โควิด-19

รับมือ "โควิด" ไม่ขี้เหร่ ดีกว่าหลายประเทศ เตือน "โอไมครอน" เปลี่ยนทุกอย่าง

รับมือ "โควิด" ไม่ขี้เหร่ ดีกว่าหลายประเทศ เตือน "โอไมครอน" เปลี่ยนทุกอย่าง

21 ม.ค. 2565

หมอศิริราช โพสต์ นโยบายรัฐรับมือ "โควิด" ดีกว่าหลายประเทศ เตือน โควิดเปลี่ยนแปลงทุกอย่างในโลก อย่าประมาทการเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ

รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "นิธิพัฒน์ เจียรกุล" ถึงนโยบายผ่อนคลายมาตรการ "โควิด" ของรัฐบาล และการรับมือไวรัส  ระบุว่าตัวเลขผู้ป่วยวันนี้เพิ่มขึ้นไปเล็กน้อย โดยในกทม.-สมุทรปราการ-นนทบุรี-ปทุมธานี รวมกันแล้วราวหนึ่งในสามของตัวเลขทั้งประเทศ หวังว่าจะไม่กลับไปเกินครึ่งหนึ่งของประเทศเมื่อครั้งเดลตายังเป็นเสาหลัก มาตรการผ่อนคลายเพิ่มขึ้นที่ฝ่ายนโนบายแถลงตามมาในวันนี้ มีทั้งฝ่ายที่ร้องเย้และฝ่ายที่ร้องยี้ คงไม่มีทางทำให้ทุกฝ่ายถูกใจได้ เพียงแต่ทำอย่างไรให้คนส่วนใหญ่ได้รับประโยชน์มากที่สุด สำหรับพวกที่หวังผลเขย่าเก้าอี้ลุง คงต้องรอและหมั่นขย่มกันต่อไป เพราะในสายตากรรมการแล้วการรับมือ "โควิด-19" ของฝ่ายนโยบายไม่ถึงกับขี้เหร่ ออกจะดีกว่าหลายประเทศเสียด้วยซ้ำ

อย่าคิดว่าประเทศที่เรียกตัวเองว่าประชาธิปไตยจ๋า จะบริหารจัดการสถานการณ์ได้ดีไปทั้งหมด ดูประเทศอังกฤษเป็นตัวอย่าง แม้จะได้ชื่อว่าเป็นต้นแบบของสายธารประชาธิปไตยโลก แต่การจัดการกับ "โควิด-19" ดูค่อนข้างโหลยโท่ย จนภาคการแพทย์ต้องออกมาเตือนรัฐบาลครั้งใหญ่หลังจาก "โอไมครอน" ระบาดได้ไม่นาน แต่รัฐบาลกลับทำเมินเฉยพร้อมสำทับว่า จะจับตาสถานการณ์ใกล้ชิดต่อไปแบบชั่วโมงต่อชั่วโมง แล้วทุกอย่างก็เหมือนลอยไปในสายลม ล่าสุดได้มีการส่งคำเตือนไปอีกครั้งว่า หากยังเพิกเฉยจะมีผู้ป่วย "โควิด-19" ที่ต้องเข้าโรงพยาบาลวันละ 3,000-10,000 คน และเสียชีวิต 600-6,000 คน

การแพร่ของ "โอไมครอน" เกิดขึ้นรวดเร็วมาก หากไม่รีบตัดสินใจคุมเข้มเกรงว่าจะกลับตัวไม่ทันเมื่อภัยร้ายใกล้เข้ามา แต่ก็ยังไม่เห็นทีท่าใส่ใจจากฝ่ายรัฐบาล จนผู้นำฝ่ายแพทย์คนหนึ่งต้องออกมากล่าวเตือนเชิงประชดว่า เสียดายที่แพทย์และนักวิทยาศาสตร์อังกฤษได้เป็นผู้นำโลกในการเรียนรู้เกี่ยวกับ "โควิด" มามากมายตลอดสองปี กลับไม่สามารถชักจูงให้รัฐบาลของตัวเองเห็นคล้อยตามได้ บ้านเราลุ่มๆ ดอนๆ กับนโยบายควบคุม "โควิด-19" ของฝ่ายนโยบายกันมาจนปัจจุบันชักเข้าขากันดี ในยามที่ภาคการแพทย์ผนึกกำลังเรียกร้อง ทุกครั้งก็จะได้รับการสนองตอบที่ดี แม้อาจจะไม่ถูกใจของทุกฝักฝ่ายในภาคการแพทย์ไปได้เสียทั้งหมด

