โควิด-19

วิเคราะห์ "โอไมครอน" ระบาด ย้ำไม่ไก่กาแบบไข้หวัด แนะวิธีป้องกันตัวเอง

หมอขวัญชัยวิเคราะห์ "โอไมครอน" ระบาดแบบละเอียด แนะถึงจะไม่รุนแรงแต่ไม่ไก่กาแบบไข้หวัดแน่นอน พร้อม บอกวิธีอยู่กับโควิดอย่างไรให้ปลอดภัย

ศ.นพ.ขวัญชัย ศุภรัตน์ภิญโญ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โพสต์เพจเฟซบุ๊ก Khuanchai Supparatpinyo

การอยู่กับโควิดอย่างปลอดภัย (27)

โอมิครอนระบาดเหมือนกัน แต่ทำไมผลลัพธ์แตกต่างกัน?
วันนี้ลองวิเคราะห์สถานการณ์เกือบ 2 เดือนหลังการระบาดของโอมิครอนในหลายประเทศ เพื่อดูว่ามีผลลัพธ์ที่แตกต่างกันอย่างไร และมีสาเหตุจากอะไร

รูปที่ 1 แสดงจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันต่อประชากร 1 ล้านคน (เฉลี่ย 7 วัน) จะเห็นว่าโอมิครอนเริ่มระบาดในสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย และไทยตั้งแต่สัปดาห์ที่ 2-3 ของเดือนธ.ค. 64 เป็นต้นมา แต่อัตราการเพิ่มขึ้นมีความแตกต่างกันมากในแต่ละประเทศ โดยออสเตรเลียมีอัตราการระบาดสูงสุด รองลงมาเป็นสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกาตามลำดับ ส่วนประเทศไทยมีอัตราการระบาดต่ำที่สุด แต่พอจะสังเกตได้ว่าการระบาดมีแนวโน้มเริ่มทรงตัวในทั้ง 4 ประเทศ
 

วิเคราะห์ \"โอไมครอน\" ระบาด ย้ำไม่ไก่กาแบบไข้หวัด แนะวิธีป้องกันตัวเอง

รูปที่ 2 แสดงจำนวนผู้เสียชีวิตรายวันต่อประชากร 1 ล้านคน (เฉลี่ย 7 วัน) จะเห็นว่าในสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย มีจำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิดสูงขึ้นเรื่อยๆแม้จะเพิ่มขึ้นไม่มากนักเมื่อเทียบกับช่วงที่เดลต้าระบาด แต่ในประเทศไทยกลับมีจำนวนผู้เสียชีวิตค่อนข้างคงที่หรือลดลงเล็กน้อยด้วยซ้ำไป

วิเคราะห์ \"โอไมครอน\" ระบาด ย้ำไม่ไก่กาแบบไข้หวัด แนะวิธีป้องกันตัวเอง


รูปที่ 3 แสดงอัตราการได้รับวัคซีนของประชาชนใน 4 ประเทศ จะเห็นว่าได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มเกิน 60% แล้ว โดยออสเตรเลียสูงสุด ตามด้วยสหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และไทยตามลำดับ
น่าสนใจว่าใน 4 ประเทศนี้โอมิครอนระบาดในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนครบแล้วเหมือนกัน แต่ทำไมผลลัพธ์ออกมาแตกต่างกัน จากการวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญหลายสำนัก พอจะหาสาเหตุที่ทำให้เกิดความแตกต่างได้ดังนี้

 

วิเคราะห์ \"โอไมครอน\" ระบาด ย้ำไม่ไก่กาแบบไข้หวัด แนะวิธีป้องกันตัวเอง

ศ.นพ.ขวัญชัย ได้วิเคราะห์มาตรการ และแนวทางสำหรับให้ประชาชนรับมือของแต่ประเทศในการรับมือการระบาดของ "โอไมครอน" ดังนี้ 

