โควิด-19

"โอไมครอน" ถึงจุดพีคปลายเดือน ม.ค.และลดลงต่อเนื่อง พบเด็กป่วยวันละ 10%

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หมอนิธิพัฒน์ คาด "โอไมครอน" เพิ่มแบบไม่ฮวบฮาบจนสูงสุดปลายเดือน แล้วลดลงอย่างต่อเนื่อง เผยพบเด็กติดเชื้อ วันละ 10%

รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก นิธิพัฒน์ เจียรกุล เปิดเผยถึงการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ในหลายประเด็นทางวิชาการเกี่ยวกับการระบาดของ "โอไมครอน" ว่า
ประเด็นแรกที่ถูกถามมากวันนี้คือ ทำไมถึงว่าการรายงานยอดผู้ป่วยรายวันต่ำกว่าความเป็นจริง

เพราะไม่รวมรายตรวจ ATK ใครสนใจลองไปรวมตัวเลขรายงานแต่ละวันแล้วย้อนหลังไปวันก่อนๆ หน้า คงเห็นเช่นเดียวกับที่นำเสนอ ยิ่งในแวดวงแพทย์ด้วยกันแล้วจะรับทราบกันดีอยู่แต่ไม่อยากเอ่ยถึง ถ้าเรามีระบบรายงานที่ถูกต้องตามการวินิจฉัยทางการแพทย์ สถิติประเทศจะมีความแม่นยำและนำไปสู่การแก้ไขปัญหาตรงจุดและครอบคลุม ประชาชนจะมั่นใจและให้ความร่วมมือ ที่สำคัญถ้ารวมราย ATK เป็นบวกแล้วรักษาอยู่นอกโรงพยาบาลเข้ามาให้ครบด้วย ตัวเลขสัดส่วนผู้ป่วยอาการรุนแรงและผู้ป่วยเสียชีวิตก็จะต่ำกว่าที่รายงานกันอยู่ขณะนี้ด้วย

"โอไมครอน" ถึงจุดพีคปลายเดือน ม.ค.และลดลงต่อเนื่อง พบเด็กป่วยวันละ 10%

ประเด็นถัดมาเป็นการให้คาดเดาว่าระลอกห้าจะไปต่อแรงแค่ไหน

มีความเห็นว่ามี 3 ตัวแปรที่ยากคาดเดา
1 .การยกการ์ดสูงของประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศจะทำกันได้ดีต่อไปแค่ไหน

2. การควบคุมผู้แตกแถวรวมกลุ่มในกิจกรรมเสี่ยงทำได้เข้มแข็งเพียงไร ทั้งโดยประชาชนกันเองช่วยสอดส่องและภาครัฐที่คอยกวดขัน (ประการหลังดูน่าห่วงกว่า)
3.พฤติกรรมของ "โอไมครอน" ในบ้านเราจะเป็นอย่างไร ถ้าเจอกับคนฉีดวัคซีนกันมากแถมระวังตัวกันดีด้วย แต่ถ้าให้เดาคิดว่าคงจะค่อยๆ เพิ่มไม่ฮวบฮาบจนถึงจุดสูงสุดช่วงปลายเดือน จากนั้นจะลดลงต่อเนื่องเหมือนที่เกิดขึ้นในหลายประเทศซึ่งนำหน้าไปก่อน

ท้ายสุดเป็นเรื่องการระบาดของ "โอไมครอน" ในกลุ่มเด็ก

ในระลอกที่ผ่านมาช่วงเดลตาครองตลาด มีผู้ป่วยเด็กประมาณ 10-15% ของผู้ป่วยทั้งหมด เพราะช่วงนั้นยังมีการฉีดวัคซีนในผู้ใหญ่และเด็กกันน้อย บางส่วนมีอาการรุนแรงโดยเฉพาะรายที่เกิดการอักเสบในหลายอวัยวะ (multisystem inflammatory syndrome) ซึ่งพบในเด็กบ่อยกว่าผู้ใหญ่ ช่วงนี้แม้จะฉีดมากขึ้นในผู้ใหญ่แต่ภูมิเริ่มตก ส่วนเด็กก็ยังฉีดแค่ในช่วง 12-17 ปีเป็นหลัก รอบนี้จึงมีผู้ป่วยเด็กรายวันอย่างน้อย 10% ที่ทำงานอยู่เมื่อวานก็มี 5 จาก 30 ราย ทั้งหมดอาการไม่รุนแรง แต่ต้องระวังในเด็กอายุน้อยและที่มีโรคเรื้อรังเดิมที่ผู้ใหญ่นำโควิดกลับเข้าบ้านไปฝาก ยังดีว่าข้อมูลทั้งจากภายนอกและภายในประเทศ ขณะนี้ไม่พบอาการรุนแรงของ "โอไมครอน" ในเด็กต่างจากเดลตา


