นายกฯ "คิกออฟ" ฉีดวัคซีน "ไฟเซอร์" เด็กนักเรียน สร้างภูมิคุ้มกันโควิด-19
นายกรัฐมนตรี ลั่นระฆัง "คิกออฟ" ฉีดวัคซีน "ไฟเซอร์" เด็กนักเรียน สร้างเกราะป้องกันโควิด-19 ก่อนเปิดเรียนเดือน พ.ย.
(4 ต.ค.2564) พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เปิดงาน Kick off สร้างเกราะป้องกันด้วยวัคซีนเด็กปลอดภัย เรียนอุ่นใจ ต้อนรับเปิดเทอม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการฉีดวัคซีนในเด็ก กับพ่อแม่ ผู้ปกครอง พร้อมชูมาตรการ Sandbox ลดความเสี่ยงของโควิด-19 ณ โรงเรียนพิบูลย์อุปถัมภ์กรุงเทพมหานคร
ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุข วางแนวทางฉีดวัคซีนไฟเซอร์สำหรับเด็กอายุ 12–18 ปี (ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 หรือเทียบเท่า) ประมาณ 4.5 ล้านคนทั่วประเทศ โดยระยะแรกได้จัดสรรวัคซีน 2 ล้านโดสในต้นเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งบูรณาการกับงานอนามัยโรงเรียน เพื่อให้เด็กเข้าถึงวัคซีนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการฉีดวัคซีนไม่ได้เป็นเงื่อนไขในการเปิดเรียนต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ แต่การฉีดวัคซีนช่วยให้เด็กวัยเรียน มีความปลอดภัยเพิ่มขึ้น ส่วนเด็กที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน ก็สามารถเข้าเรียนได้ ควบคู่กับการเข้มงวดมาตรการป้องกันโรค ภายใต้การพิจารณาของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด สำหรับเด็กที่มีโรคประจำตัว ไม่ได้เรียนหนังสือ หรือกลุ่มนอกระบบการศึกษา สามารถเข้ารับวัคซีนที่โรงพยาบาลที่รักษาประจำได้ ส่วนเด็กเรียนที่บ้าน หรือโฮมสคูล ลงทะเบียนรับวัคซีนกับโรงพยาบาลใกล้บ้านได้เช่นกัน ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนให้แก่เด็กจะเป็นไปตามความยินยอมของนักเรียนและผู้ปกครอง ไม่เป็นการบังคับ
ด้าน นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากข้อมูลผลงานวิจัยในต่างประเทศ ในกลุ่มคนที่ได้รับวัคซีนชนิด mRNA ได้แก่ ไฟเซอร์ และโมเดอร์นา พบว่ามีความเสี่ยงเล็กน้อย ที่จะมีอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (myocarditis) ซึ่งพบบ่อยกว่าในเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กผู้ชาย หลังรับวัคซีนโดสที่ 2 อาจทำให้เจ็บหน้าอก หัวใจเต้นแรง แต่อาการจะหายไปเองใน 1 สัปดาห์ สำหรับประเทศไทยพบอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ที่คณะผู้เชี่ยวชาญวินิจฉัยแล้วว่า มีความเกี่ยวข้องกับวัคซีนเพียง 1 ราย เป็นเด็กชายอายุ 13 ปี มีภาวะโรคอ้วน แต่สามารถรักษาหายเป็นปกติแล้ว
ส่วนกรณีที่ผู้ปกครองมีความกังวล และประสงค์ให้บุตรหลานฉีดวัคซีนชนิดเชื้อตายนั้น หากบริษัทผู้ผลิตยื่นเอกสารขึ้นทะเบียน ปรับการใช้ในเด็ก กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเรียบร้อยแล้ว กระทรวงสาธารณสุข จะจัดบริการเพิ่มเติมให้ต่อไป
อย่างไรก็ตาม การป้องกันโควิด-19 ในสถานศึกษาที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขโดยกรมอนามัย ได้ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ จัดทำแนวปฏิบัติ Sandbox : Safety Zone in School สำหรับโรงเรียนที่มีความพร้อม สามารถเปิดการเรียนการสอนที่โรงเรียนได้ในสถานการณ์การระบาดของ โรคโควิด-19 ได้ จึงขอให้โรงเรียน และนักเรียนปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ด้วยการจัดอาคารและพื้นที่โดยรอบของโรงเรียนให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย ประเมินความพร้อมเปิดเรียนผ่าน Thai Stop COVID 2 Plus โดยถือปฏิบัติเข้มข้นต่อเนื่องกิจกรรมร่วมกันในรูปแบบ Small Bubble หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมข้ามกลุ่มกัน จัดระบบการให้บริการอาหารสำหรับนักเรียน ครู และบุคลากรในสถานศึกษา ตามหลักมาตรฐานสุขาภิบาลอาหารและหลักโภชนาการ จัดการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมให้ได้ตามแนวปฏิบัติด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมในการป้องกันโรคโควิด-19 ในสถานศึกษา ได้แก่ การระบายอากาศภายในอาคาร การทำความสะอาด คุณภาพน้ำอุปโภคบริโภค และการจัดการขยะ ควบคุมการเดินทางเข้าและออกจากโรงเรียนอย่างเข้มข้น มีระบบติดตามเข้มงวดของครู และบุคลากร พร้อมเฝ้าระวังตนเองผ่าน Thai save Thai สม่ำเสมอ ตรวจคัดกรองและสุ่มตรวจ โดยใช้วิธี Rapid Antigen Test รวมถึงการได้รับวัคซีนของครู บุคลากร ผู้ปกครอง และนักเรียน ตามเกณฑ์และบริบทของพื้นที่ ในกรณีที่โรงเรียนมีการเปิดเรียนแล้ว พบการติดเชื้อภายในโรงเรียน ต้องปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด