หมอธีระ เทียบชัดสถานการณ์ "โควิด" จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ของไทยลดลงช้ามาก
หมอธีระ เปรียบเทียบสถานการณ์การระบาด "โควิด" ไทยลักษณะการระบาดคล้ายบราซิลและหร่าน พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงช้ากว่าที่ควรจะเป็น
ศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ถึงสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 โดยระบุว่า ดูลักษณะการระบาดของประเทศต่างๆ เปรียบเทียบกับเราจะเห็นได้ว่า แนวโน้มประเทศต่างๆ ที่เคยเจอระลอกเดลตา ทั้งที่น้อยกว่า เท่ากับ หรือมากกว่าไทย มักกดการระบาดลงไปได้จนเหลือน้อย
หากลองดูประเทศที่เคยมีจำนวนติดเชื้อต่อวันพอๆ กับไทย หรือมากกว่าไทย ก็จะพบว่ากดลงไปให้เหลือน้อยกว่าที่เราเป็นอยู่ในปัจจุบัน
ลองสแกนดูว่ามีประเทศไหนที่มีลักษณะคล้ายไทยบ้าง เท่าที่เห็นตอนนี้คล้ายกันคือ บราซิล (ประชากร 213 ล้านคน) และอิหร่าน (ประชากร 84 ล้านคน)
ด้วยภาพเช่นนี้ จึงย้ำเตือนเราว่า อัตราการลดลงของจำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของไทยนั้นดูจะลดช้ากว่าที่เห็นจากประเทศอื่นๆ ทั้งที่เงื่อนเวลาการซาลงของเดลตานั้นพอๆ กัน ดังนั้นจึงอาจบ่งถึงการติดเชื้อต่อเนื่องในชุมชนที่น่าจะมากกว่าเขา
ซึ่งไม่น่าแปลกใจ และคงเป็นเหตุผลอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ เช่น การรายงานข่าวตรวจพบที่โน้นบ้างที่นี่บ้างจำนวนมากเป็นกลุ่มก้อน เช่น ในเรือนจำ ตลาด หรืออื่นๆ ไปเรื่อยๆ
มองระยะยาว โดยพิจารณาศักยภาพของเชื้อไวรัส สถานะของเรื่องยาและวัคซีนสำหรับคนกลุ่มอายุต่างๆ รวมถึงสถานภาพทางสังคมเศรษฐกิจ และปัจจัยแวดล้อมอื่น ทั้งในและต่างประเทศแล้ว
นอกจากการไปรับวัคซีน mRNA เป็นเข็มกระตุ้นแล้ว
ผมคงขอชวนให้เราสร้าง "ความคุ้นชินกับการใส่หน้ากากป้องกันตัว และเว้นระยะห่างจากคนอื่นระหว่างการใช้ชีวิตประจำวันไปในระยะยาว" ถัดจากนี้ครับ ไม่ใช่เพื่อตัวเราเท่านั้น แต่เพื่อคนสูงอายุและลูกหลานรอบตัวเราด้วย
ปรับตัว (พฤติกรรมการป้องกันในชีวิตประจำวัน)
ปรับงาน (เนื้องานและกระบวนการทำงาน)
และปรับสิ่งแวดล้อม (ทั้งที่บ้านและที่ทำงาน)
สาม "ปรับ" นี้คงต้องร่วมด้วยช่วยกันทำทุกภาคส่วนและทุกระดับ ทั้งรัฐและเอกชน และตั้งแต่ตัวเรา ครอบครัว ที่ทำงาน และชุมชน
ทำเช่นนี้เพื่อให้เราเดินต่อไปได้ แต่หากย่อหย่อนหรือไม่ทำ คงเสี่ยงต่อการระบาดหนักดังที่เห็นในประเทศอื่นๆ ตอนนี้