ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ(ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ให้ข้อมูลกับ "คมชัดลึกออนไลน์" เกี่ยวกับสถานการณ์การระบาดของโควิดสายพันธุ์โอไมครอน ว่า ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่า โควิดสายพันธุ์ "โอไมครอน" มีจุดกำเนิดมาจากเมืองกัวเต็ง ประเทศบอตสวานา แอฟริกาใต้จริงหรือไม่ เพราะคนที่ตรวจพบเชื้อคนแรกเป็นนักการทูตที่เดินทางมาจากหลายที่ และมาตรวจเจอเชื้อที่บอตสนาวา ซึ่งทางการของบอตสวานาได้ออกมายืนยันแล้วว่า บอตสวานาอาจจะไม่ใช้จุดกำเนิดของ โอไมครอน ตามที่มีข่าวออกมา แต่ขณะนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่า ต้นกำเนิดมาจากที่ใด เพราะยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูล และไทม์ไลน์ที่ชัดเจนของนักการทูตคนดังกล่าว ดังนั้นจึงมีการสันนิษฐานเบื้องต้นว่าโอไมครอนอาจจะมีการกระจายอยู่ทั่วโลกก็เป็นได้ อย่างเช่นล่าสุดที่เยอรมนี มีการตรวจเจอผู้ติดเชื้อโอไมครอนจำนวน 2 ราย ซึ่งพบว่าทั้ง 2 ราย ไม่มีประวัติการเดินทางไปยังประเทศในแถบแอฟริกาใต้เลย อย่างไรก็ตามกรณีที่ไม่รู้ต้นกำเนิดของไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนที่แน่ชัดเช่นนี้มีความเสี่ยงค่อนข้างที่จะเกิดการแพร่ระบาดเป็นวงกว้างไปทั่วโลก
ดร.อนันต์ กล่าวต่อว่า สำหรับในประเทศไทย แม้ว่าจะมีมาตรการสกัดการเดินทางจาก 8 ประเทศในแถบแอฟริกาใต้ แต่ก็ยังมีความเสี่ยงที่อาจจะเกิดการระบาดของโควิดสายพันธุ์โอไมครอนได้เช่นกัน หากยังไม่ปิดประเทศ เพราะขณะนี้ยังไม่ได้มีการประกาศจุดกำเนิดของโอไมครอนที่แน่ชัด ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้อย่างสูงว่า โอไมครอนอาจจะกระจายอยู่ทั่วโลก ดังนั้น สิ่งที่ต้องดำเนินการต่อจากนี้ ตนและทีมวิจัยจะเร่งทำการศึกษาการกลายพันธุ์ของโอไมครอน โดยการสร้างไวรัสเลียนแบบขึ้นมา เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีการตรวจพบไวรัสชนิดดังกล่าว เพื่อทำการตรวจสอบหาพันธุกรรมว่าไวรัสมีความรุนแรงเพียงใด สามารถหลบหลีกภูมิคุ้มกันได้ดีแค่ไหน เพื่อนำมาทดสอบว่าวัคซีนสูตรต่าง ๆ ที่เราใช้อยู่ในขณะนี้ มีประสิทธิภาพมากพอที่จะสู้กับโอไมครอนได้หรือไม่ หากไม่ได้จะต้องมีการปรับสูตรหรือใช้สูตรใด โดยคาดว่า จะได้เวลาประมาร 2-3 สัปดาห์จึงจะได้ความชัดเจน ดังนั้น ในระยะนี้การป้องกันตัวเองจึงสำคัญที่สุด โดยเฉพาะการฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อโควิด-19
นอกจากนี้ ดร.อนันต์ ยังได้มีการโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว Anan Jongkaewwattana ถึงความรุนแรงของไวรัสสายพันธุ์โอไมครอน โดยระบุว่า จังหวัด Gauteng เป็นจังหวัดหนึ่งของประเทศแอฟริกาใต้ที่เชื่อว่ามีการระบาดของโอมิครอนเป็นวงกว้าง ข้อมูลการสุ่มถอดรหัสพันธุกรรมของไวรัสจากผู้ป่วยที่นั่นก็ยืนยันว่าเกือบทั้งหมดเป็นโอมิครอน ข้อมูลที่หลายคนกังวลก็คือ จำนวนเคสผู้ป่วยที่มีอาการหนักจนต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลมีสูงขึ้นกว่าเดิมประมาณ 4 เท่า ทำให้มีความเชื่อมโยงกับโอมิครอนที่แพร่กระจายอยู่
อันนี้คงเป็นหนึ่งสาเหตุที่ ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านยังไม่ปักใจเชื่อคำแถลงจากคุณหมอจากแอฟริกาใต้ว่า ไวรัสโอมิครอน ไม่น่าก่อให้เกิดปัญหา เพราะผู้ป่วยอาการเบา เพราะข้อเท็จจริงดูเหมือนจะย้อนแย้งว่า สาเหตุที่นักวิจัยจู่ๆไปถอดรหัสพันธุกรรมไวรัสในจังหวัดนี้ ก็เพราะเคสในโรงพยาบาลที่มันสูงขึ้นผิดหูผิดตานั่นเอง...ผู้ป่วยที่ Gauteng ยังได้วัคซีนไม่มากตอนนี้จึงยังสรุปไม่ได้ว่า อาการหนักที่พบเป็นเพราะว่าไม่มีภูมิป้องกัน หรือ ไวรัสตัวนี้หนีภูมิได้...ข้อมูลยังไม่นิ่ง สรุปอะไรไม่ได้ครับ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง