โควิด-19

"โอไมครอน" เติมเต็มวัคซีน เกิดเป็นภูมิคุ้มกัน 2 ประสาน เร่งระดมฉีดเผด็จศึก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ เผยผลวิจัย "โอไมครอน" เสมือนเป็นตัวเติมเต็มวัคซีน เกิดเป็นภูมิคุ้มกันสองประสาน เร่งระดมฉีดเพื่อเผด็จศึก

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี รายงานผลวิจัย อัปเดตสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระบุว่า ล่าสุดแสดงให้เห็นว่า เมื่อฉีดโควิดวัคซีนเข้ากล้ามเนื้อ ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนเชื้อตาย (Inactivated Vaccines) วัคซีนที่ใช้ไวรัสเป็นพาหะ (Viral Vector Vaccines) วัคซีนชนิดสารพันธุกรรม หรือวัคซีนชนิด mRNA (messenger RNA, mRNA Vaccines) และวัคซีนที่ทำจากโปรตีนส่วนหนึ่งของเชื้อ (Protein Subunit Vaccine) ล้วนผลิตขึ้นมาโดยอาศัยไวรัสดั้งเดิม "อู่ฮั่น" เป็นต้นแบบด้วยกันทั้งสิ้น ส่วนวัคซีนเชื้อเป็นที่ถูกทำให้อ่อนกำลัง (live attenuated vaccine) ยังไม่มีบริษัทใดผลิตขึ้นมาให้ได้ใช้กัน เนื่องจากความกังวลว่า อาจเกิดปัญหาการติดเชื้อรุนแรงกับผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (ภาพ A) 

วัคซีนเป็นสิ่งแปลกปลอม เมื่อฉีดเข้าไปในร่างกาย จะไปกระตุ้นเม็ดเลือดขาว 2 ประเภทคือ "บี-เซลล์" (B-cell) ให้สร้าง "แอนติบอดี" ประเภท "IgG และ IgM" ที่มีความจำเพาะสูงคอยดักจับและทำลายตัวไวรัส (neutralization) ที่เข้ามารุกรานทางกระแสเลือด พร้อมกับกระตุ้นเม็ดเลือดขาวประเภท "ที-เซลล์ (T-cell)" ไปพร้อมกันให้ส่งสัญญาณ (ในรูปของสารชีวโมเลกุลขนาดเล็ก) ไปกระตุ้นเม็ดเลือดขาวหลายประเภท เช่น "เอ็นเค-เซลล์ (natural killer, NK-cell)" ให้เข้าไปทำลายเซลล์ที่ติดเชื้อไวรัส  (ภาพ B )  

 

ในกรณีที่ฉีดวัคซีน mRNA ของบริษัทไฟเซอร์ 2 เข็ม พบว่า แอนติบอดีที่ถูกกระตุ้นขึ้นมามีประสิทธิภาพในการเข้าจับ และทำลายไวรัส "สายพันธุ์โอไมครอน" (neutralization) ลดลงไปกว่า 44 เท่าเมื่อเทียบกับไวรัสดั้งเดิม "อู่ฮั่น" โดยทางไฟเซอร์ออกมาแถลงว่า หากผู้ที่ฉีดวัคซีนครบ "สองเข็ม" อาจไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อ "โอไมครอน" ได้ดีนัก แต่จะป้องกันการเจ็บป่วยหนักเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล หรือถึงขั้นเสียชีวิตจากไวรัสโคโรนา-19 ได้ และหากฉีด "เข็มที่ 3 (booster shot)" จะทำให้ภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้นถึง 25 เท่า 

 

