คุณหมอขอแชร์ แนวทางอยู่รอดจาก "โอไมครอน"
หมอขวัญชัย เปิดเผยแนวทางการอยู่รอดจาก "โอไมครอน" อยู่ร่วมกับโควิดอย่างปลอดภัย คาดครองโลกหลังปีใหม่ 1-2 เดือน
ศ.นพ.ขวัญชัย ศุภรัตน์ภิญโญ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โพสต์เพจเฟซบุ๊ก Khuanchai Supparatpinyo ถึงแนวทางการอยู่รอดจาก "โอไมครอน" ที่กลายเป็นสายพันธุ์หลักครองโลกแทนเดลตาหลังจากข้ามปีใหม่ไปไม่เกิน 1-2 เดือน อย่าตื่นตระหนกกับข่าวการแพร่ระบาดของ "โอไมครอน" ข้อความว่า
การอยู่กับโควิดอย่างปลอดภัย
แนวทางการอยู่รอดจาก "โอไมครอน" (Omicron survival guide)
ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ก็ตาม "โอไมครอน" จะแพร่ระบาดไปทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยอย่างแน่นอน คาดว่าจะกลายเป็นสายพันธุ์หลักครองโลกแทนเดลตาหลังจากข้ามปีใหม่ไปไม่เกิน 1-2 เดือน อย่างไรก็ตาม แม้ "โอไมครอน" จะแพร่เร็วกว่าทุกสายพันธุ์ที่เคยมีมาแต่โชคดีที่เริ่มมีข้อมูลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆที่สนับสนุนว่า "โอไมครอน" ก่อโรคที่รุนแรงน้อยกว่าเดลตามาก ยิ่งตอกย้ำแนวคิดการอยู่กับโควิดอย่างปลอดภัยมากขึ้น ใครที่ยังยึดติดกับแนวคิดที่ต้องติดเชื้อเป็นศูนย์น่าจะตกยุคไปเรียบร้อยแล้ว
แม้ว่าสถานการณ์การระบาดในประเทศไทยจะมีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่เราต้องเตรียมตัวต้อนรับการระบาดของ "โอไมครอน" ที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนไม่ช้าก็เร็ว ปัจจัยบวกที่สำคัญของประเทศไทยคือ
- คนไทยและประชากรแฝงได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้วเกิน 60%
- คนไทยในภาพรวมปฏิบัติตัวตามมาตรการการป้องกันการติดเชื้อส่วนบุคคลได้ค่อนข้างดี
แต่ก็ยังมีปัจจัยลบเช่นกันคือ
- ยังมีเกือบ 30% คนหรือ 21 ล้านคนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน
- ยังมีบางคนบางกลุ่มไม่มีวินัยในการป้องกันการติดเชื้อส่วนบุคคลซึ่งทำให้เกิดคลัสเตอร์ใหม่ๆขึ้นตลอดเวลา ปัจจัยลบทั้ง 2 อย่างนี้จะทำให้ไม่สามารถควบคุมการรบะาดของโควิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แนวทางการอยู่รอดจาก "โอไมครอน" พอจะสรุปได้ดังนี้
- อย่าตื่นตระหนกกับข่าวการระบาดของ "โอไมครอน" จนเกินเหตุ อย่างน้อยให้คิดในแง่ดีว่าแม้เชื้อจะแพร่เร็วแต่มีความรุนแรงไม่มาก โอกาสเสียชีวิตน้อยกว่าเดลตามาก
- ใครที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนต้องรีบไปฉีดทันที โดยเฉพาะผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคเรื้อรัง เพราะท่านเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะติดเชื้อ "โอไมครอน" ได้ง่ายที่สุดและมีโอกาสเสียชีวิตสูงกว่าคนที่ฉีดวัคซีนแล้ว สำหรับคนที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้วก็ควรไปฉีดเข็มกระตุ้นทันทีที่ภาครัฐประกาศเรียก
- แม้จะฉีดวัคซีนแล้วก็ยังต้องเน้นมาตรการป้องกันการติดเชื้ออย่างเคร่งครัดในทุกสถานที่และทุกสถานการณ์คือ สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างไว้ ใส่ใจล้างมือ
- หลีกเลี่ยงการเข้าไปในที่ชุมชนที่ไม่สามารถรักษาระยะห่างได้ รวมทั้งการไปเที่ยวสถานบันเทิง ร่วมงานสังสรรต่างๆ และการรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่นถ้าไม่มีความจำเป็นอย่างยิ่งยวด
- หมั่นสังเกตอาการไข้ ไอ เจ็บคอ น้ำมูกไหล เหนื่อยหอบ จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รู้รส อ่อนเพลีย และเหงื่อออกกลางคืน หากมีอาการดังกล่าวให้สงสัยว่าอาจจะติดเชื้อ "โอไมครอน" ให้รีบตรวจ ATK หรือไปพบแพทย์ทันที
- ผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อย ควรรักษาและกักตัวที่บ้าน พร้อมทั้งแจ้งผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันดูแลรักษาท่านโดยเร็ว
- ถ้ามีอาการรุนแรงเช่นหอบเหนื่อย แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก ให้แจ้งผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อเข้ารับการดูแลที่รพ.
สำหรับภาครัฐในสถานการณ์การระบาดของ "โอไมครอน" ควรพิจารณาในหลายประเด็นเช่น
- ควรจะสร้างความแตกตื่นให้สังคมเมื่อพบผู้ติดเชื้อ "โอไมครอน" หรือไม่
- ยังสมควรจะตรวจเชิงรุกในคนที่ไม่มีอาการหรือไม่
- ยังสมควรจะรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อยที่ไม่ต้องเข้ารับการรักษาในรพ.หรือไม่
- ยังสมควรจะมีสถานกักตัวหรือรักษาผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อยอีกหรือไม่
- ยังสมควรใช้ RT-PCR ในการตรวจคัดกรองหรือไม่
ขอถือโอกาสอวยพรให้ทุกท่านมีความสุขในเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ 2565 ที่กำลังจะมาถึง ขอให้ใช้ชีวิตด้วยความไม่ประมาทและสามารถก้าวผ่านการระบาดของ "โอไมครอน" อย่างปลอดภัยไปด้วยกัน
ขวัญชัย ศุภรัตน์ภิญโญ