โควิด-19

ศิริราช ชี้ โควิดทั่วโลกขาขึ้นจาก "โอมิครอน" ฉีดวัคซีน 2 เข็มอาจไม่พอ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล แถลงสถานการณ์โรคโควิด "สายพันธุ์โอมิครอน" ว่า ตลอด 2 เดือนที่มีการระบาดขณะนี้ภาพรวมแต่ละภูมิภาคของโลกยังอยู่ในช่วงขาขึ้นจากโอมิครอน โดยเฉพาะยุโรปและสหรัฐอเมริกา ทำให้ "เดลต้า" กลายเป็นส่วนน้อย

แม้ขณะนี้มีเพียงทวีปแอฟริกาที่ดูเหมือนผ่านจุดสูงสุดของสถาการณ์โอมิครอนไปแล้ว จึงอยู่ในช่วงขาลง แต่ในทวีปอื่นการติดเชื้อของ "สายพันธุ์โอมิครอน" ถือว่าสูงกว่าระลอกที่ผ่าน ๆ มา อย่างเดลต้าติดเชื้อรายวันหลักแสนและแตะเกือบ 1 ล้าน ส่วนโอมิครอนเพิ่มวันละ 2-3 ล้านคน แสดงว่าแพร่กระจายเยอะ ส่วนอัตราเสียชีวิตโอมิครอนไม่รุนแรงเท่าเดลต้า ช่วงของเดลต้าพบประมาณ 5-9 พันคนต่อวัน บางช่วงแตะถึงหมื่นคนต่อวัน พอเป็นโอมิครอนเสียชีวิตประมาณ 4-8 พันคนต่อวัน แม้ใกล้เคียงกัน

ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา

แต่ถ้าเทียบสัดส่วนของจำนวนการติดเชื้อ ก็ถือว่าอัตราส่วนลดลง ไม่ได้พุ่งตามลักษณะการติดเชื้อ ซึ่งขณะนี้ทั่วโลกฉีดวัคซีนไปแล้ว 9.9 พันล้านโดส จากประชากรราว 8 พันล้านคน ฉีดวันละ 36 ล้านโดส เปอร์เซ็นต์เสียชีวิตจึงลดลงชัดเจน

 

สำหรับประเทศไทย เป็นส่วนลงของเดลต้าจากที่เคยติดเชื้อไปถึง 2 หมื่นกว่าคนต่อวัน แต่พอลงมาดีมากแล้วก็เจอโอมิครอนเข้ามา ตอนนี้ตัวเลขติดเชื้อเกือบเป็นเส้นตรง เพราะติดเชื้อ 7-8 พันคนต่อวันมาตลอดเป็นสัปดาห์ อัตราเสียชีวิตหลักสิบ แต่ไม่ถึง 20 ราย หวังว่าตัวเลขจะค่อย ๆ ลงไป ส่วนวัคซีนฉีด 111 ล้านโดส จากประชากร 70 ล้านคน ถือว่าประเทศไทยไม่ได้ด้อยกว่าคนอื่นในภาพรวมของการบริหารจัดการโควิด

"โอมิครอน" แพร่เร็วกว่าเดลต้า แต่รุนแรงน้อยกว่า

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า จากข้อมูลจริงของโอมิครอน ที่ระบาดมา 2 เดือน ยืนยันว่าแพร่เร็วกว่าเดลต้า สาเหตุเพราะคุณสมบัติของตัวไวรัสทำให้แพร่เร็วขึ้น เพราะแม้ปริมาณเชื้อไม่เยอะแต่ก็แพร่ได้เร็ว ส่วนอาการรุนแรงน้อยกว่าเดลต้า แต่ไม่ได้แปลว่าไม่รุนแรง โดยมีอัตรานอน รพ.น้อยกว่าเดลต้า 1 ใน 3 หรือ 1 ใน 2

 

ดังนั้น ความจำเป็นในการรักษา ไทยจึงเน้นไม่มีอาการให้กักตัวอยู่บ้าน ไม่จำเป็นต้องในอยู่ใน รพ. ส่วนที่ทำให้รุนแรงน้อยเพราะจากการศึกษาในสัตว์ทดลอง พบว่าเชื้อมักอยู่ทางเดินหายใจส่วนบน ไม่ค่อยลงไปส่วนล่าง ทำให้ไม่รุนแรง และเมื่ออยู่ทางเดินหายใจส่วนบน ทำให้ไอจามบ่อย จึงกระจายเชื้อง่าย

 

"เราไม่สามารถแยกสายพันธุ์จากอาการได้แต่โอมิครอนส่วนใหญ่ที่เราจะเจอ คือ น้ำมูกไหล ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว จามบ่อย เจ็บคอ ส่วนการไม่ได้กลิ่นไม่รับรสพบไม่มากเท่าเดลต้า" ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าว

 

 

"โอมิครอน" ใกล้ชนะศึกเดลต้าปลาย ม.ค.นี้

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ตอนนี้โอมิครอนใกล้ชนะศึกเดลต้า คาดว่าภายในปลายเดือนนี้หรือต้นเดือนหน้าก็น่าจะเป็นโอมิครอนเกือบทั้งประเทศไทย ดังนั้น การดูอาการอาจไม่สำคัญมาก ส่วนการอยากเอาชนะโอมิครอน ซึ่งโควิดสอนโลกถ้าไม่ร่วมมือกัน อย่างประเทศที่มีฐานะไม่ช่วยประเทศที่ยากจนกว่า ก็ไม่มีทางชนะ ต้องช่วยกัน ถึงลดความรุนแรงได้ ต้องรีบให้วัคซีนคนในโลกให้ครบ ไม่ใช่เฉพาะประเทศเศรษฐกิจดี ดังนั้น ประเทศไทยจึงให้วัคซีนลงไปในทุกคน และจะดีที่สุดถ้าทั้งโลกภูมิคุ้มกันดีขึ้น