"โอไมครอน" เติมเต็มวัคซีน เกิดเป็นภูมิคุ้มกัน 2 ประสาน เร่งระดมฉีดเผด็จศึก

อย่างไรก็ตาม พบว่า ในประเทศอิสราเอลที่มีการฉีดวัคซีนถึง 4 เข็ม ก็ยังพบผู้ติดเชื้อได้ แม้จำนวนจะไม่มากก็ตาม เซลล์เม็ดเลือดขาว บี และ ที-เซลล์ ยังแบ่งตัวสร้างลูกหลานที่จดจำรูปร่างลักษณะของสิ่งแปลกปลอมเก็บไว้ด้วย เรียกเม็ดเลือดขาวประเภทนี้ว่า "memory B-cell" และ "memory T-cell" เมื่อพบกับไวรัสโคโรนา 2019  อีกครั้งในคราวหน้า "memory B-cell" จะแบ่งตัวและสร้าง "แอนติบอดี" ออกมาจับและทำลายตัวไวรัส (neutralization) อย่างรวดเร็ว ส่วนเม็ดเลือดขาวประเภท "memory T-cell"  ก็จะแบ่งตัวเร่งสร้างสารไปกระตุ้นเม็ดเลือดขาวประเภทอื่น ๆ เช่น "เอ็นเค-เซลล์ (natural killer, NK-cell)" ให้เข้าไปทำลายเซลล์ที่ติดเชื้อไวรัสในทันที ความจำเพาะของแอนติบอดีสามารถก่อปัญหาขึ้้นได้เช่นกันโดยปรากฏว่า แอนติบอดีที่ได้จากการติด "เชื้อเดลตา" จะด้อยประสิทธิภาพในเข้าจับและทำลาย "เชื้อบีตา" แอนติบอดีได้จากการติด "เชื้อบีตา" ก็ด้อยประสิทธิภาพในการเข้าจับและทำลาย "เชื้อเดลตา" และเห็นได้ชัดเจนว่าแอนติบอดีที่ได้รับการกระตุ้นจากการฉีดวัคซีน mRNA ที่ผลิตส่วนหนามของไวรัส "อู่ฮั่น" ขึ้นมากระตุ้นภูมิ ลดประสิทธิภาพในการเข้าจับ และทำลายเชื้อ "โอไมครอน" อย่างมากถึง 44 เท่า ตามที่กล่าวมาข้างต้น

 

แต่โชคดีที่ "memory T-cell" จดจำตำแหน่ง หรือ "Epitope"  บนส่วนหนามคนละตำแหน่งกับ “memory B-cell” จดจำ ดังนั้น แม้แอนติบอดีที่ถูกกระตุ้นด้วยวัคซีนจะด้อยประสิทธิภาพลง เนื่องจากไวรัสมีการกลายพันธุ์บริเวณส่วนหนามไปมาก ก็ยังมีระบบภูมิคุ้มกันของ “ที-เซลล์ (T-cell)” ซึ่งมิได้ด้อยประสิทธิภาพตามไปด้วย กลับคอยมาช่วยปกป้องมิให้เราป่วยรุนแรงจนต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล หรือเสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และที่ยอดเยี่ยมกว่านั้นคือ ที-เซลล์ สามารถกระตุ้นเม็ดเลือดขาวมาทำลายเซลล์ติดเชื้อจากไวรัสข้ามสายพันธุ์ได้ ไม่ว่าจะเป็น "โอไมครอน" อัลฟา บีตา เดลตา และสายพันธุ์ดั้งเดิม ด้วยประสิทธิภาพประมาณ 70-80%

 

ในกรณีที่มีการติดเชื้อ "โอไมครอน"  โอไมครอนจะเข้าเพิ่มจำนวนในเซลล์เยื่อบุทางเดินหายใจส่วนบนได้มากกว่าสายพันธุ์ “เดลตา” ถึง 70 เท่า แต่ไม่แพร่ลงลึกไปทำลายเซลล์ปอด ซึ่งก่อให้เกิดปอดอักเสบ จึงทำหน้าที่ประหนึ่งวัคซีนชนิดเชื้อเป็นที่อ่อนฤทธิ์ (live-attenuated vaccine) เทคโนโลยีการทำวัคซีนชนิดเชื้อเป็นที่อ่อนฤทธิ์ แม้สามารถกระตุ้นภูมิได้ดีมาก แต่ไม่นิยมนำมาผลิตเป็นวัคซีนกับโรคโควิด-19 เพราะความกังวลที่เมื่อฉีดวัคซีนเข้าไปแล้ว มีความเสี่ยงที่จะเกิดการติดเชื้อรุนแรงขึ้นได้ โดยเฉพาะในผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน ดังนั้น "โอไมครอน" จึงอาจมาเติมเต็ม ในการทำหน้าที่ประหนึ่งเป็นวัคซีนชนิดเชื้อเป็นที่อ่อนฤทธิ์ (live-attenuated vaccine)

 

