Online Program

"TDRI" แนะใช้กลไกตลาดคุมราคายา "รพ.เอกชน"

15 พ.ค. 2562

"TDRI" แนะใช้กลไกตลาดคุมราคายา "รพ.เอกชน"

การเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเอกชนเป็นเรื่องที่ต้องทำใจว่าจะต้องพบกับค่ารักษาพยาบาลที่แพงกว่าโรงพยาบาลของรัฐ เพื่อแลกกับการไม่ต้องต่อแถวรอคิว หรือการบริการที่สะดวกสบาย แต่เรื่องนี้กลับกลายเป็นข้อถกเถียงอีกครั้งว่า ค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนนั้นแพงเกินจริงไปจนต้องมีมาตรการควบคุมหรือไม่

รายการชั่วโมงสืบสวน 12 พ.ค. 62 -  จากกรณี คณะอนุกรรมการพิจารณามาตรการกำกับดูแลยาและเวชภัณฑ์และบริการทางการแพทย์ กำหนดมาตการกำกับดูแลราคายาและเวชภัณฑ์ 3 แนวทาง เสนอให้คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ หรือ กกร. คือ 1.กำหนดให้ปิดป้ายแสดงราคายาเวชภัณฑ์ ให้ชัดเจน ห้ามขายเกินราคากำหนด 2. นำรายการยาที่จำเป็นกว่า 3,000 รายการ และเวชภัณฑ์ 800 รายการขึ้นเว็บไซต์ของโรงพยาบาลและของกรมการค้าภายใน เพื่อให้ประชาชนผู้ใช้บริการทราบข้อมูลการคิดค่ายาและค่าบริการของโรงพยาบาลแต่ละแห่ง และ 3.ประสานกระทรวงสาธารณสุข แจ้งทุกโรงพยาบาลระบุรายการยาและเวชภัณฑ์ในใบสั่งยา เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ป่วยที่ต้องการซื้อยาภายนอกโรงพยาบาล สอดคล้องกับ ดร.เดือนเด่น ผอ.ด้านนโยบายการแข่งขันทางการค้าฯ TDRI ที่เห็นว่าการออกใบสั่งยาเพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ป่วย จะส่งผลในเชิงกลไกตลาดที่จะกดราคายาของโรงพยาบาลเอกชนให้ต่ำลง "ดิฉันมองว่าถ้าผู้บริโภคมีทางเลือกที่จะซื้อยาที่อื่น อย่างสะดวกไม่ต้องอึดอัดใจ ไม่ต้องไปร้องขออะไรเยอะแยะ โรงพยาบาลเอกชนอยากจะขายราคาแพงก็เรื่องของเขา ถ้าเผื่อดิฉันมีทางเลือกกว่านี้ หากหมอเขียนใบสั่งยา ว่าดิฉันต้องซื้อยาพาราฯ 10 เม็ด ก็ไปดูราคาที่ติดไว้ที่โรงพยาบาลว่าเขาขายเม็ดละ 10 บาท แล้วดิฉันก็รู้ว่าดิฉันเดินไปหน้าซอยขายยาพาราฯ เม็ดละ 1 บาท ก็ตามใจดิฉัน ดิฉันจะซื้อ 10 บาทก็เรื่องของดิฉัน เพราะฉะนั้นตราบใดที่ดิฉันมีทางเลือกดิฉันไม่ได้ไปใส่ใจเท่าไหร่ กับราคาที่เขาขายในโรงพยาบาล เพราะดิฉันเชื่อว่ากลไกตลาดสุดท้ายแล้วจะกดราคาเค้าลงมาอย่างแน่นอนเพราะถ้าเผื่อเขาไม่อยากให้คนไข้คนนี้ไปซื้อ 1 บาทตรงนู้น ก็อาจจะขาย 2 บาทตรงนี้ก็ได้ เพราะต่างกันบาทเดียวขี้เกียจเดินตากแดดซื้อมาตรงนี้แหละ ทานข้าวตรงนี้ด้วย ดังนั้นเนี่ยตรงนี้จะเป็นมาจิ้น ที่รับได้ดัง นั้นดิฉันไม่อยากจะไปนั่งกำกับ"  ดร.เดือนเด่น กล่าว