คอลัมนิสต์

ส่อง ‘พรรคการเมือง’ แข่งนโยบายเอาใจ ‘คนแก่’ เพิ่มสวัสดิการ-เงินผู้สูงวัย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง66 ที่เป็น ผู้สูงอายุ มี 14,378,037 คน คิดเป็น 27.48 % ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด ส่งให้ ‘พรรคการเมือง’ แข่งนโยบายเอาใจ ‘คนแก่’ ดันเพิ่มสวัสดิการ-เงินผู้สูงวัย

นับถอยหลังใกล้เลือกตั้ง2566 ข้อมูลประชากรไทยที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน เดือนธันวาคม 2565 กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย พบว่า เป็นผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ที่มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด 52,322,824 คน ในจำนวนนี้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรกมีมากกว่า 4 ล้านคน และเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เป็น ผู้สูงวัย มีจำนวน 14,378,037 คน คิดเป็นร้อยละ 27.48 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด

 

ผู้สูงวัย เป็นกลุ่มผู้มีสิทธิเลือกตั้ง2566 ในสัดส่วนที่มากเป็นอันดับสอง รองจาก เจเนอเรชั่น X เป็นกลุ่มที่มีจำนวนผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้งมากที่สุด มีจำนวน 16,151,442 คน คิดเป็นร้อยละ 30.87 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด

 

ด้วยปัจจัยดังกล่าว การเลือกตั้ง66 ส่งผลให้พรรคการเมืองต่างๆ ออกนโยบายประชานิยมที่หลากหลาย มีทั้งนโยบายเพิ่มสวัสดิการ เพิ่มเงินผู้สูงอายุให้อย่างชัดเจน มีการคาดหวังคะแนนเสียงจากกลุ่ม ผู้สูงอายุ หรือ คนที่เกษียณอายุ เอาไว้ค่อนข้างสูง ทำให้แต่ละพรรคการเมืองเข็นแคมเปญแข่งขันกันแบบดุเดือด

 

“คมชัดลึก” พาส่อง นโยบาย ‘พรรคการเมือง’ ไหนโดนใจ ‘ผู้สูงวัย' บ้าง เนื่องจากทุกพรรคการเมืองให้ความสนใจคะแนนเสียงกลุ่มผู้สูงอายุมากเป็นพิเศษ แทบทุกพรรคมีทั้งเปิดนโยบายชัดเจน แต่บางพรรคขอประกาศนโยบายผู้สูงอายุหลังยุบสภา เท่านั้น

 

พรรคไทยสร้างไทย

พรรคการเมืองแรก ที่ชูเรื่องการเพิ่มเบี้ยคนชรา 3,000 บาทต่อเดือน โดยในเฟสแรก จะช่วยเหลือเฉพาะคนมีรายได้ไม่เพียงพอก่อนหน้านี้ รศ.โภคิน พลกุล ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนประเทศระบุ ในปีงบ 2565 มีการจัดสรรงบเพื่อจ่ายเป็นเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเดือนละ 600-1,000 บาท อยู่ที่ประมาณ 8 หมื่นล้านบาท และหากมีการปรับเพิ่มเบี้ยยังชีพเป็น 3,000 บาท จะต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นเป็น 4.2 แสนล้านบาท

 

ขณะที่คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย ระบุว่า บำนาญประชาชน 3,000 บาทเป้าหมาย 5 ล้านคนปัจจุบันมีสมัครเป็นเครือข่ายบำนาญประชาชนแล้วกว่า 1,100,000 คน หากสามารถให้คนเข้าสู่ระบบการออมภาคสมัครใจและภาคบังคับเพิ่มเติมได้ก็จะสร้างระบบบำนาญประชาชนในระยะยาวได้

 