รับมือ \"โควิด\" ไม่ขี้เหร่ ดีกว่าหลายประเทศ เตือน \"โอไมครอน\" เปลี่ยนทุกอย่าง

วันนี้มีอุทาหรณ์เรื่องเล่าจาก "โควิด-19"  ชายวัย 60+ปี เดิมแข็งแรงดี ยกเว้นเข้ารับการผ่าตัดหัวไหล่ขวาหลุดซ้ำซากเมื่อ 30 ปีก่อน ไม่สูบบุหรี่แถมเกลียดเข้ากระดูกดำทั้งบุหรี่มวนและบุหรี่ไฟฟ้า ทำงานรักษาผู้ป่วยโรคปอดมาเกือบ 40 ปี มีผู้ป่วยวัณโรคให้เขารักษาแล้วน่าจะถึงหมื่นราย แต่ไม่เคยพลาดพลั้งป่วยด้วยวัณโรคหรือโรคปอดอื่น ช่วงสองปีหลังนี้เน้นหนักไปด้านการดูแลรักษาผู้ป่วยปอดอักเสบ "โควิด-19" รุนแรง น่าจะถึงหลักพันแล้วมั้ง ที่ลงมือดูเองจริงจังไม่เยอะ ที่เหลือชี้นิ้วบงการเพราะไม่มีใครกล้าหือ แถมยังชอบเดินทางไปตามโรงพยาบาลอื่นเพื่อมอบอาวุธสู้ "โควิด-19"


ผลการตรวจสุขภาพประจำปีนี้ พบว่าน้ำหนักตัวขึ้นมาสามกิโล รอบพุงเพิ่มขึ้นสองเซนติเมตร การตรวจร่างกายส่วนอื่นยังฟิตปั๋งดีอยู่ ผลเอกซเรย์ปอดยังอยู่ครบถ้วนดีดังรูป แต่ผลตรวจชีวเคมีในเลือดในรูปเช่นกัน แม้ทุกอย่างจะคงที่ดี แต่ระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์เป็นตัวแดง สอดคล้องกับพฤติกรรมสุขภาพที่ช่วงหลังบริโภคพิซซ่ากับโค้กบ่อยขึ้น แถมค่าเอชดีแอลลดลงฮวบฮาบเมื่อเทียบกับปีก่อนๆ คงเพราะการออกกำลังกายถดถอยจากข้ออ้างว่าไม่มีเวลา

นี่เป็นเครื่องเตือนใจอย่างดีว่า "โควิด-19" สามารถเปลี่ยนได้ทุกสิ่งอย่างในโลกนี้ เปลี่ยนรัฐบาลหรือเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีหรือเปลี่ยนรัฐมนตรีสาธารณสุขของหลายประเทศ เปลี่ยนขั้วการเมืองไปก็หลายประเทศ เปลี่ยนขั้วหรือทำให้เกิดขั้วในฝ่ายแพทย์ก็มีให้เห็นถมไป ที่สำคัญจากเรื่องเล่าวันนี้ คือเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ โดยเฉพาะของบุคคลที่พร่ำสอนผู้ป่วยในความดูแล ให้ใส่ใจปกป้องสุขภาพไว้ให้ดีอย่าให้ใครหรืออะไรมาบ่อนเซาะได้โดยง่าย
 
#เดินหน้าต่อไปไม่หวั่นไหวโควิด