กินยาฟาวิพิราเวียร์แล้วตาขาวเป็นสีน้ำเงินอมม่วงจริงไหม ตอบว่าจริง เป็นผลจากตัวยาเองที่ให้ขนาดสูงมากในวันแรก จะมีสารเรืองแสงสีน้ำเงินจากการสลายตัวของยาไปติดอยู่ตามตาขาวและเล็บได้ ไม่ทำอันตรายต่อร่างกายและหายไปได้เองในสองสามวัน เคยพบกันมากช่วงการระบาดในทัณฑสถานเมื่อกลางปีก่อน

"เดลตาครอน" ที่รายงานจากไซปรัสน่ากลัวไหม

เท่าที่สืบค้นดู ทางภาคการแพทย์กำลังตรวจสอบจริงจังกับห้องปฏิบัติการที่รีบออกมารายงาน ว่าเป็นสายพันธุ์ลูกผสมอย่างว่าจริงไหม เพราะความเชื่อมโยงทางพันธุกรรมเป็นไปได้ยาก หรืออาจเป็นความคลาดเคลื่อนในการตรวจของห้องปฏิบัติการนั้นเอง

"Flurona" ที่รายงานเป็นครั้งแรกจากประเทศอิสราเอลน่าตื่นเต้นไหม

สำหรับการมีผู้ป่วยติดโควิดกับไข้หวัดใหญ่ในเวลาไล่เลี่ยกัน ที่จริงไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ทางการแพทย์ ซึ่งโรคติดเชื้อจะเกิดในคนหลายโรคในเวลาใกล้เคียงกัน โดยเฉพาะโรคติดเชื้อที่มีความชุกสูงเช่นที่เกิดจากเชื้อไวรัส บ้านเราพบประปราย ทั้งไข้เลือดออกและไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออกและโควิด หรือ โควิดและไข้หวัดใหญ่เช่นกรณีนี้ แต่ทั้งหมดไม่ได้ทำให้ความรุนแรงของแต่ละโรคเพิ่มขึ้น และช่วยขับเน้นความสำคัญของการฉีดวัคซีนโควิดและไข้หวัดใหญ่ไปในเวลาใกล้เคียงกัน ถ้าเป็นได้ให้ห่างกันอย่างน้อย 7 วัน

ที่ไม่ถูกถามเลยคือ ทำไมตัวเองเลือกฉีดวัคซีนเข็มสี่เป็นของ ซิโนแวค-ซิโนแวค-ไฟเซอร์-แอสตร้า (ดังรูป) วันนี้ (ฉีด) เรียบร้อยโรงเรียนแพทย์ริมน้ำไปแล้ว หลังจากเจ้าหน้าที่งุนงงและต้องขออนุญาตผู้มีอำนาจตัดสินใจก่อนเพราะไม่มีใครทำกัน แต่ถ้าไปดูผลการทดลองในอังกฤษ (ดังรูป) พร้อมคำอธิบายในบทความนั้นแล้วจะเข้าใจ (อาจเทียบเคียงได้ไม่ดีนักเพราะของเขาเป็นของ ไฟเซอร์-ไฟเซอร์-แอสตร้า) แต่ถ้าไม่ได้ผลดีนักทางกาย แต่อย่างน้อยก็อิ่มเอมใจที่ได้สละวัคซีนของไฟเซอร์โควต้าตนเองแก่ผู้อื่น 

https://www.thelancet.com/action/showPdf?pii=S0140-6736%2821%2902717-3 

logoline