Online Program

นิมิตหมายอันดี ช่อ ปลื้มเปิดให้เข้า มธ. ไม่เชื่อรุนแรง อย่างมากแค่เตาหมูปิ้งระเบิด

นิมิตหมายอันดี ช่อ ปลื้มเปิดให้เข้า มธ. ไม่เชื่อรุนแรง อย่างมากแค่เตาหมูปิ้งระเบิด

19 ก.ย. 2563

ช่อ พรรณิการ์ วานิช ปลื้มเปิดให้เข้า มธ. ชี้ นิมิตหมายอันดี ไม่มีภาพผู้ชุมนุมพังประตู ไม่เชื่อมีความรุนแรงเกิดขึ้น อย่างมากน่าจะแค่เตาหมูปิ้งระเบิด ย้ำ รัฐบาลถึงเวลาฟัง อย่าขวางกั้นประชาชน

19 กันยายน 2563 น.ส.พรรณิการ์ วานิช แกนนำคณะก้าวหน้า เปิดเผยว่า การร่วมชุมนุมวันนี้มาในฐานะประชาชน มาเติมเต็มพลังมวลชน ยืนยันว่า วันนี้มามอบกำลังใจให้กับผู้ร่วมชุมนุม เนื่องจากตอนนี้เป็นการต่อสู้ของประชาชน โดยตนได้มาติดตามบรรยากาศการเตรียมความพร้อมการชุมนุมตั้งแต่เมื่อคืน (18 ก.ย.) ที่ผ่านมา และเชื่อว่าสุดท้ายแล้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะยอมเปิดพื้นที่ให้ชุมนุม โดยอ้างอิงถึงเมื่อเหตุการณ์ตุลาคมในอดีต ก็มีการเปิดพื้นที่ให้ประชาชนชุมนุมเช่นเดียวกัน ทำให้เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาไม่มีภาพการตัดโซ่หรือพังประตู ซึ่งเป็นนิมิตหมายอันดี และคาดหวังว่าประชาชนจะเป็นพลังที่ไม่มีใครขวางกั้นได้ และรัฐบาลจะฟังประชาชนอย่างคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือไม่

 

ทั้งนี้ ไม่คิดว่าจะมีความรุนแรงใด ถ้าจะมีความรุนแรงอะไรเกิดขึ้นก็อาจจะแบบว่าเตาหมูปิ้งระเบิด บรรยากาศก็เป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยเฉพาะมีร้านค้าขายอาหาร ของแจกมากมาย ซึ่งบรรยากาศมีแต่ความคึกคัก และรู้สึกดีเป็นพิเศษ เนื่องจากว่ามีคนร่วมชุมนุมทุกกลุ่มทุกวัย ซึ่งเมื่อตอนการชุมนุม 18 ส.ค. ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ร้อยละ 80 เป็นวัยรุ่น แต่ครั้งนี้มีครอบครัวพาลูกมา มีอดีตข้าราชการเกษียณ เช่น ผู้พิพากษา อัยการ เป็นต้น ขณะเดียวกันก็มีเด็กมัธยมและนักศึกษามาร่วม พร้อมย้ำว่า เป็นความสวยงามในการชุมนุมตามระบอบประชาธิปไตย

อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวยังเห็นว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐพยายามสกัดกั้นการชุมนุมไม่ว่าจะเป็นทางเรือที่มีผู้ชุมนุมมาจากท่าน้ำนนท์ หรือประชาชนที่เดินทางมาจากภาคเหนือ แต่สุดท้ายก็เดินทางมาได้ ซึ่งขอย้ำว่า รัฐบาลจะต้องยอมรับว่านาทีนี้ประชาชนจะไม่ยอมอีกต่อไป ประชาชนลุกขึ้นต่อสู้แล้วโดยไม่มีอะไรขวางกั้น หากรัฐบาลพยายามขวาง มีแต่ยิ่งพัง จะสร้างความเสียหายให้แก่ประเทศชาติ ขอให้รับฟังเสียงประชาชน

 

น.ส.พรรณิการณ์ กล่าวด้วยว่า ส่วนตัวเชื่อการชุมนุมครั้งนี้จะส่งสัญญาณให้รัฐบาลและรัฐสภา ในการพิจารณาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันที่ 23 - 24 ก.ย.นี้ พร้อมย้ำว่า ให้พิจารณาร่างของฝ่ายค้านที่มีการกำหนดร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วยการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้งจากประชาชนทั่วประเทศ

ส่วนการตั้ง ส.ส.ร. นั้น โมเดลของรัฐบาลที่กำหนดมาจากการเลือกตั้ง 150 คน และเป็นการเลือกกันเองอีก 50 คน จากนักวิชาการนักศึกษาตัวแทนรัฐสภา โดยมองว่าเป็นโมเดลหวยล็อก ซึ่งไม่ต่างจากการทำรัฐธรรมนูญปี 2560 และไม่อยากเห็นการแก้ปัญหาแบบพายเรือในอ่างกลับไปสู่วังวนเดิม และถ้ารัฐบาลจริงใจในการแก้ปัญหา ก็ควรรับร่างแก้รัฐธรรมนูญของฝ่ายค้านที่มีการเลือกตั้ง ส.ส.ร. 200 คน ให้มาจากการเลือกตั้งจากประชาชนทั้งประเทศ แต่ถ้าหากไม่ยอมให้เลือกตั้งทั้งหมดก็จะเกิดคำถามว่ากลัวอะไร

 

นอกจากนี้ ส่วนตัวตั้งข้อสังเกตถึง ส.ส.ร. 50 คน ตามร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาล โดยมีการคัดเลือกจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จึงมองว่าหากเป็นเช่นนี้ กกต. จะทำอะไรก็ได้ และยังมีสัดส่วนของรัฐสภา ซึ่งคาดว่าในจำนวนนี้จะมีสัดส่วนของรัฐบาลราว 40 คน ที่ถูกเลือกมา และท้ายที่สุด ส.ส.ร. ที่มีแต่คนของรัฐบาลจะต่างอะไรกับการยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2560

 

นิมิตหมายอันดี, พรรณิการ์ วานิช