 

ฉีดวัคซีนลดภาวะลองโควิด

ส่วนภาวะลองโควิดมีกว่า 50 อาการ นิยามอาจไม่เหมือนกัน แต่การฉีดวัคซีนครบจะลดโอกาสเกิดครึ่งหนึ่ง ส่วนยารักษาส่วนใหญ่จัดการเดลต้าและโอมิครอนได้ดี สำหรับการที่โอมิครอนกระจายเร็วไปแทนที่เดลต้า แต่รุนแรงน้อยกว่า บ่งบอกว่ามีโอกาสสูงเข้าช่วงท้าย ๆ ของการแพร่ระบาด "โควิด19"  หากโอมิครอนกระจายทั่วโลก และคนติดเชื้อไม่ได้เสียชีวิต คนก็จะมีภูมิเยอะขึ้นจากการฉีดวัคซีนและติดเชื้อ

 

อย่างไรก็ตาม อย่าคิดว่า "โอมิครอน" ไม่รุนแรงแล้วคิดจะไปติดเชื้อโดยไม่ต้องฉีด อย่าคิดอย่าทำเด็ดขาด เรายังบอกไม่ได้ว่าได้เชื้อเข้าไปจะรอดหรือไม่รอด โอกาสรุนแรงก็มี และอาจเอาเชื้อไปให้ผู้ใหญ่ที่บ้านที่ไม่แข็งแรง หากเกิดอะไรขึ้นอาจจะเสียใจ การเพิ่มภูมิที่ดีที่สุดคือฉีดวัคซีน

 

ฉีดครบโดสไม่พอสู้ "โอมิครอน" เข็ม 4 ยังต้องติดตาม

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า สำหรับการฉีดวัคซีนครบโดส มีการพูดว่าอาจไม่ใช่การฉีด 2 เข็ม แต่เป็นการฉีดเพื่อให้มีภูมิคุ้มกันเพียงพอ ซึ่งเดลตาฉีดสองเข็มรับมือได้ แต่โอมิครอนฉีดสองเข็มเป็นพื้นฐานไม่เพียงพอแล้ว เนื่องจากโอมิครอนหลบภูมิคุ้มกันทั้งจากวัคซีนและการติดเชื้อได้ดีกว่า อย่างอิมพีเรียลคอลเลจ ศึกษาอังกฤษใช้แอสตร้าฯ และไฟเซอร์เป็นหลัก ฉีด 2 เข็มกับโอมิครอนได้ผล 0-20% น้อยมากในการป้องกันการติดเชื้อ

 

แต่พอฉีดเข็มสามค่อนข้างดี คือ ขึ้นไปที่ 55-80% จึงจำเป็นต้องฉีดกระตุ้น ระยะห่างจากเข็มสอง 3 เดือน ซึ่งมาจากงานวิจัย แต่ยังไม่มีหลักฐานใดว่าต้องจะฉีดต่อไปทุก 3-6 เดือน ยังไม่ต้องคิดแบบนั้นว่าต้องมาฉีดเข็ม 4 เข็ม 5 ยังต้องติดตามต่อไป เว้นบุคลากรที่เสี่ยงมากจริงๆ ต้องฉีดเข็มสี่

 

20 ปี เจอระบาดใหญ่ 5 ครั้ง มีโอกาสเจออีก

ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา เราเจอการระบาดใหญ่ (Pandemic) มา 5 รอบ คือ ปี 2002 เจอซาร์ส ปี 2009 หวัดหมู ปี 2012 เมอร์ส ปี 2015 เจอซิกา และปี 2019 เจอโควิด โลกยังมีโอกาสเจอการแพร่ระบาดเช่นนี้อีก เพราะสุขภาพคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อมแยกจากกันไม่ได้ อย่างใดอย่างหนึ่งแย่ก็กระทบกันหมด อย่างโลกร้อนขึ้น ก็มีโอกาสเจอเชื้อใหม่ ๆ ดังนั้น การใช้ชีวิตเราไม่ได้กลับมาปกติเหมือนก่อนแพร่ระบาด แต่เป็นปกติรูปแบบใหม่ คือ ใช้ชีวิตที่พร้อมถ้าจะเกิดการแพร่ระบาดของโรคใหม่ 

 

"อย่างก่อนโควิดมาเราทำงานที่ทำงาน ตอนนี้หลายบริษัททั้งในและต่างประเทศให้ทำงานที่บ้าน อาศัยเทคโนโลยีซึ่งประสิทธิภาพก็ไม่ลด แต่ลดเสี่ยง ลดมลภาวะจากการใช้รถบนถนน ลดค่าใช้จ่ายในออฟฟิศ วิถีชีวิตใหม่คุณภาพต้องไม่ด้อยกว่าเดิม โดยเฉพาะการสร้างเสริมสุขภาวะตัวเราเอง อย่างเราล้างมือบ่อยขึ้นก็อย่าถอยกลับไปเหมือนเดิม เราปรับตัวมา 2 ปีกว่าก็รักษาสิ่งเหล่านี้ เมื่อแพร่ระบาดใหม่ก็ป้องกันตัวเองได้จากการมีสุขอนามัยที่ดีขึ้น ทำจนปกติรูปแบบใหม่ เจออะไรอยู่ร่วมกับมันได้ หรือนำเทคโนโลยีมาใช้ การรักษาก็ไม่ต้องไป รพ." 

ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าว

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