รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ หมอจุฬาฯ ชี้ สถานการณ์ "โควิด" น่าเป็นห่วง หลังเกิด "คลัสเตอร์สถานพยาบาล" ในกรุงเทพมหานคร บุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อกว่า 30 ราย
วันนี้ 27 ม.ค.65 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat โดยระบุถึงสถานการณ์การระบาดของ "โควิด-19" ในกรุงเทพมหานคร ประเด็น "คลัสเตอร์สถานพยาบาล" บุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อกว่า 30 ราย โดยโพสต์ทั้งหมดระบุดังนี้
ดูข้อมูลแล้วน่าเป็นห่วง ล่าสุดกทม.มีติดเชื้อ "โควิด-19" ใหม่ 30 คน เกิด "คลัสเตอร์สถานพยาบาล" บุคลากรทางการแพทย์ ภาพรวมทั่วประเทศ มีติดเป็นกลุ่มก้อนทั้งในโรงงาน โรงเรียน (ชั้นประถมต้นไปถึงมัธยมปลาย) ตลาด ห้าง สถานบันเทิง เรือนจำ ค่ายทหาร รวมถึงงานและพิธีต่างๆ ทั้งงานแต่งงาน และงานศพ
และแน่นอนคือ จังหวัดที่รับนักท่องเที่ยวต่างๆดังนั้นขอให้ป้องกันตัวอย่างเป็นกิจวัตรนะครับ เลี่ยงในสิ่งที่ควรเลี่ยง ทำในสิ่งที่ควรทำ
สำหรับ "โควิด-19" ไทยเรา ดูธรรมชาติการระบาดของทั่วโลก ต้องยอมรับว่าทวีปเอเชียนั้นเริ่มต้นการระบาดช้ากว่าทวีปอื่นๆ และกำลังอยู่ในขาขึ้น และพึ่งเกิด "คลัสเตอร์สถานพยาบาล" ในกทม. ยังไม่ได้พีคแล้วลงแบบทวีปอื่น
ด้วยสภาพแวดล้อมในปัจจุบัน ที่มีการหลั่งไหลของนักท่องเที่ยวและคนที่เดินทางจากต่างประเทศเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ย่อมมีโอกาสที่ไวรัสสายพันธุ์ต่างๆ ที่มีนั้นจะเล็ดรอดเข้ามาได้ ดังที่เห็นล่าสุดคือ BA.2 ตีความตามเนื้อผ้า ทั้งในเรื่องเงื่อนเวลาการระบาด และสภาพแวดล้อมเชิงนโยบาย ณ จุดนี้ น่าจะยังไม่ใช่พีคของเรา
การป้องกันตัวอย่างเคร่งครัด เป็นกิจวัตร เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง ใส่หน้ากากเสมอ สองชั้น ชั้นในเป็นหน้ากากอนามัย ชั้นนอกเป็นหน้ากากผ้า พบคนน้อยลง เท่าที่จำเป็น ใช้เวลาสั้นๆ อยู่กันห่างๆ เลี่ยงการกินดื่มร่วมกัน ไม่แชร์ของกินของใช้
เตรียมตัว เตรียมพร้อมเสมอ ข้าวของเครื่องใช้จำเป็น หยูกยาสามัญประจำบ้าน รวมถึงห้องหับและชุดตรวจ ATK เผื่อสมาชิกในครอบครัวไม่สบายจะได้ควักแผนที่เตรียมไว้มาใช้ได้ทันที การดำรงชีวิตประจำวันในอนาคตถัดจากนี้ สวมหน้ากาก ลดความแออัด รักษาระยะห่าง และเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง จะเป็นเรื่องที่ควรทำเพื่อประคับประคองให้สุขภาพไปพร้อมกับการทำมาหาเลี้ยงชีพ
รักตัวเองมากๆ ตระหนักถึง "Long COVID" ไว้เสมอ เพราะโควิดไม่ใช่หวัดธรรมดา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง