โควิด-19

"โอไมครอน" หมอเผย สาเหตุ-อาการ ทำผู้สูงอายุ ป่วยรุนแรง เสียชีวิต หากติดเชื้อ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

อย่าประมาท "โอไมครอน" หมอธีระวัฒน์ เผยสาเหตุ-อาการ ทำให้ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง-สูงอายุ เสียชีวิต เชื้อรุนแรงทำลายระบบภายในทั้งระบบ ไม่ต่างจากสายพันธุ์อื่น

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์กับ "คมชัดลึกออนไลน์"  ถึงกรณีที่หญิงวัย 86 ปี ซึ่งเป็นผู้ป่วยติดเตียงเสียชีวิต ซึ่งจัดได้ว่าเป็นผู้ติดเชื้อที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง กลุ่มเปราะบาง และเสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ "โอไมครอน" ว่า จากกรณีดังกล่าวแสดงให้เห็นชัดเจนว่า "โอไมครอน" มีความรุนแรง และหากติดเชื้อแล้ว จะส่งผลให้มีโอกาสเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ เพราะหากลองพิจารณาข้อมูลจากประเทศอังกฤษ หรือแม้แต่สหรัฐอเมริกา ส่วนใหญ่พบว่า ผู้ที่เสียชีวิตจากการติดเชื้อ "โอไมครอน" ส่วนใหญ่แล้วเป็นผู้สูงอายุทั้งสิ้น ดังนั้น กรณีที่จะบอกว่า "โอไมครอน" ติดเชื้อแล้วไม่รุนแรงนั้น ไม่สามารถใช้ได้ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว ผู้ป่วยสูงอายุ เนื่องจากผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีภูมิตอบสนองที่ช้ากว่าคนปกติทั่วไป 

สำหรับสาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง ได้รับเชื้อ "โอไมครอน" แล้วถึงแก่ชีวิตนั้น เกิดจากการกระจายตัวของไวรัสที่มีความยืดหยุ่นตลอดเวลา สามารถเคลื่อนตัวจากทางเดินหายใจส่วนบน ลงไปยังทางเดินหายใจส่วนล่าง และเข้าทำลายระบบภายใน ไม่ว่าจะเป็น ปอด หัวใจ ระบบเลือด สมอง เนื่องจากคนไข้ในกลุ่มนี้ มีภูมิคุ้มกันร่างกายที่บกพร่องอยู่แล้ว ดังนั้น การจะต่อต้านไวรัส ไม่ว่าจะเป็นภูมิคุ้มกันธรรมชาติ หรือภูมิคุ้มกันที่สร้างโดยวัคซีน จึงสามารถทำได้ช้ากว่าคนปกติทั่วไป วัยรุ่น หรือวัยทำงาน นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้กลุ่มเสี่ยง ผู้ป่วย ผู้สูงอายุ ที่ได้รับเชื้อ "โอไมครอน" เสียชีวิตได้ แม้ว่าข้อมูลจะระบุว่า "โอไมครอน" ไม่รุนแรงติดแล้วคล้ายอาการเป็นไข้หวัด แต่ไม่ใช่สำหรับกลุ่มโรคเสี่ยง 

 

ส่วน "อาการโอไมครอน" ในกลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียงนั้น มักจะแสดงออกมามากกว่าการไอ ในบางรายเกิดการล้มเหลวจากระบบทางเดินหายใจ มีภาวะเกี่ยวกับปอดร่วมด้วย หรือบางรายเกิดความรุนแรงทั้งระบบในร่างกาย 

ศ.นพ. ธีระวัฒน์ กล่าวต่อว่า หลายคนอาจมองว่า การติดเชื้อ "โอไมครอน" แล้วไม่รุนแรง แต่อย่าลืมว่าเราสามารถนำเชื้อไปติดต่อให้คนในบ้านได้ ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือ ต้องเร่งฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุด และเร็วที่สุด บนพื้นฐานการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดให้ปลอดภัยสำหรับทุกคน ซึ่งการฉีดวัคซีนเข้าผิวหนังเป็นแนวทางที่เหมาะสม และปลอดภัยมากกว่าการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ อีกทั้ง ยังมีประสิทธิภาพสามารถเพิ่มภูมิคุ้มกันได้มากเท่า ๆ กับการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ

 

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาพบว่า มีผู้เสียชีวิต ป่วยหนักจากการฉีดวัคซีนเข้ากล้ามเนื้อค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในผู้ที่มีโรคประจำตัว ผู้สูงอายุ รวมไปถึงคนทั่วไปที่อายุยังไม่มาก ดังนั้น การฉีดวัคซีนเข้าชั้นผิวหนัง จึงเป็นแนวทางสำคัญที่จะช่วยให้ทุกคนได้รับวัคซีนอย่างปลอดภัย

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