พรรครวมไทยสร้างชาติ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะแคนดิเนตนายกรัฐมนตรีของพรรค ได้ประกาศนโยบายของพรรคเกี่ยวกับผู้สูงอายุในเวทีปราศรัยใหญ่ที่จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 25 ก.พ.ที่ผ่านมา ภายใต้ชื่อแคมเปญ “ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ” เช่น เพิ่มสิทธิบัตรสวัสดิการพลัสเป็น 1,000 บาทต่อเดือน เริ่มจากกลุ่มรายได้น้อย ปรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจากแบบขั้นบันได (อายุ 60 ปี ได้เดือนละ 600 บาท อายุ 70 ปี ได้ 700 บาท อายุ 80 ปี ได้ 800 บาท )ให้เท่ากันทุกช่วงอายุ คนละ 1,000 บาทต่อเดือน

 

นอกจากนี้ยังมีนโยบายสร้างศูนย์ดูแลผู้สูงวัย สร้างศูนย์สันทนาการผู้สูงอายุชุมชน และ ลดภาษีให้กับบริษัทเอกชนที่จ้างงานผู้สูงอายุ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ แคนดิเนตนายกฯพรรครวมไทยสร้างชาติประกาศนโยบายผู้สูงอายุ ที่นครราชสีมา

พรรคเพื่อไทย

“นโยบายพรรคเพื่อไทย จะเปิดตอนยุบสภา ทำไมไม่บอกตอนนี้ ถ้าบอกตอนนี้จะมีคนลอก ถ้าลอกแล้วทำเป็นก็จะไม่ว่า แต่ลอกแล้วทำไม่เป็นจะเสียของ ฉะนั้นเราจะไม่ยกเลิกบัตรคนจน แต่เราจะหาอาชีพให้พี่น้อง หาสวัสดิการดุแลสุขภาพ” สุทิน คลังแสง รองหน้าหน้าพรรคเพื่อไทย ปราศรัยที่จ.สุรินทร์ เมื่อวันที่ 5 มี.ค. ที่ผ่านมา

 

แม้ว่าพรรคเพื่อไทยยังไม่ได้เปิดตัวนโยบายผู้สูงอายุอย่างเป็นทางการ แต่หากดูจากแนวความคิดของแกนนำที่มีส่วนกำหนดนโยบายพรรคอย่าง อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ระบุว่านโยบายการดูแลผู้สูงอายุต้องเพิ่มประสิทธิภาพของ 30 บาทรักษาทุกโรคซึ่งพรรคเพื่อไทยจะเพิ่มประสิทธิภาพให้ดีขึ้น ดูแลกลุ่มเปราะบางให้ดีขึ้น รวมถึงผู้สูงอายุ รวมทั้งการเพิ่มรายได้ผู้สูงอายุ

 

ว่ากันว่า ปี 2565 พรรคเพื่อไทยเคยคิดนโยบาย เรื่องหวยบำเหน็จแทนที่จะเล่นหวยแล้วเงินหายไป เปลี่ยนเป็นนำเงินที่ซื้อไปฝากไว้ ลักษณะเดียวกับสลากออมสิน แต่จ่ายทุกงวด เก็บให้จนอายุ 60 ปีและจ่ายคืนมา มีเงินเหลือเก็บให้ใช้ในวัยเกษียณ

 

พรรคประชาธิปัตย์

เสนอนโยบายการออมเพื่อวัยเกษียณเป็นภาคบังคับ ข้อเสนอเรื่องกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ที่พนักงานต่าง ๆ ออมเงินไว้ ควรเปิดโอกาสให้พนักงานนำเงินตรงนี้ไปซื้อบ้าน หรือ สินทรัพย์ไว้ได้ เสนอให้มีการขยายอายุเกษียณจาก 60 ปีเพิ่มไปอีก เพราะบางคนยังไม่มีเงินออมเลี้ยงดูตัวเอง

 

ปรับระบบประกันสุขภาพที่มีหลายระบบ และมาตรฐานแตกต่างกัน ให้มีมาตรฐานใกล้เคียงกัน เพื่อไม่ให้เกิดความลักลั่น ไม่เหลื่อมล้ำ และใช้การรักษาสุขภาพของคนที่จะเข้าสู่การเป็นผู้สูงอายุมากขึ้น

 