1. อัตราการระบาดเป็นสัดส่วนผกผันกับความเข้มงวดของนโยบายในการควบคุมการระบาดของประเทศนั้นๆ รวมทั้งความร่วมมือร่วมใจของประชาชนในการป้องกันการติดเชื้อ
- ออสเตรเลียประกาศนโยบายปล่อยให้ประชาชนติดเชื้อโอมิครอนตามธรรมชาติ (permissive infection) เนื่องจากมั่นใจว่าประชาชนได้รับวัคซีนในสัดส่วนที่สูงมากและคิดว่าโอมิครอนมีความรุนแรงน้อยลง จึงไม่แปลกที่เห็นอัตราการระบาดที่สูงมาก และน่าจะสูงที่สุดในโลก
- สหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรผ่อนคลายมาตรการการควบคุมโรคมาซักระยะหนึ่งแล้วตั้งแต่ช่วงกลางปีที่เดลต้ากำลังระบาดไปทั่วโลก เนื่องจากมั่นใจว่าประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว ทำให้มีอัตราการระบาดค่อนข้างสูง
- ประเทศไทยมีอัตราการระบาดค่อนข้างต่ำ เนื่องจากใช้นโยบายการควบคุมโรคค่อนข้างเข้มงวดเนื่องจากเริ่มฉีดวัคซีนช้ากว่าประเทศอื่น แต่ก็เริ่มผ่อนคลายมาตรการบางส่วนเมื่อประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มในช่วงปลายปี 2564 ที่สำคัญที่สุดน่าจะเป็นเพราะความมีวินัยและความร่วมมือร่วมใจของคนไทยในการป้องกันการติดเชื้อที่เข้มงวดกว่า 3 ประเทศที่เหลือ


2. อัตราการเสียชีวิตเป็นสัดส่วนโดยตรงกับการระบาดของเดลต้าก่อนที่โอมิครอนจะเริ่มระบาด
- จากรูปที่ 1 จะเห็นว่าในสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรยังมีจำนวนผู้ติดเชื้อจากการระบาดของเดลต้าค่อนข้างสูง ทำให้ยังมีผู้ป่วยอาการหนักและผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก
- ประเทศไทยสามารถควบคุมการระบาดของเดลต้าได้ค่อนข้างดี ทำให้ผู้ป่วยอาการหนักเพิ่มขึ้นไม่มากนัก ส่วนออสเตรเลียแม้ว่าจะควบคุมการระบาดของเดลต้าได้ค่อนข้างดี แต่สาเหตุหลักที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นน่าจะเป็นจากปัจจัยในข้อ 1 และ 3


3. อัตราการเสียชีวิตเป็นสัดส่วนโดยตรงกับอัตราการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ติดเชื้อ แม้ว่าโอมิครอนอาจจะก่อโรคที่ไม่รุนแรงเท่าเดลต้า แต่ถ้าปล่อยให้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเกินไป ย่อมมีผู้ติดเชื้อจำนวนหนึ่งโดยเฉพาะผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนหรือที่เป็นกลุ่มเสี่ยงมีอาการหนัก ซึ่งถ้าเพิ่มขึ้นมากก็อาจจะเกินศักยภาพการดูแลรักษาผู้ป่วยของประเทศได้ ดังตัวอย่างในออสเตรเลีย ซึ่งในที่สุดก็ต้องเพิ่มมาตรการการควบคุมโรคเพื่อลดอัตราการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อ


4. อัตราการเสียชีวิตเป็นสัดส่วนโดยตรงกับจำนวนผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง (อายุมากหรือมีโรคเรื้อรัง) ซึ่งเห็นได้ชัดในสหรัฐอเมริกาที่มีผู้ที่ไม่ยอมฉีดวัคซีนเกือบ 40% ของประชากร หรือประมาณ 100 กว่าล้านคน จึงมีโอกาสที่คนเหล่านี้จะติดเชื้อ มีอาการหนัก และเสียชีวิตได้ แม้ว่าจะเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าโอมิครอนก่อโรคที่รุนแรงน้อยกว่าเดลต้า แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นโรคไก่กาเทียบเท่ากับไข้หวัดธรรมดาเหมือนที่หลายคนพยายามชักจูง โดยยังมีความสามารถที่จะก่อโรครุนแรงได้ในประเทศที่มีมาตรการการควบคุมโรคที่หละหลวมและมีประชากรที่ยังไม่ได้รับวัคซีนในอัตราสูง 
ในขณะที่พวกเราชาวไทยไม่ควรตื่นตระหนกและเกรงกลัวโอมิครอนจนเกินไป สิ่งที่ควรทำคงไม่ใช่การปล่อยเนื้อปล่อยตัวและออกไปรับเชื้อโอมิครอนอย่างเต็มที่ แต่ต้องร่วมมือร่วมใจกันไปฉีดวัคซีนให้มากและเร็วที่สุด รวมทั้งเคร่งครัดในมาตรการการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาลต่อไป ซึ่งจะช่วยให้ประเทศของเราสามารถควบคุมการระบาดของโควิดได้โดยไม่เกิดการสูญเสียมากเกินไป เชื่อว่าอีกไม่นานเกินรอโควิดจะถูกประกาศให้เป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งเมื่อถึงวันนั้นเราจะสามารถใช้ชีวิตอย่างอิสระมากขึ้นกว่าปัจจุบัน

ขวัญชัย ศุภรัตน์ภิญโญ
16 มกราคม 2565

ข่าวยอดนิยม