คอลัมนิสต์

4 ปีสภาผู้แทนราษฎร ประชาชนพึ่งไม่ได้ แถมก่อปัญหา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"4 ปีตลอดอายุของสภาชุดแรกของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่กำลังจะสิ้นสุดลงในเร็วๆ นี้ เป็นภาพสะท้อนความล้มเหลวของการปฏิรูปการเมืองอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้"

ถ้าในวันที่ 23 มีนาคมนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร จะทำให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่กำลังจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่สองต่อจาก ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ที่สามารถอยู่ในตำแหน่งครบ 4 ปี (17 กุมภาพันธ์ 2544 – 11 มีนาคม 2548) โดยปราศจากการยุบสภาเหมือนนายกรัฐมนตรีในอดีตหลายคนที่ผ่านมา

4 ปีสภาผู้แทนราษฎร ประชาชนพึ่งไม่ได้ แถมก่อปัญหา

อย่างไรก็ตาม แม้พลเอกประยุทธ์ จะประกาศยุบสภาฯก่อนวันที่ 23 มีนาคม แต่ก็ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นนายกรัฐมนตรีที่อยู่ในตำแหน่งนานที่สุดคนหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยอย่างไม่ต้องสงสัย

เมื่อพลเอกประยุทธ์ กลายเป็นอีกหน้าประวัติศาสตร์ของการเมืองไทยแล้ว สภาผู้แทนราษฎรชุดแรกตามรัฐธรรมนูญ 2560 ย่อมเป็นบันทึกอีกหน้าหนึ่งเช่นกัน เนื่องจากตลอด 4 ปีมานี้ สภาผู้แทนราษฎรที่ถูกสร้างด้วยรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกงกลับไม่ได้เป็นสภาผู้แทนราษฎรให้สมกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมากนัก ซึ่งในทัศนะส่วนตัวถือโอกาสสรุปภาพรวมของสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 25 เป็นประเด็นดังนี้ 

นายมีชัย ฤชุพันธุ์

1.การเลือกตั้งระบบจัดสรรปันส่วนผสม ย้อนกลับไปเมื่อครั้งมีการร่างรัฐธรรมนูญภายใต้กุนซือที่ชื่อ ‘มีชัย ฤชุพันธุ์’ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ได้คิดค้นวิธีการดังกล่าวด้วยปรัชญาที่ว่า "เสียงของประชาชนต้องไม่ตกน้ำ ต้องไม่เกิดเผด็จการรัฐสภา" การเลือกตั้งด้วยบัตรใบเดียวที่ให้เลือกทั้งส.ส.ระบบแบ่งเขตเลือกตั้งและบัญชีรายชื่อไปพร้อมกัน ก่อให้เกิดสภาผู้แทนราษฎรที่มีเสียงข้างมากประกอบด้วยพรรคการเมืองมากกว่า 10 พรรค

สภาผู้แทนราษฎรไม่ได้เป็นเผด็จการรัฐสภาก็จริง แต่ด้านหนึ่งสภาฯก็ไม่สามารถทำงานนิติบัญญัติได้เต็มศักยภาพ ดังจะเห็นได้จากข้อมูลการประชุมของสภาผู้แทนราษฎรตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2562 – วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งรวบรวมโดยสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ระบุว่า

 

การประชุมทั้งหมด 224 ครั้ง มีร่างพระราชบัญญัติที่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา 50 ฉบับ บรรจุระเบียบวาระที่เพื่อรอการพิจารณาในวาระที่ 1 ของสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 63 ฉบับ คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้วรอการพิจารณาในวาระที่ 2 และที่ 3 จำนวน 11 ฉบับ อยู่ระหว่างนายกรัฐมนตรีพิจารณาให้คำรับรอง 37 ฉบับ  

 

จากตัวเลขข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่าการทำงานของสภาชุดนี้มีความบกพร่องพอสมควร เป็นไปได้อย่างไรที่ตลอด 4 ปี พิจารณากฎหมายได้สำเร็จเพียง 50 ฉบับ แต่กลับมีกฎหมายที่ค้างมากกว่า 100 ฉบับ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ากติกาที่ทำให้เกิดรัฐบาลผสมมากเกินไปเป็นอุปสรรคต่อทำงานของสภา ควบคุมเสียงข้างมาก จนเกิดเหตุการณ์สภาล่มหลายครั้ง

นายชวน หลีกภัย

2. ประธานสภาผู้แทนราษฎรที่ชื่อ ‘ชวน หลีกภัย’ มีนักการเมืองไม่กี่คนที่จะมีโอกาสได้ขึ้นมาเป็นประมุขฝ่ายนิติบัญญัติถึงสองครั้ง ซึ่งการก้าวขึ้นมาเป็นประธานสภาครั้งที่สอง หลังจากดำรงตำแหน่งดังกล่าวครั้งแรกเมื่อปี 2529 ย่อมถูกคาดหวังว่าจะเป็นผู้นำที่สามารถเรียกศรัทธาจากประชาชนให้กลับมาเชื่อมั่นในระบบรัฐสภาได้ แต่เหตุใดกลับไม่เป็นเช่นนั้น

 

ตอนแรกไฟแห่งความหวังว่าสภาจะเป็นทางออกให้กับประชาชนเริ่มจุดติด ภายหลัง ‘ชวน หลีกภัย’ ริเริ่มกระบวนการการสร้างความปรองดองอย่างเป็นระบบ แต่ไม่นานนักเรื่องก็เงียบหายไปโดยหาเหตุผลไม่ได้ ไม่เพียงเท่านี้หลายต่อหลายครั้งที่มีส.ส.มีพฤติกรรมที่แสดงออกเกินงาม หรือ สภาล่ม ประธานสภากลับแสดงท่าทีผ่านสื่อมวลชนด้วยคำว่า “เป็นเรื่องที่ต้องรับผิดชอบร่วมกัน” ซึ่งไม่เคยมีมาตรการคาดโทษหรือลงโทษเพื่อให้ส.ส.เป็นตัวอย่างที่ดีกับประชาชน