พรรคพลังประชารัฐ

พรรคได้มีการประชุมคณะกรรมการพรรคและเห็นชอบให้กำหนดนโยบายสำหรับผู้สูงวัย โดยปรับบัตรสวัสดิการผู้สูงอายุเป็นนโยบาย 3 4 5 และ 6 7 8 โดยผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปจะได้รับ 3,000 บาท อายุ 70 ปีขึ้นไป จะได้รับ 4,000 บาท และอายุ 80 ปีขึ้นไปจะได้รับ 5,000 บาท โดยทางพรรคได้มีการชี้แจงกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และเตรียมใช้หาเสียงต่อไป

 

พรรคก้าวไกล

เสนอนโยบายเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุเป็น 3,000 บาท ภายในปี 2570 เพื่อยกระดับรายได้ของผู้สูงอายุให้พ้นเส้นความยากจน และเติมสวัสดิการผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยทันที

 

สร้างระบบดูแลผู้ป่วยติดเตียง การสมทบเงินจากเงินผู้สูงวัยเข้าสู่กองทุนดูแลผู้สูงอายุ เพื่อเป็นงบประมาณให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในการพัฒนาระบบและโครงสร้างพื้นฐานด้านการดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดเตียงภายในท้องถิ่น

 

รวมถึงการจ้างงานผู้ดูแลจัดสรรงบประมาณโดยเฉลี่ยในการดูแลผู้สูงอายุ หรือ คนพิการที่ติดบ้าน-ติดเตียง ที่ประมาณ 9,000 บาท/คน/เดือน ซึ่งประกอบด้วย งบประมาณในการจัดหาอุปกรณ์ (ประมาณ 1,500 บาท/คน/เดือน) และการจ้างผู้ดูแลผู้สูงอายุมืออาชีพ (ประมาณ 7,500 บาท/คน/เดือน)โดยมีอัตราผู้ดูแลโดยเฉลี่ย 1 คน ต่อ ผู้ป่วย 2 คน

 

พรรคชาติพัฒนากล้า

มีนโยบายที่เรียกว่ายุทธศาสตร์สีเงินซึ่งเป็นนโยบายเพื่อผู้สูงอายุ โดยพรรคจะให้เงินสนับสนุนผู้ประกอบการเพื่อจ้างงานผู้สูงวัยและมีกองทุน 50,000 บาทต่อครัวเรือน เพื่อปรับอารยสถาปัตย์เพื่อการใช้ชีวิตของผู้สูงวัยโดยตั้งเป้า 4 ล้านครัวเรือนในปีแรก

 

พรรคภูมิใจไทย

มีนโยบาย เกี่ยวกับการเอาใจใส่ดูแลสวัสดิการกองทุนประกันชีวิต 60 ปี ขึ้นไป เสียชีวิตได้ 1 แสนบาท และสามารถกู้ได้ 20,000 บาท ไม่ต้องมีคนค้ำถือเป็นเรื่องดี จะเป็นการสร้างพื้นฐาน พัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับผู้สูงอายุ และบางคนที่ยังสามารถทำงานเลี้ยงชีพได้ จะได้ต่อยอดในการลงทุน พัฒนาคุณภาพชีวิต หรือเวลาเจ็บป่วยเสียชีวิต จะได้ไม่เป็นภาระลูกหลาน

 

พรรคชาติไทยพัฒนา

ได้มีการเปิดตัวนโยบาย“WOW THAILAND” Wealth Opportunity and Welfare For Allโดยการสร้างความมั่งคั่ง สร้างโอกาส และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีเพื่อประชาชน”โดยหนึ่งในนั้น คือนโยบาย สร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ผู้สูงอายุ และจัดเบี้ยให้คนพิการเดือนละ 3,000 บาท


นโยบายผู้สูงอายุ หรือ ผู้สูงอายุ เป็นงานด้านสังคม เป็นจุดสำคัญในการดูแลคุณภาพชีวิตของคนไทยหลังวัยเกษียณ เป็นงานที่ยากและเห็นผลช้า ต้องอาศัยความจริงใจจากพรรคการเมืองในการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ “คนแก่” สามารถดำรงชีพอยู่ได้ด้วยศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อย่างเสมอภาค และเท่าเทียมกัน

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