ไหว้ 'พระพรหม' พระพักตร์ไหนขอพรเรื่องใด พร้อม คาถาบูชาพระพรหม
9 พ.ย.ของทุกปี เป็น 'วันเกิดพระพรหม' ในการสักการะ พระพรหม ต้องจัดเตรียมของไหว้อย่างไร ไหว้พระพักตร์ไหนขอพรเรื่องใด และ คาถาบูชาพระพรหม ควรใช้บทใด
เนื่องด้วย พระพรหม คือ มหาเทพแห่งความอ่อนโยน งดงาม และความสงบเงียบ การถวายการบูชาพระพรหมจึงควรจัดการให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่ดูรกรุงรัง และหนาแน่นจนเกินไป
- พระพรหม ทรงโปรดกลิ่นหอมบางๆ ไม่โปรดการเสวยของหนักๆ การถวายของจึงไม่ค่อยจำเป็นนัก พระองค์ทรงโปรดสิ่งที่เป็นธรรมชาติมากที่สุด จึงควรถวายแต่ผลไม้ที่ไม่ปอกเปลือก ไม่จัดแต่ง และไม่ปรุงรส เพียงเลือกผลไม้สวยๆ มาล้างให้สะอาดก็ใช้ถวายได้แล้ว และที่สำคัญห้ามถวายเนื้อสัตว์เด็ดขาด
- ส่วนดอกไม้สด เป็นสิ่งที่พระองค์ทรงรับไว้อยู่เสมอ ไม่มีดอกไม้ชนิดใดในโลกนี้ที่ไม่เหมาะสมสำหรับพระพรหม
- สำหรับการจุดธูปและกำยานนั้น ควรเลือกที่มีกลิ่นหอม เย็น หรือ หอมบางๆ ไม่ควรใช้กลิ่นที่เข้มข้นรุนแรงเกินไป การจุดธูปบูชา พระพรหม ควรใช้ 4 ดอก หมายถึงพระพักตร์ทั้ง 4 ด้านของพระองค์ หรือใช้ 5 ดอกในกรณีพิเศษ ซึ่งไม่ควรจุดมากไปกว่านี้ เพราะจะทำให้สถานที่บูชานั้นมีควันธูปหนาแน่นจนเกินไป สิ่งที่มากเกินไปพระพรหมย่อมไม่ทรงโปรด
- น้ำดื่มสะอาดและนมวัว เป็นสิ่งที่ถวายพระพรหมได้เช่นเดียวกับการถวายเทพองค์อื่นๆ แต่ไม่จำเป็นต้องสรรหาน้ำที่ผ่านการปรุงแต่งรสชาติมาอย่างเอร็ดอร่อยหรือหอมหวาน เพียงใช้น้ำสะอาดหรือน้ำนมวัว อย่างละแก้วก็เพียงพอแล้ว
และสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ในการบูชา พระพรหม คือ การทำสมาธิถวาย เนื่องจากการประกอบสมาธิ หลับตา ภาวนา คือการหยุดกรรม หยุดการกระทำใดๆ อันจะก่อให้เกิดความเดือดร้อน ก่อให้เกิดบาป หากได้สมาธิถวายพระพรหมแล้ว ย่อมก่อให้เกิดความสุข เสมือนได้อยู่กับมหาเทพผู้สร้างตามลำพัง ได้มีเวลาพินิจพิจารณาถึงความเป็นไปในชีวิต การทำสมาธิอยู่เสมอจะส่งผลให้เกิดสติปัญญา เหมือนพระองค์ได้เปิดทางไปสู่สิ่งใหม่ๆ เมื่อมีสดิปัญญาและความสว่างเกิดขึ้นแล้ว การแก้ไขปัญหาต่างๆ ก็ลุล่วงไปได้
ของไหว้พระพรหม มีดังนี้
- ดอกไม้มีกลิ่นหอมทุกชนิด
- กำยานและธูป 4 ดอก ที่มีกลิ่นหอมเย็นบางๆ
- อาหารและผลไม้ที่ถวาย เป็นของที่ธรรมชาติมากที่สุด คือ ไม่ปรุงรสใดๆ
- ห้ามถวายเนื้อสัตว์เด็ดขาด
- การกราบไหว้พระพรหม
หากสถานที่กราบไหว้เป็นเทวาลัยขนาดใหญ่ ควรไหว้ พระพรหม ให้ครบทั้ง 4 พระพักตร์ เดินวนไปตามเข็มนาฬิกา เริ่มจาก
- พระพักตร์ที่ 1 (ประตูทางเข้าศาล) ขอเรื่องการงาน การเรียน การสอบแข่งขัน
- พระพักตร์ที่ 2 ขอเรื่องทรัพย์สิน เงินทอง
- พระพักตร์ที่ 3 ขอเรื่องสุขภาพ ครอบครัว
- พระพักตร์ที่ 4 ขอเรื่องโชคลาภ การเสี่ยงดวง
คาถาบูชาพระพรหม
โอม ปะระเมศะ นะมัสสะการัม โองการะ นิสสะวะรัม
พรหมเรสะยัม ภูปัสสะวา วิษณู ไวยะทานะโมโทติลูกะปัม
ทะระมา ยิกยานัม ยะไวยะลา คะมุลัม
สะทานันตะระ วิมุสะตินัม
นะมัสเต นะมัสเต จะอะการัง ตะโถวาจะ
เอตามาตาระยัต ตะมันตะรามา
กัตถะนารัมลา จะสะระวะปะติตัม
สัมโภพะกะละ ทิวะทิยัม มะตัมยะ
บทสวดบูชาพระพรหมแบบย่อ
โอม พรหมมายะ นะมะห์ (สี่จบ)