โควิด-19

อ.เจษฎ์ ชี้ "โควิดสายพันธุ์ใหม่" ไม่น่ากลัวเท่า "โอไมครอน"

03 ม.ค. 2565

อ.เจษฎา ชี้ สถานการณ์ "โควิดสายพันธุ์ใหม่" ที่คาเมรูน ยังไม่ได้น่ากังวล ความสามารถในการแพร่ระบาดยังต่ำกว่า "โอไมครอน" เยอะ

รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ เกี่ยวกับสถานการณ์ "โควิดสายพันธุ์ใหม่" ว่า

 

เชื้อกลายพันธุ์ที่มีข่าวพบใหม่วันนี้ ที่ประเทศคาเมรูน ยังไม่ได้น่ากังวลนะครับ  !

ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า ถึงแม้ว่ามันจะมีการกลายพันธุ์ไปมาก และมีแนวโน้มจะหลบหลีกหนีวัคซีน ได้ดีไม่แพ้สายพันธุ์โอมิครอน ... แต่ความสามารถในการแพร่ระบาดของมัน ยังต่ำกว่าโอมิครอนเยอะ

 

อ.เจษฎ์ ชี้ \"โควิดสายพันธุ์ใหม่\" ไม่น่ากลัวเท่า \"โอไมครอน\"

 

ดังที่อาจารย์อนันต์ จาก สวทช. เขียนอธิบายเรื่องนี้ไว้ ด้านล่างนี้นะครับ ว่าเชื้อตัวนี้เคยตรวจพบที่ฝรั่งเศสตั้งแต่ 2 เดือนที่แล้ว แต่ก็ไม่สามารถระบาดแพร่กระจายได้ในวงกว้าง และปัจจุบันก็ถูกโอมิครอนกวาดเรียบหมด

 

หลักการพิจารณา ว่าไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์ไหนจะน่ากังวล (variant of concerns, VoC) มี 3 ข้อ คือ 1. มันดื้อต่อวีคซีนมากแค่ไหน 2. มันทำให้เกิดอาการของโรคป่วยรุนแรงขึ้นหรือไม่ 3. มันแพร่ระบาดได้เร็วกว่าสายพันธุ์ที่เป็นเจ้าถิ่นหรือเปล่า

 

นั่นคือสาเหตุที่ว่า เราอาจจะเคยได้ยินข่าวของไวรัสโควิด สายพันธุ์มิว สายพันธุ์เอพซิลอน ฯลฯ แต่สุดท้าย มันก็ไม่ได้สถานะเป็น VoC เพราะมันแพร่ระบาดเอาชนะ delta ไม่ได้

 

และตอนนี้ เราก็ยังไม่เจอตัวไหนน่ากังวลเรื่องอัตราเร็วในการแพร่ระบาดของมัน ไปมากกว่า omicron ครับ .. จบข่าว

(จากโพสต์ของ ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ศูนย์ไบโอเทค สวทช. https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=5160928837280330&id=100000897943637)

 

ข่าวแรกของปีคือการพบไวรัสโรคโควิด-19 กลายพันธุ์ตัวใหม่ที่คลัสเตอร์เล็กๆในฝรั่งเศส ชื่อว่า B.1640.1 เชื่อว่ามีถิ่นกำเนิดมาจากประเทศแคเมอรูนจากผู้ป่วยรายแรก ไวรัสสายพันธุ์นี้มีการกลายพันธุ์ทั้งหมด 46 ตำแหน่ง และมีส่วนที่ขาดหายไปของเบส (deletion) 37 ตำแหน่ง ส่งผลให้มีกรดอะมิโนเปลี่ยนไปจากเดิม 30 ตำแหน่ง และ หายไป 12 ตำแหน่ง

 

ถ้าพิจารณาเฉพาะกรดอะมิโนบนโปรตีนหนามสไปค์ พบว่ามี 14 ตำแหน่งที่เปลี่ยน และ 9 ตำแหน่งที่หายไป โดยตำแหน่งสำคัญที่พบรวมไปถึง N501Y และ E484K ด้วย การเปลี่ยนแปลงลักษณะนี้จากตำแหน่งที่กลายพันธุ์ไปคาดว่าจะมีผลเรื่องการหนีภูมิคุ้มกันได้คล้ายๆกับโอมิครอน

 

แต่...ขอจบด้วยข่าวดีรับปีใหม่ว่า ไวรัสสายพันธุ์นี้คาดว่ามีแนวโน้มจะถูกกลืนด้วยโอมิครอน เพราะ ข้อมูลในฝรั่งเศสพบไวรัสสายพันธุ์นี้มาเกือบ 2 เดือนแล้ว ยังไม่ได้มีการพบการระบาดในประเทศมากขึ้นต่อจากคลัสเตอร์แรกที่พบ ซึ่งเมื่อเจอโอมิครอนที่วิ่งไวกว่า หนีภูมิอาจจะดีกว่า โอกาสของการกระจายตัวของไวรัสสายพันธุ์นี้ดูเหมือนน้อยลงไปด้วยครับ...ยังไงก็ดี ข่าวนี้ทำให้เราเห็นว่าไวรัสแปลกๆพร้อมแสดงตัวได้ตลอดเวลาครับ

 

 

ที่มา : เฟซบุ๊ก อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์