โควิด-19

"โอไมครอน"งานวิจัยล่าสุดพบ 3 ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการกลายพันธุ์

06 ธ.ค. 2564

หมอธีระโพสต์งานวิจัยล่าสุด "โอไมครอน" เกิดการกลายพันธุ์จาก 3 ปัจจัยอาจมาจากตรวจไม่เจอเชื้อ-เกิดในคนที่ภูมิคุ้มกันบกพร่อง และติดในสิ่งมีชีวิตอื่นแล้วย้อนกลับมาที่คน

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ถึงการระบาดของโควิด-19สายพันธุ์ "โอไมครอน" โดยระบุว่า 
 
Omicron เกิดขึ้นได้อย่างไร?
ล่าสุดมีงานวิจัยที่ศึกษาลักษณะการกลายพันธุ์ของ Omicron เทียบกับไวรัสอื่นๆ 
และมีการนำเสนอสมมติฐานเพื่ออธิบายการเกิดขึ้นของ Omicron อยู่ 3 แบบหลัก

หนึ่ง The surveillance failure hypothesis หมายถึงการที่ไวรัสมีการระบาดในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเป็นเวลานาน โดยไม่ได้รับการตรวจพบ ทั้งนี้อาจเป็นพื้นที่ที่มีทรัพยากรจำกัด และมีระบบเฝ้าระวังติดตามพันธุกรรมของเชื้อได้น้อย ไม่ครอบคลุม ทำให้ไวรัสมีการปรับเปลี่ยนพันธุกรรมไปได้เป็นจำนวนมาก

สอง The chronic infection hypothesis หมายถึงการที่ไวรัสติดเชื้อในคนเป็นระยะเวลายาวนาน จนเกิดการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมไปมาก เช่น กลุ่มคนที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ฯลฯ 

สาม The reverse-zoonosis hypothesis หมายถึงการที่ไวรัสมีการระบาดและติดเชื้อไปยังสิ่งมีชีวิตอื่นๆ แล้วย้อนกลับมาที่คน  หรืออาจเป็นหลายแบบผสมกัน การจะพิสูจน์ว่าเกิดจากสาเหตุใด จำเป็นจะต้องมีการติดตามศึกษาวิจัยให้มีข้อมูลมากขึ้นกว่านี้

อ้างอิง

Martin DP et al. Selection analysis identifies significant mutational changes in Omicron that are likely to influence both antibody neutralization and Spike function (Part 2 of 2). 5 December 2021.

 

ที่มา: เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)