โควิด-19

หมอธีระเตือน "โอไมครอน" อย่าคิดว่าแค่ไข้หวัด เหตุป่วยน้อยเพราะฉีดวัคซีน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หมอธีระเตือน "โอไมครอน" อย่าหลงเชื่อว่าไม่รุนแรงเป็นแค่ไข้หวัดธรรมดา เปิดสาเหตุติดเชื้อแล้วอาการไม่รุนแรงเพราะประชากรทั่วโลกได้รับวัคซีน

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat
เกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 และการระบาดของโควิดสายพันธุ์ "โอไมครอน" โดยระบุ ว่า 

 

ธันวาคม 2564...
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 426,708 คน ตายเพิ่ม 4,598 คน รวมแล้วติดไปรวม 270,966,405 คน เสียชีวิตรวม 5,327,271 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ อเมริกา สหราชอาณาจักร รัสเซีย เยอรมัน และตุรกี
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ ซึ่งรวมกันคิดเป็นร้อยละ 92.95 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 93.51
ล่าสุดจำนวนติดเชื้อใหม่จากทวีปยุโรปนั้นมากถึงร้อยละ 58.79 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 64.81 
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปครอง 6 ใน 10 อันดับแรก และ 13 ใน 20 อันดับแรกของโลก


...สำหรับสถานการณ์ไทยเรา
เมื่อวานติดเชื้อเพิ่ม 3,398 คน สูงเป็นอันดับ 28 ของโลก
หากรวม ATK อีก 483 คน ก็ขยับเป็นอันดับ 24 ของโลก
ยอดรวม ATK จะเป็นอันดับ 6 ของเอเชีย

 

หมอธีระเตือน "โอไมครอน" อย่าคิดว่าแค่ไข้หวัด เหตุป่วยน้อยเพราะฉีดวัคซีน

...อัพเดต Omicron

เมื่อวาน ที่อังกฤษมีรายงานออกมาแล้วว่า เคสติดเชื้อ Omicron ที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล มีเสียชีวิตไปแล้ว 1 ราย โดยคนที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 10 ราย ส่วนใหญ่มีประวัติได้รับวัคซีน 2 โดสไปแล้วด้วย
เป็นสิ่งที่ย้ำเตือนเราไม่ให้หลงไปกับมายาคติที่ว่า Omicron เป็นหวัดธรรมดา ไม่ตาย 
ปรากฏการณ์ที่เราเห็นในหลายประเทศว่ามีคนติดเชื้อมากมาย แต่อาการน้อย และไม่ตายในช่วงที่ผ่านมานั้น เกิดจากหลายเหตุผลประกอบกัน ได้แก่ การที่ประชากรจำนวนมากได้รับวัคซีนไปแล้ว ทำให้ลดโอกาสป่วยรุนแรง และลดโอกาสเสียชีวิตได้ ดังที่เราทราบกันดี 
นอกจากนี้การติดเชื้อส่วนใหญ่เกิดในคนอายุน้อย ซึ่งโดยความรู้ที่เรามีมา มักเป็นวัยที่แข็งแรง หรือโอกาสติดเชื้อแล้วอาการรุนแรงน้อยเป็นทุนเดิมอยู่เช่นกัน 
ในขณะที่ตัวไวรัสสายพันธุ์ Omicron นั้นจะทำให้ป่วยรุนแรงและเสียชีวิตน้อยลงจริงหรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่ต้องเก็บรวบรวมข้อมูลทั่วโลกและติดตามกันต่ออีกระยะหนึ่ง เพื่อให้สามารถประเมินได้อย่างมั่นใจขึ้น

 

ด้วยข้อมูลความรู้ที่มีในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เรารู้ว่า Omicron มันแพร่เร็วขึ้น และดื้อต่อภูมิคุ้มกันทั้งที่เกิดจากการติดเชื้อโควิด-19 มาก่อน และที่มาจากวัคซีน โดยดื้อกว่าเดิม 20-40 เท่า นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มที่จะดื้อต่อการรักษาด้วย monoclonal antibodies หลายชนิดด้วย ส่วนการป่วยรุนแรงและเสียชีวิต แม้จะมีแนวโน้มน้อยกว่าเดลต้า แต่ข้อมูลยังมีจำกัดและต้องติดตามต่อไป

 

