง 2 เดือนเศษ มีข้อมูลที่ค่อยๆเปิดเผยออกมามากขึ้นเรื่อยๆว่า "โอไมครอน" แม้ว่าจะแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วและสามารถหลบหลีกภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการฉีดวัคซีนได้ดี แต่กลับมีความสามารถในการก่อโรครุนแรงน้อยลงกว่าสายพันธุ์อื่นๆอย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่มีการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนได้อย่างทั่วถึง ทำให้แนวคิดในการต่อสู้กับการระบาดของ "โควิด-19" เปลี่ยนจากความพยายามในการกำจัดเชื้อให้หมดไปจากโลกโดยอาศัยภูมิคุ้มกันหมู่กลายมาเป็นการปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกับ "โควิด-19" แทน

สหราชอาณาจักรเป็นประเทศแรกที่ประกาศยกเลิกมาตรการภาครัฐในการป้องกันการระบาดของ "โควิด-19" ทั้งๆที่กำลังเผชิญหน้ากับการระบาดของ "โอไมครอน" เป็นอันดับต้นๆของโลก โดยนับแต่นี้ไปประชาชนไม่ต้องแสดง COVID pass และไม่ต้องสวมหน้ากากเมื่อเข้าไปในสถานที่ต่างๆ (ยกเว้นการใช้ขนส่งมวลชน) และในขณะนี้หลายประเทศในทวีปยุโรป เช่น เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก ฝรั่งเศส ต่างก็เริ่มทะยอยผ่อนคลายมาตรการป้องกันการระบาดของโควิดเช่นเดียวกัน

 


สำหรับประเทศไทย การเตรียมประกาศให้ "โควิด-19" เป็นโรคประจำถิ่นก็ถือเป็นการสนับสนุนแนวคิดการอยู่กับ "โควิด-19" อย่างปลอดภัยเช่นเดียวกัน เพียงแต่ค่อนข้างระมัดระวังและทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ยังไม่กล้าบุ่มบ่ามเหมือนหลายประเทศที่ออกตัวนำหน้าไปก่อนแล้ว ลองดูเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุขในการประกาศให้ "โควิด-19" เป็นโรคประจำถิ่นได้แก่

 

  1.  มีผู้ติดเชื้อใหม่ไม่เกิน 10,000 รายต่อวัน
  2.  อัตราการป่วยตายต่ำกว่า 0.1%
  3. การเข้ารับการรักษาในรพ.ต่ำกว่า 10%
  4.  อัตราครองเตียงผู้ป่วยอาการรุนแรงต่ำกว่า 25%
  5.  คนไทยที่มีความเสี่ยงได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มเกิน 80%


ก็ดูเป็นหลักเป็นการพอสมควร แต่กว่าจะครบตามเกณฑ์ดังกล่าวอาจต้องใช้เวลานานหลายเดือน และต้องรอให้ครบตามเกณฑ์ไประยะเวลาหนึ่งจึงจะเสนอเรื่องต่อศบค.เพื่อประกาศเป็นโรคประจำถิ่นและปรับลด/ยกเลิกมาตรการในการป้องกันการระบาดต่างๆ

 

ความเห็นส่วนตัวคือมาตรการบางอย่างน่าจะสามารถทะยอยยกเลิกได้โดยไม่จำเป็นต้องรอจนครบตามเกณฑ์ทุกข้อ เราลองมาช่วยกันคิดว่าจะเดินหน้าต่อไปอย่างไรดี

  1. บางคนสุดโต่งแนะนำให้หยุดฉีดวัคซีนไปเลย แล้วใช้ "โอไมครอน" เป็นวัคซีนเชื้อเป็นแทน ข้อสรุปปัจจุบันนี้น่าจะยังต้องฉีดวัคซีนต่อไปก่อน เพราะการติดเชื้อ "โอไมครอน" แม้จะรุนแรงน้อยลงแต่ก็ยังมีผู้ป่วยอาการหนักหรือเสียชีวิตพอสมควร โดยเฉพาะผู้ที่ไม่เคยฉีดวัคซีนมาก่อนและผู้ที่มีโรคเรื้อรัง
  2. บางคนเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรการควบคุมโรคโดยภาครัฐให้หมดเลย เพื่อให้ธุรกิจได้เดินหน้าไปโดยไม่ต้องมีการจำกัด ปล่อยให้ทุกคนเดินทางไปในทุกที่โดยไม่มีข้อแม้ ถ้าเลือกแบบนี้ก็ต้องยอมรับความเสี่ยงที่อาจจะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นมากจนอาจเป็นหลายแสนรายต่อวัน ซึ่งก็มีความเป็นได้ที่จะเกินศักยภาพในการดูแลรักษาของประเทศ และอาจส่งผลให้มีผู้ป่วยอาการหนักและเสียชีวิตเพิ่มขึ้น
  3. ภาคธุรกิจต่างเรียกร้องให้ภาครัฐเลิกปิดสถานประกอบการที่มีรายงานผู้ติดเชื้อเสียที เพราะส่งผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจทั้งในส่วนของสถานประกอบการเองและภาพรวมของประเทศ รวมทั้งภาคธุรกิจไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้โดยสะดวกถ้ามีการสะดุดโดยไม่มีเหตุอันควร ที่สำคัญคือไม่มีการชดเชยจากภาครัฐเนื่องจากการปิดกิจการดังกล่าวแม้แต่น้อย
  4. บางคนเสนอให้ยกเลิกการป้องกันการติดเชื้อส่วนบุคคลเหมือนสหราชอาณาจักรไปเลย ปล่อยให้ประชาชนได้ใช้ชีวิตกันอย่างอิสระเต็มที่ ซึ่งก็มีความเป็นไปได้เช่นเดียวกันที่จะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก
  5. หลายคนเสนอให้ยกเลิกการนับจำนวนผู้ติดเชื้อโดยเฉพาะอย่างยิ่งรายที่ไม่มีอาการหรือไม่ต้องเข้ารักษาตัวในรพ. นับเฉพาะที่มีอาการรุนแรงหรือทำให้เสียชีวิตก็พอ
  6. ยกเลิกการตรวจเชิงรุกในคนที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย ให้ตรวจเฉพาะผู้ที่มีอาการรุนแรงเท่านั้น
  7. ยกเลิกการตรวจยืนยันด้วย RT-PCR และให้ตรวจเฉพาะ ATK เท่านั้น
  8. ยกเลิกการรายงานสถานการณ์การระบาดประจำวัน ใครสนใจก็ติดตามเอาเองในเว็บไซต์หรือเฟสบุ๊คฯลฯ


ทุกคนมีสิทธิ์คิดและแสดงความเห็น ทุกเรื่องมีข้อดีข้อเสียและมีความเสี่ยง แต่เชื่อว่าสิ่งเหล่านี้อาจไม่ได้เกิดขึ้นทั้งหมดและคงไม่เกิดขึ้นพร้อมๆกันภายในวันเดียว แต่อย่างน้อยเราควรเริ่มคิดและวางแผนดำเนินการตามความเร่งด่วนและตามความเหมาะสม ทางสายกลางคือการ ทะยอยยกเลิกมาตรการต่างๆที่มากเกินความจำเป็น จนเหลือเพียง 2 มาตรการหลักที่สำคัญที่สุดคือการเร่งฉีดวัคซีนให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยงและการป้องกันการติดเชื้อส่วนบุคคล หากสถานการณ์ยังดีขึ้นต่อไปจึงค่อยยกเลิกมาตรการทั้งหมดในที่สุด

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