หมอขวัญชัย ชี้ "โอไมครอน" คนติดมากขึ้น แต่อัตราการเสียชีวิตต่ำลง
ศ.นพ.ขวัญชัย ศุภรัตน์ ภิญโญ เปิดผลวิจัย ชี้ "โอไมครอน" คนติดมากขึ้น แต่อัตราการเสียชีวิตต่ำลง เป็นผลพวงหลักจากการระดมฉีดวัคซีนให้กับประชาชนอย่างรวดเร็ว
ศ.นพ.ขวัญชัย ศุภรัตน์ ภิญโญ เปิดผลวิจัย ชี้ "โอไมครอน" คนติดมากขึ้น แต่อัตราการเสียชีวิตต่ำลง เป็นผลพวงหลักจากการระดมฉีดวัคซีนให้กับประชาชนอย่างรวดเร็ว
เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2565 ศ.นพ.ขวัญชัย ศุภรัตน์ ภิญโญ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โพสต์เฟซบุ๊ก Khuanchai Supparatpinyo ประเด็น สถานการณ์ ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ "โอไมครอน" โดยเนื้อหาทั้งหมดมีดังนี้
กรุงเทพฯถูก "โอไมครอน" โจมตีจนแตกแล้วจริงหรือ?
หลายคนที่ติดตามข่าวคราวการระบาดของโควิด-19 คงตกใจไม่น้อยที่ได้อ่านข่าวที่มีผู้ออกมาระบุว่าตอนนี้โอมิครอนบุกตีเมืองหลวงของเราแตกเสียแล้ว พร้อมบอกว่าตอนนี้คนไทยติดเชื้อ "โอไมครอน" วันละเกิน 1 แสนราย ไม่ใช่ 8,000 รายตามรายงานทางการของศบค. และในกทม.มีคนติดเชื้อวันละกว่า 6,000 ราย ไม่ใช่ 1,000 รายตามที่กทม.รายงาน
ถามว่าที่จริงมีคนติดเชื้อ "โอไมครอน" เท่าไรแน่คิดว่าคงไม่มีใครรู้ แต่ที่แน่กว่าแช่แป้งคือรายงานตัวเลขที่เป็นทางการของศบค. กทม. หรือจังหวัดอื่นๆ ต่ำกว่าความเป็นจริงใครๆก็รู้ เพราะเล่นรายงานเฉพาะผู้ติดเชื้อที่มีผล PCR เป็นบวกเท่านั้น ส่วนรายที่ ATK เป็นบวกแม้จะถือว่าติดเชื้อและให้รับการรักษาตามแนวทางของประเทศได้โดยไม่ต้องตรวจยืนยันด้วย PCR แต่ก็ไม่ยอมเอาเข้าไปรวมกับตัวเลขผู้ติดเชื้อซะงั้น
ดังนั้นแค่ดูจากจำนวนผู้ที่ ATK+ ซึ่งศบค.แค่รายงานให้ทราบเฉยๆ ก็พอจะเชื่อขนมกินได้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อจริงคงสูงกว่านี้ แต่จะสูงกว่าเป็นกี่เท่าอาจจะบอกยากเพราะแม้จะเชื่อได้ว่ามีผู้ติดเชื้ออีกไม่น้อยที่ไม่แสดงอาการและไม่ได้ตรวจ ATK หรือ PCR แต่จะมีมากน้อยเท่าไรคงยากที่จะบอกเป็นตัวเลขที่แน่นอนได้
นอกจากต้องพิสูจน์โดยการสำรวจความชุกของการมีภูมิคุ้มกันต่อโควิดในผู้ที่ไม่เคยฉีดวัคซีนและไม่เคยติดเชื้อมาก่อนว่ามีมากน้อยเท่าไร จึงจะสามารถคำนวณโดยทางสถิติได้ว่าที่จริงแล้วมีผู้ติดเชื้อ "โอไมครอน" ที่ไม่มีอาการมากน้อยเท่าไร
อย่างไรก็ตาม ถ้าเราเชื่อว่าเมื่อพบผู้ติดเชื้อ "โอไมครอน" 1 คน อาจจะมีคนรอบข้างติดเชื้อไปแล้วประมาณ 8 คน (ตัวเลขสมมุติที่อาจไม่เป็นจริง ขึ้นกับความเข้มงวดของการป้องกันการติดเชื้อส่วนบุคคล) ก็มีความเป็นไปได้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันในกทม.อาจเกิน 6,000 รายจริง แต่อย่างที่เคยเขียนไว้หลายตอนว่าถ้าเราดูแต่ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันอย่างเดียวก็ไม่แปลกที่จะตื่นตกใจ ควรดูข้อมูลอื่นประกอบด้วยเพื่อที่จะไม่สร้างความแตกตื่นแก่สังคมจนเกินควร
ลองดูข้อมูลทางการ (เฉพาะ PCR+) กันก่อน จะเห็นว่ากทม.เจอศึกหนักจากการระบาดของเดลต้าจริงในช่วงเดือน มิ.ย. ถึง ก.ย. แต่หลังจากนั้นก็สามารถควบคุมสถานการณ์ได้เป็นอย่างดี ข้อมูลก่อนสิ้นปี 2564 จากผู้ติดเชื้อสูงสุดกว่า 4,600 รายต่อวันลงมา 10 เท่าคือ 400 รายต่อวัน จากผู้เสียชีวิต 90 รายต่อวันลงมา 45 เท่าคือ 2 รายต่อวัน และอัตราการตายจาก 2.22% ลงมา 4 เท่าคือ 0.51%
แต่จะเห็นว่านับจากเทศกาลปีใหม่เป็นต้นมาจำนวนผู้ติดเชื้อ "โอไมครอน" รายวันเริ่มสูงขึ้นเรื่อยๆจนเกิน 2.5 เท่าของช่วงก่อนสิ้นปีคือมากกว่า 1,000 รายในปัจจุบัน แต่ก็ยังถือว่าต่ำกว่าช่วงที่มีการระบาดของเดลต้ามาก
ทั้งๆที่ในช่วงดังกล่าวก็รายงานเฉพาะผู้ติดเชื้อที่มี PCR+ เท่านั้นเช่นเดียวกัน ที่เห็นได้ชัดเจนคือจำนวนผู้เสียชีวิตรายวันกลับไม่เพิ่มขึ้นคือยังคงเป็น 2 รายต่อวันเช่นเดิม (เชื่อว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตนี้ไม่สามารถปกปิดได้) จึงทำให้อัตราการเสียชีวิตต่ำลงอีกจนเหลือ 0.23% เท่านั้นเอง
คราวนี้ถ้าเราลองเอาตัวเลขผู้ติดเชื้อ 6,000 รายต่อวันมาคิด จะเห็นว่าอัตราการเสียชีวิตยิ่งต่ำลงมากคือเหลือเพียง 0.03% เท่านั้นเอง ดังนั้นการติดตามข่าวสารจึงต้องมีสติเป็นอย่างยิ่ง อย่าปล่อยให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันทำให้ตื่นตระหนก
แม้จำนวนผู้ติดเชื้อ "โอไมครอน" ในกทม.จะเพิ่มขึ้น แต่จำนวนผู้เสียชีวิตและอัตราการเสียชีวิตกลับต่ำลง เชื่อว่าเป็นผลพวงหลักจากการระดมฉีดวัคซีนให้กับประชาชนอย่างรวดเร็ว ซึ่งปัจจุบันชาวกทม.ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มเกิน 100% และได้รับเข็มกระตุ้นแล้วเกือบ 40%