คอลัมนิสต์

10 ธันวาคม 89 ปีรัฐธรรมนูญไทย

10 ธ.ค. 2564

คมชัดลึก ส่องรัฐธรรมนูญไทยในถุงดำ 89 ปีรัฐธรรมนูญไทยที่ถูกฉีกครั้งแล้ว ครั้งเล่า และเรื่องราว บนวิบากกรรมทางการเมืองของประเทศ กับความหวังเมื่อไหร่จะมีรัฐธรรมนูญฉบับถาวรที่แท้จริง

 

10 ธันวาคม 2564  เวียนมาบรรจบ ตรงกับ "วันรัฐธรรมนูญ"กันอีกครา เหตุที่กำหนดให้เป็นวันรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเป็นวันที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 ผ่านมาถึงวันนี้รัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศได้เดินทางมาเป็นเวลา 89 ปีแล้ว 

 

เป็น "89 ปีรธน.ไทย" ที่มีการทิ้งร่องรอยประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางการเมืองแลกมาด้วยเลือดเนื้อและชีวิต

 

เป็นระยะเวลาอันยาวไกลที่เต็มไปด้วยการแก่งแย่งชิงอำนาจ ผ่านการเข้ามาปรับเปลี่ยนแก้ไขรธน.ซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนถึงปัจจุบันรวม 20 ฉบับแล้ว 

 

10 ธันวาคม 89 ปีรัฐธรรมนูญไทย

 

หากพิจารณาบรรดารัฐธรรมนูญ 20 ฉบับนั้น ได้มีการยกเลิก หรือตามประสาสื่อบัญญัติว่า เป็นการ"ฉีกรัฐธรรมนูญ" ซึ่งก็ล้วนเกิดขึ้นจากการรัฐประหาร

 

ฉีกแล้วฉีกอีก ด้วยข้ออ้างสารพัด เช่น รัฐธรรมนูญฉบับที่เป็นอยู่ไม่ทันสมัยบ้าง จึงต้องการให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นบ้าง ต้องการให้มีสิทธิเสรีภาพเต็มที่บ้าง แต่ต่อให้ปรับเปลี่ยนแก้ไขเพียงใดให้ดูดีตามคำกล่าวอ้าง ก็ยังไม่อาจทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนั้นๆอยู่ยั้งยืนยงเหมือนนานาอารยประเทศ

 

รัฐธรรมนูญที่ถูกฉีกกันเป็นว่าเล่นจึงไม่ต่างกับเศษกระดาษด้อยค่าทิ้งลงไปในถุงดำ หรือบางยุคสมัย รัฐธรรมนูญก็ยังถูกคลุมด้วยถุงดำราวกับประชาชนถูกคลุมถุงชนด้วยซ้ำไป      

 

เพราะเมื่อรัฐประหารทำการฉีกรัฐธรรมนูญ-ยกร่างขึ้นใหม่-ทำการประกาศใช้-จัดให้มีการเลือกตั้ง-ปรากฎว่ากลับเข้ามาใหม่ วนเวียนอยู่ในลูปนี้มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน  

 

10 ธันวาคม 89 ปีรัฐธรรมนูญไทย

 

ประเทศไทยเคยมีการรัฐประหารมาแล้วทั้งสิ้น 13 ครั้ง โดย 9 ครั้งได้ประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ในขณะนั้นทั้งฉบับโดยคณะรัฐประหารชุดต่างๆ 

 

มีเพียง 4 ครั้งเท่านั้น ได้แก่การรัฐประหารโดยพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ในปี พ.ศ.2476 ,พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ ในปี พ.ศ.2491 และจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในปี พ.ศ.2500 ที่ไม่มีการประกาศยกเลิก

 

กฎหมายสูงสุดของไทยที่มีระยะเวลาใช้บังคับสั้นที่สุด คือ พ.ร.บ.ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ.2475 ใช้บังคับระหว่างวันที่ 27 มิ.ย.2475 - 10 ธ.ค.2475 รวมระยะเวลาเพียง 5 เดือน 13 วัน ก่อนถูกยกเลิกเมื่อมีการประกาศใช้ "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม" ซึ่งถือเป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ฉบับแรกของประเทศ ซึ่งฉบับนี้เอง ใช้บังคับระหว่างวันที่ 10 ธ.ค.2475 - 9 พ.ค.2489 รวมระยะเวลา 13 ปี 4 เดือน 29 วัน  ก่อนถูกยกเลิกเนื่องจากมีการประกาศใช้ "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2489"