โดยมีรายงานจากทีมวิจัยจากแอฟริกาพบว่า ผู้ติดเชื้อโอไมครอนภายใน 14 วัน จะมีการสร้างภูมิต่อต้าน (neutralization) โอไมครอนเองถึง 14 เท่า และยังสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการต่อต้าน “เดลตา” ได้ถึง 4.4 เท่า (ภาพ D) ซึ่งยังไม่พบการปกป้องข้ามสายพันธุ์ (cross immunity) แบบนี้เกิดขึ้นกับไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์อื่น ดังนั้น หากมี “โอไมครอน” ระบาดที่ไหนก็จะมีการสร้างแอนติบอดียับยั้งเดลตาไปด้วย ทำให้โอไมครอนสามารถระบาดเข้ามาแทนที่เดลตาได้อย่างรวดเร็วในทุกประเทศขณะนี้

 

การฉีดวัคซีนเข้ากล้ามเนื้อ แม้จะกระตุ้นแอนติบอดี IgG และ IgM ได้สูงก็จริง แต่ไวรัสโคโรนา 2019 ไม่ได้ติดต่อกันทางกระแสเลือด ในขณะที่การติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามธรรมชาติ โดยที่ไวรัสเข้าสู่ร่างกายทางระบบทางเดินหายใจจะมีการกระตุ้นแอนติบอดีทั้ง IgG, IgM และที่สำคัญคือ "IgA" ซึ่งจะอยู่ตามเยื่อบุทางเดินหายใจ และปอดคอยดักจับไวรัสที่รุกรานเข้ามา โดยมีระยะเวลาประจำการที่ยาวนานกว่า (ภาพ C)

 

วัคซีนชนิดเชื้อเป็น มีข้อได้เปรียบวัคซีนเชื้อตาย ตรงที่โครงสร้างของไวรัสยังคงสภาพเดิม ไม่ถูกทำลาย สามารถกระตุ้นภูมิได้ดีเสมือนการติดเชื้อตามธรรมชาติ ในขณะที่วัคซีนเชื้อตายมีโครงสร้างบางส่วนเปลี่ยนแปลงหรือถูกทำลายไป เนื่องจากสารเคมีที่ใช้ในการฆ่า (inactivation) ไวรัส วัคซีนชนิดเชื้อเป็นยังมีข้อดีเหนือวัคซีนที่ใช้ไวรัสเป็นพาหะ  และวัคซีนสารพันธุกรรม mRNA เนื่องจากนำทุกส่วนของไวรัสมากระตุ้นภูมิคุ้มกัน ไม่ได้เลือกเฉพาะส่วนหนามมากระตุ้นเท่านั้น ดังนั้น แม้ว่าไวรัสจะมีส่วนหนามที่เปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากการกลายพันธุ์ วัคซีนชนิดเชื้อเป็นก็ยังสามารถกระตุ้นแอนติบอดี (polyclonal antibody) ต่อส่วนอื่นที่มิใช้ส่วนหนามเข้าจับและทำลายตัวไวรัส (neutralization)ได้อยู่ดี

 

นอกจากนี้ การฉีดวัคซีนเข้ากล้ามเนื้อ จะกระตุ้นแอนติบอดี IgG และ IgM ในขณะที่การติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามธรรมชาติ โดยเข้าสู่ร่างกายทางระบบทางเดินหายใจจะกระตุ้นแอนติบอดี "IgA" ซึ่งจะอยู่ในปอดเป็นระยะเวลาที่ยาวนานกว่าในช่วงที่มีการติดเชื้อตามธรรมชาติจากโอไมครอนอย่างรวดเร็ว เป็นช่วงที่เหมาะที่จะเร่งระดมฉีดวัคซีนเพื่อเผด็จศึก (end game) การระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 เพราะจะเกิดเป็นภูมิคุ้มกันสองประสาน จากทั้งวัคซีนและจากการติดเชื้อโอไมครอนตามธรรมชาติ ซึ่งสามารถครอบคลุมประชากรทั่วโลกได้ ประเทศที่พัฒนาแล้วควรฉีดเข็มให้ครบ 3 เข็ม เพราะฉีดวัคซีนเข็ม 1-2 มาระยะหนึ่งแล้วภูมิเริ่มตกควรได้รับเข็มกระตุ้น โดยช่วยสนับสนุนประเทศที่กำลังพัฒนาทั่วโลกที่ไม่เคยฉีดวัคซีนมาก่อนให้ได้รับวัคซีน 1-2 เข็ม อย่างน้อย 70%  ตามที่ WHO ได้เรียกร้องประเทศที่มีศักยภาพสูงช่วยประเทศยากจน เพื่อลดความเลื่อมล้ำในเรื่องของการฉีดวัคซีน  เพราะหากประเทศที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนจะเป็นแหล่งก่อกำเนิดของเชื้อกลายพันธุ์ เพราะไวรัสมีการเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วโดยไม่มีภูมิคุ้มกันมาชะลออันจะก่อให้เกิดเชื้อกลายพันธุ์ได้ ตัวอย่างเช่น สายพันธุ์อัลฟา พบครั้งแรกในประเทศอังกฤษ ซึ่งในขณะนั้นยังไม่ได้ฉีดวัคซีนกันแพร่หลาย  สายพันธุ์เดลตาพบครั้งแรกในประเทศอินเดีย ซึ่งยังไม่ได้ฉีดวัคซีนกันมากนัก สายพันธุ์บีตา และโอไมครอนพบครั้งแรกในแอฟริกาซึ่งประชากรได้รับวัคซีนกันน้อยมาก  เราไม่สามารถรอให้เกิดการติดเชื้อตามธรรมชาติจากโอไมครอนแต่เพียงอย่างเดียว เพื่อสร้างภูมิคุ้มหมู่ เพราะจะล่าช้าไม่ทันการ และแม้การติดเชื้อโอไมครอนจะมีอาการไม่รุนแรง แต่ก็มีอัตราผู้ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล

