โควิด-19

เช็ค 5 อาการ ผู้สูงอายุติด "โอไมครอน" แบบไหนเข้าข่ายต้องระวัง เสี่ยงตายสูง

เช็ค 5 อาการ ผู้สูงอายุติด "โอไมครอน" แบบไหนเข้าข่ายต้องระวัง เสี่ยงตายสูง

17 ม.ค. 2565

หลังจากพบผู้สูงอายุเสียชีวิตด้วย "โอไมครอน" 2 ราย ในประเทศไทย ลองเช็ค 5 อาการ ที่เมื่อเป็นแล้ว แบบไหนที่เข้าข่ายต้องระวัง เพราะเสี่ยงเสียชีวิตสูง

หลังจากพบผู้เสียชีวิตด้วยโควิด-19 สายพันธุ์ "โอไมครอน" 2 รายแรกของประเทศไทย ซึ่งทั้งสองราย เป็นผู้สูงอายุ และอยู่ในกลุ่มเสี่ยง ที่จะป่วยหนัก และเสียชีวิตจากโควิด-19 แม้จำนวนการติดเชื้อโควิด-19 จะน้อยกว่ากลุ่มในช่วงวัยอื่น แต่ทว่าอัตราการเสียชีวิตจากโควิด-19 ของกลุ่มผู้สูงวัย กลับมีจำนวนมากกว่ากลุ่มอื่น โดยมีสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของผู้เสียชีวิตทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงวัยที่เป็นผู้ป่วยติดเตียง ที่ถูก "ลูก-หลาน" ในวัยทำงาน นำเชื้อจากนอกเข้ามาภายในบ้าน "คมชัดลึกออนไลน์" ได้รวบรวมข้อมูล อาการ และปัจจัยเสี่ยง เพื่อเป็นสัญญาณแจ้งเตือน ให้คอยเฝ้าระวังผู้สูงอายุที่อยู่ที่บ้าน

 

 

เช็ค 5 อาการ ผู้สูงอายุติด \"โอไมครอน\" แบบไหนเข้าข่ายต้องระวัง เสี่ยงตายสูง

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุทา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้ข้อมูล โดยอ้างอิงจากรายงานในวารสาร Clinical Infectious Diseases ซึ่งเป็นการรวบรวมข้อมูลของผู้ป่วยโควิด-19 ในประเทศฝรั่งเศส พบว่า เป็นผู้สูงอายุจำนวน 353 ราย โดยที่มีอายุเฉลี่ย 84.7 ปี (บวกลบ 7 ปี) พบว่า 

 

  • อาการในระยะแรก จะมีความรู้สึกร้อน ๆ หนาว ๆ ทั้งนี้ อาจวัดไข้ได้ไม่สูงตลอด (83.6%)
  • ไอ (58.9%)
  • อ่อนเปลี้ยเพลียแรง ซึ่งอาจกิดขึ้นอย่างกระทันหัน (52.7%)
  • หายใจเร็วบางรายมากกว่า 30 ครั้งต่อนาที (39.9%)
  • ความแปรปรวนในระบบทางเดินอาหาร (24.4%)

 

ผู้ป่วยที่อายุมากกว่า 80 ปี อาจล้มและมีอาการหมดแรงทันทีเป็นอาการสำคัญ และในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติทางสมองอยู่ด้วย อาจมีอาการสับสน ทับซ้อนขึ้นมาได้ และมีความผิดปกติในการรับรู้ รู้สึกตัวร่วมด้วย

 

ทั้งนี้ ผู้ป่วยโควิด "โอไมครอน" 2 รายล่าสุดในประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้สูงอายุพบว่า เป็นผู้ป่วยติดเตียง และ มีโรคประจำตัว โดยอาการที่บ่งชัดก่อนเสียชีวิต คือ มีการหายใจเร็ว และแรง 

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า การวินิจฉัย และดูแลผู้ป่วยที่มีอายุมาก อาจจะยากกว่าผู้ป่วยอายุน้อยจึงควรต้องเฝ้าระวัง และดูแลผู้สูงอายุอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันการติดโรคโควิด-19 เนื่องจากเชื้อโควิด-19 ติดต่อได้ทางละอองฝอยของสารคัดหลั่ง เช่น น้ำมูก น้ำลาย ละอองจากการไอจามหรือการพูดคุยใกล้ชิด ในระยะ 1-1.5 เมตร และการสัมผัสสารคัดหลั่งที่อยู่ตามสิ่งของต่าง ๆ แล้วไปโดนเยื่อบุต่าง ๆ เช่น ตา จมูก ปาก ประกอบกับการแพร่เชื้อสามารถติดต่อจากผู้ที่ติดเชื้อที่ยังไม่แสดงอาการได้

 

หากมีการติดเชื้อในผู้ที่ร่างกายไม่แข็งแรงรวมถึง ผู้สูงอายุ จะมีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าคนทั่วไป เนื่องด้วยสภาพร่างกายที่ไม่แข็งแรง ภูมิคุ้มกันลดลงตามวัย โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคปอดเรื้อรังโรคไตเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง เป็นต้น