 

10 ธันวาคม 89 ปีรัฐธรรมนูญไทย

 

อย่างไรก็ดี จากประวัติศาสตร์ของการแก้ไขรธน. มีการตั้งชื่อให้รัฐธรรมนูญฉบับนั้นๆ ได้จดจำง่าย  อย่างเช่น รธน.ปี 2540 เรียกกันว่า"รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน" เพราะมีการออกแบบให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ(สสร.) ที่มีตัวแทนประชาชนจากหลากหลายสาขาวิชาชีพมาร่วมกันยกร่างรธน.ฉบับปี2540 ทำให้เกิดองค์กรอิสระตามรธน.ต่างๆ  เกิดระบบตรวจสอบถ่วงดุลย์ทั้งฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ จนทุกฝ่ายให้การยอมรับว่า นี่คือ "รธน.ฉบับประชาชนที่ดีที่สุด" ฉบับหนึ่ง นับตั้งแต่หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 เป็นต้นมา 

 

มีการให้ฉายารัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ว่า "รธน.หน้าแหลมฟันดำ"  ล้อมาจาก ท่านนต.ประสงค์ สุ่นศิริ ที่เคยดำรงตำแหน่งประธานกมธ.ยกร่างรธน. หรือถ้าย้อนอดีตกว่านั้น คือ"รธน.ใต้ตุ่ม" หรือ "รธน.ตุ่มแดง"  เหตุที่ตั้งชื่อแบบนั้น เนื่องจากคณะรัฐประหารยกร่างรธน.ชั่วคราวกลัวความลับรั่วไหลจึงซ่อนร่างรธน.ไว้ใต้ตุ่มสามโคก ก่อนนำขึ้นมาประกาศใช้ แต่ใช้ได้ไม่นานก็ถูกฉีก

 

เห็นได้ว่าหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองฯ ได้ให้กำเนิดพ.ร.บ.ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว 2475 เมื่อ 27 มิ.ย. 2475 มีทั้งหมด 39 มาตรา ผ่านมาถึงปัจจุบัน รธน.ปี 60 ซึ่งเป็นฉบับที่ 20 มีทั้งสิ้น 279 มาตรา  

 

พิจารณาการออกแบบแต่ละฉบับมีจำนวนมาตราไม่ต่ำกว่า  80-100 มาตราขึ้นไป ยิ่งหากนำทั้ง 20 ฉบับรวมกัน ลองกดเครื่องคิดเลขคำนวณดูเล่นๆไม่น่าจะน้อยกว่า 2,000 มาตราขึ้นไป  ขณะที่สำรวจอายุรธน.โดยเฉลี่ยอยู่ได้แค่ 4  ปีกว่า ก็แก้ไขกันอีกแล้ว   

 

แม้แต่ล่าสุดกับความพยายามของนักการเมือง ภาคประชาชน คงเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ถูกประทับตราว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับเผด็จการบ้าง  ฉบับสืบทอดอำนาจบ้าง 

 

ทว่า ภายใต้ความพยายามเคลื่อนไหวเรียกร้องให้แก้รธน. หนีไม่พ้นวาระซุ่มซ่อนแอบแฝงเข้ามาด้วย  ดังเห็นจากการเคลื่อนไหวเพื่อต้องการแก้ไขรธน.เพื่อนำไปสู่การปรับแก้หมวดที่เกี่ยวกับสถาบันเบื้องสูง ซึ่งไม่ส่งผลดีที่จะทำให้เกิดความขัดแย้งแตกแยกในบ้านเมือง ดังปรากฎภาพชัดอยู่ในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญต่อขบวนการล้มล้างการปกครองฯมาแล้ว 

 

แม้เส้นทางของรัฐธรรมนูญเดินทางมาไกลถึง89 ปีรธน.ไทย แต่อีกนั่นหล่ะ ยังคงวนเวียนอยู่กับคำว่า "แก้แล้วแก้อีก" เพื่อประโยชน์ของใครเป็นสำคัญ 

 

ตรงนี้น่าเป็นดัชนีชี้วัดได้ว่า ประเทศไทยยังไม่มีทีท่า จะเห็นรธน.ฉบับถาวรยืนยาวอย่างแท้จริงได้เมื่อไหร่