หมอธีระเตือน "โอไมครอน" อย่าคิดว่าแค่ไข้หวัด เหตุป่วยน้อยเพราะฉีดวัคซีน

สำคัญไปกว่านั้นคือ ยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับภาวะอาการคงค้างหลังจากการติดเชื้อ Omicron ที่เรารู้จักกันในชื่อ Long COVID ว่าจะมีมากน้อยเพียงใด
อาการคงค้างมีตั้งแต่อาการเล็กน้อยไปจนถึงอาการมากที่กระทบอวัยวะหรือระบบสำคัญในร่างกาย เช่น สมอง หัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น
สายพันธุ์ต่างๆ ก่อนหน้านี้ Long COVID พบได้ ทั้งในคนที่ติดเชื้อแบบไม่มีอาการ มีอาการน้อย หรือมีอาการรุนแรง โดยต่างประเทศเคยมีการรายงานว่าสามารถพบได้ราว 43% (ช่วงความเชื่อมั่น 35%-51%) ของคนที่ติดเชื้อทั้งหมด แต่สำหรับ Omicron ยังไม่มีข้อมูลเรื่องนี้ เพราะเป็นสายพันธุ์ใหม่ที่เพิ่งเจอกันแค่เดือนกว่าๆ เท่านั้น ดังนั้นจึงต้องระวังเรื่องนี้ด้วย

 

ข้อมูลจาก Prof.Alastair Grant ชี้ให้เห็นว่าตอนนี้การระบาดของ Omicron ใน UK นั้นมีการระบาดมากในเด็กและเยาวชนวัย Teenage และคนวัยทำงาน ซึ่งก็สอดคล้องกับอีกหลายประเทศ ยกเว้นในเดนมาร์กที่พบในคนสูงอายุมากขึ้น

 

ประเทศไทยจึงต้องระวังให้ดี เพราะเรามีโอกาสเกิดการระบาดปะทุขึ้นมาสูง เพราะปัจจัยแวดล้อมทางนโยบายและสังคมในปัจจุบัน มีความเสี่ยงมาก ทั้งเรื่องจำนวนคน จำนวนการพบปะกัน ระยะเวลาที่คลุกคลี ความใกล้ชิด และเป็นฤดูท่องเที่ยวและอากาศเย็น ครบองค์ประกอบในการระบาด
วัยเด็กและเยาวชนนั้นมีทั้งช่วงวัยที่ยังไม่ได้รับวัคซีน และที่ยังได้วัคซีนไม่ครอบคลุม จึงเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง ในขณะที่วัยทำงาน คงชัดเจนว่ามาจากการทำงาน พบปะติดต่อกัน กินข้าวร่วมกัน ไปเที่ยวปาร์ตี้สังสรรค์กัน และไม่ได้ป้องกันตัว
จุดอ่อนเชิงระบบของไทยนั้นเป็นดังที่เคยนำเสนอให้เห็นแล้วว่าคือ ระบบการตรวจคัดกรองโรคมาตรฐาน RT-PCR ในเชิงศักยภาพจำนวนการตรวจต่อวัน การเข้าถึงบริการ และกำแพงเรื่องค่าใช้จ่าย 

 

ทั้งนี้หากมีการระบาดปะทุขึ้นมาเหมือนระลอกสองและสาม เราทุกคนได้เห็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาแล้วว่าเป็นเช่นไร ดังนั้นจึงควรเสริมสร้างศักยภาพของระบบตรวจคัดกรองโรคให้เข้มแข็งขึ้น และเริ่มดำเนินการตะลุยตรวจมากขึ้น เพื่อดักหน้าโรค ด้วยเหตุผลเรื่องปัจจัยเสี่ยงปัจจุบันที่สูงขึ้นมาก

 

สุดท้ายแล้ว การใส่หน้ากาก และเว้นระยะห่างจากคนอื่นเกินหนึ่งเมตร เป็นสิ่งที่ต้องทำในระยะยาวถัดจากนี้ ควบคู่ไปกับการปรับตัว ปรับงาน ปรับสิ่งแวดล้อม เพื่อประคับประคองให้ทุกอย่างพอจะก้าวเดินไปได้ในยามที่ยังไม่เห็นจุดสิ้นสุดของสงครามโควิด-19
ควบคุม มิใช่ติดตาม
สุขภาพ มิอาจต้านทาน
มัวเมา โง่เขลา มิอาจรู้
ประเทศชาติ มิอาจละเลย  
ด้วยรักและห่วงใย...
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