 

หากจะหาสาเหตุกันจริงๆ ต้องยอมรับยุคสมัยของประธานชวนหมดลงแล้ว การอาศัยบุญเก่าทางการเมืองมิอาจสร้างความยำเกรงได้เหมือนในอดีต อีกทั้งเมื่อประธานสภาคนนี้ไม่ได้มาจากพรรคพลังประชารัฐในฐานะพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ย่อมเป็นไปไม่ได้เลยที่ส.ส.จะเชื่อฟังประธานสภา ซึ่งนี่เองอาจเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อปรากฏการณ์สภาล่มหลายวันในช่วงปลายสมัยประชุมสภาที่ผ่านมา

4 ปีสภาผู้แทนราษฎร ประชาชนพึ่งไม่ได้ แถมก่อปัญหา

3. รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกงสุดโต่ง อย่างที่ทราบกันดีรัฐธรรมนูญ 2560 ต้องการเข้ามาเป็นกลไกปราบการทุจริต ทว่าอีกมุมหนึ่งกลายเป็นกำแพงกีดกันการทำงานของส.ส. ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ มาตรา 144 บทบัญญัติที่ว่าด้วยการห้ามไม่ให้ผู้แทนราษฎรเข้าไปแทรกแซงการใช้งบประมาณแผ่นดิน ซึ่งกำหนดบทลงโทษแรงถึงขั้นเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิต 

 

อย่างไรก็ดี ในทางปฏิบัติมาตรา 144 มีผลกระทบต่อการทำหน้าที่ส.ส. โดยเฉพาะระหว่างสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 2019 ซึ่งประชาชนไม่ได้รอรับการช่วยเหลือจากกลไกราชการประจำปกติได้ จำเป็นต้องอาศัยกำลังของส.ส.ช่วยกระทุ้งให้ระบบราชการเห็นถึงปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน แต่ที่ผ่านมาส.ส.ไม่กล้าเข้าไปประสานงานกับส่วนราชการอย่างศักยภาพเหมือนอดีต เนื่องจากกลัวถูกร้องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ

 

ดังนั้น มาตรา 144 ควรได้รับการพิจารณาอย่างจริงจังว่ามีความจำเป็นที่ต้องแก้ไขหรือไม่ เพื่อรักษาความสมดุลระหว่างการปราบโกงและการช่วยเหลือประชาชน เพราะที่ผ่านมาพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ารัฐธรรมนูญที่มีความสุดโต่ง นอกจากจะไม่แก้ปัญหาแล้วยังกลับสร้างปัญหาแทน

 

4.การแก้ไขรัฐธรรมนูญผิดที่ผิดทาง จากที่หลายคนคิดว่ารัฐธรรมนูญ 2560 จะไม่มีวันถูกแก้ไขได้ เพราะมีวุฒิสภาเป็นอุปสรรค แต่ที่สุดแล้วการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้เกิดขึ้น เพียงแต่เป็นการแก้ไขภายใต้ประโยชน์ทางการเมืองมากกว่าประโยชน์ของประชาชน

 

บทบัญญัติที่สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาต่างแก้ไขร่วมกัน คือ การเปลี่ยนระบบเลือกตั้งจากการเลือกด้วยบัตรหนึ่งใบ เป็นการเลือกตั้งด้วยระบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ แยกการลงคะแนนขาดกันชัดเจนระหว่างส.ส.ระบบแบ่งเขตเลือกตั้งและส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ 

4 ปีสภาผู้แทนราษฎร ประชาชนพึ่งไม่ได้ แถมก่อปัญหา

หลายครั้งที่นักการเมืองต่างบอกตรงกันว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหา ต้องยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ศาลรัฐธรรมนูญเองก็ชี้ทางให้เห็นแล้วว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อนำไปสู่การจัดทำใหม่ทั้งฉบับสามารถกระทำได้ ภายใต้เงื่อนไขที่ต้องผ่านการทำประชามติ แต่ที่สุดแล้วการทำประชามติเพื่อฟังเสียงของประชาชนไม่เกิดขึ้น ทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติยังไม่เห็นถึงความสำคัญของการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน รวมทั้งการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างต่างๆ 

 

ไม่ต่างอะไรกับการที่สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาสมคบคิดเพื่อรักษาอำนาจของตัวเอง สภาฯต้องการระบบเลือกตั้งแบบใหม่ที่สร้างความได้เปรียบให้กับพรรคการเมืองใหญ่ วุฒิสภาเองต้องการรักษาอำนาจที่มีอยู่เดิมเอาไว้ โดยเฉพาะการมีสิทธิเลือกนายกรัฐมนตรี เมื่อเป็นเช่นนี้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ปรากฏผลออกมาจึงเป็นแค่ประโยชน์ต่างตอบแทนของฝ่ายการเมืองเท่านั้น 

 

ทั้งนี้ ภาพรวม 4 ปีตลอดอายุของสภาภาชุดแรกของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่กำลังจะสิ้นสุดลงในเร็วๆ นี้ เป็นภาพสะท้อนความล้มเหลวของการปฏิรูปการเมืองอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้
 

 

คอลัมนิสต์ : ธารนรินทร์ เจริญกิจ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