 

จากผลการศึกษาเบื้องต้นที่ตีพิมพ์ในสหราชอาณาจักร และแอฟริกาใต้พบว่า มีคนติดเชื้อต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลน้อยลง ระหว่าง 30-70% ในประเทศไทยประมาณการว่า จะมีผู้ป่วยอาการหนักจากการติดเชื้อโอไมครอนเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลราว 2% หรือ 200-400 คนต่อวัน จากเดิมที่มีการติดเชื้อเดลตาอยู่ที่ 5% เราคงไม่อยากเป็นหนึ่งใน 2-5 % ที่ติดเชื้ออาการหนักต้องนอนโรงพยาบาลอย่างแน่นอน ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้น ทั้งจากการฉีดวัคซีน และการติดเชื้อโอไมครอนตามธรรมชาติทั่วโลก ยังจะช่วยลดการระบาดระหว่างคนสู่คน อันจะป้องกันการกลายพันธุ์มิให้เกิดไวรัสตัวใหม่มาแทนที่โอไมครอน เหมือนกับที่โอไมครอนมาแทนที่เดลตา ซึ่งขณะนี้เราพบไวรัสโคโรนากลายพันธุ์ ถี่ขึ้น เช่น B.1.640.2  จากรหัสพันธุกรรมบ่งชี้ว่าน่าจะมีต้นกำเนิดมาจากประเทศ “แคเมอรูน” เป็นสายพันธุ์พี่น้องกับสายพันธุ์ B.1.640 (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อไปเป็น B.1.640.1)  ที่เคยระบาดในฝรั่งเศสเมื่อเดือนตุลาคม 2564 ก่อนหน้านี้  จากรหัสพันธุกรรมแสดงว่า “B.1.640.1” มีต้นกำเนิดมาจากประเทศ “คองโก” 



ไม่มีเหตุที่ต้อง "ตระหนก" แต่ต้อง "ตระหนัก" ว่าควรกระจายวัคซีนไปในทุกประเทศทั่วโลก เพียง 1 หรือ 2 เข็ม สำหรับกลุ่มประชากรที่ไม่เคยได้รับวัคซีน และเข็มกระตุ้นเข็มที่สาม ในกลุ่มประชากรที่เคยได้รับวัคซีนมาแล้วสองเข็ม และภูมิเริ่มลดลง และฉีดให้ได้อย่างน้อย 70% ของจำนวนประชากรตามที่ WHO  ระบุ แม้ไม่อาจป้องกันการติดเชื้อได้อย่างสมบูรณ์ แต่จะเป็นประโยชน์อย่างมากในการควบคุมการกลายพันธุ์ที่หากเกิดขึ้นแล้วจะก่อปัญหาใหญ่โต เช่น "โอไมครอน" นอกเหนือไปจากการลดการเจ็บหนัก และ ลดการเสียชีวิตได้ (จากประสิทธิภาพของที-เซลล์)

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