ไลฟ์สไตล์

รู้จัก "บุญข้าวประดับดิน" ประเพณีโบราณของชาวไทยอีสาน

รู้จัก "บุญข้าวประดับดิน" ประเพณีโบราณของชาวไทยอีสาน

29 ส.ค. 2566

ทำความรู้จัก"บุญข้าวประดับดิน" หรือบุญเดือนเก้า ประเพณีโบราณของชาวไทยอีสาน ตามความเชื่อทำบุญอุทิศให้ผู้ล่วงลับและวิญญาณในวันประตูนรกเปิด

วันสารทจีน เป็นประเพณีของคนไทยเชื้อสายจีน เป็นวันสำคัญที่ลูกหลานชาวจีนจะแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ โดยพิธีเซ่นไหว้ และยังถือเป็นเดือนที่ประตูนรกเปิดให้วิญญาณทั้งหลายมารับกุศลผลบุญได้  แต่ในพื้นถิ่นอีสานนั้น ยังมีประเพรีทางความเชื่อ ที่เป็นการทำบุญให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว จัดขึ้นในวันแรม 14 ค่ำ เดือน 9 ของทุกปี สำหรับในปี 2566 ตรงกับวันที่ 14 กันยายน ที่จะถึงนี้ ตามความเชื่อของพื้นถิ่นนั้น  ในวันแรม 14 ค่ำ เดือน 9 จะเป็นวันที่ประตูนรกเปิดออก วิญญาณของผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว รวมถึงเปรต สัตว์นรกต่าง ๆ จะขึ้นมาอยู่บนโลกมนุษย์ จึงเกิดเป็นประเพณีบุญข้าวประดับดิน 

บุญข้าวประดับดิน หรือ บุญเดือนเก้า

สำหรับประวัติของ บุญข้าวประดับดิน หรือ บุญเดือนเก้า ประเพณีภาคอีสาน ที่จัดขึ้นเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว และสัตว์นรกหรือเปรต ประเพณีบุญข้าวประดับดิน บุญเดือนเก้า เป็นอีกหนึ่งประเพณีที่สืบทอดกันมาในภาคอีสาน โดยบุญข้าวประดับดิน เป็นงานประเพณีที่ถูกจัดขึ้นในวันแรม 14 ค่ำ เดือนเก้า ของทุก ๆ ปี

ทั้งนี้ในการทำบุญข้าวประดับดินนั้น ชาวบ้านจะนำข้าวปลา อาหาร คาวหวาน ผลไม้ หมาก พลู บุหรี่ มาห่อด้วยใบตอง และทำเป็นห่อเล็ก ๆ ก่อนจะนำไปวางตามโคนต้นไม้ใหญ่หรือตามพื้นดินบริเวณรอบ ๆ เจดีย์ หรือโบสถ์ โดยการทำบุญข้าวประดับดินนี้ ชาวบ้านเชื่อว่า เป็นการทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว รวมถึงอุทิศส่วนกุศลให้กับสัตว์นรก หรือเปรต

นอกจากนี้ บุญข้าวประดับดิน ยังถือว่าเป็นการให้ทานแก่ผู้ยากไร้ รวมทั้งสัตว์ที่ไม่มีเจ้าของ ที่ต้องหิว อดมื้อกินมื้อมาตลอดทั้งปีอีกด้วย เพราะการที่ตั้งอาหารไว้ที่พื้นทำให้สัตว์เหล่านั้นสามารถเข้ามากินอาหารได้อย่างเต็มที่

บุญข้าวประดับดิน หรือ บุญเดือนเก้า

ขณะที่ต้นธารของความเชื่อที่เป็นที่มาที่ไปของบุญข้าวประดับดิน เกิดจากความเชื่อตามนิทานธรรมบทว่า ญาติของพระเจ้าพิมพิสาร ได้ยักยอกเงินวัดไปเป็นของตนเอง ครั้นตายไปแล้วได้ไปเกิดเป็นเปรตในนรก และเมื่อพระเจ้าพิมพิสารถวายทานแด่พระพุทธเจ้าแล้วมิได้อุทิศให้ญาติที่ตาย กลางคืนพวกญาติที่ตายมาแสดงตัวเปล่งเสียงน่ากลัวให้ปรากฏใกล้พระราชนิเวศน์ รุ่งเช้าได้เสด็จไปทูลถามพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ทูลเหตุุให้ทราบ พระเจ้าพิมพิสารจึงถวายทานอีก แล้วอุทิศส่วนกุศลไปให้ ญาติที่ตายไปจึงได้รับส่วนกุศล ดังนั้น การทำบุญข้าวประดับดิน คือการทำเพื่ออุทิศส่วนกุศลแก่ญาติผู้ตายแล้ว ถือเป็นประเพณีที่ต้องทำเป็นประจำทุกปี

สำหรับลำดับพิธีกรรมบุญข้าวประดับดิน ที่มีการระบุเป็นข้อมูลไว้นั้น มีดังนี้
วันแรม 13 ค่ำ เดือน 9 ชาวบ้านจะเตรียมข้าวต้ม ขนม อาหารคาวหวาน หมาก พลู และบุหรี่ไว้ 4 ส่วน ส่วนหนึ่งเลี้ยงดูกันภายในครอบครัว ส่วนที่สองแจกให้ญาติพี่น้อง ส่วนที่สามอุทิศให้ญาติที่ตายไปแล้ว และส่วนที่สี่นำไปถวายพระสงฆ์ ในส่วนที่สาม ญาติโยมจะห่อข้าวน้อย ซึ่งมีวิธีการห่อคือ ใช้ใบตองห่อขนาดเท่าฝ่ามือ ส่วนความยาวนั้นให้ยาวสุดซีกของใบตอง
วันแรม 14 ค่ำ เดือน 9 ชาวบ้านจะไปวัดตั้งแต่เวลาตี 4 เพื่อนำสิ่งของที่เตรียมไว้จัดใส่กระทง หรือเย็บเป็นห่อเหมือนข้าวสากไปวางอุทิศส่วนกุศลตามที่ต่าง ๆ ซึ่งการวางแบบนี้ เรียกว่า การวางห่อข้าวน้อย แต่หากเป็นการนำไปวางในวัด จะเรียกว่า การยาย (วางเป็นระยะ ๆ ) ห่อข้าวน้อย ซึ่งเวลานำไปวางจะพากันไปทำอย่างเงียบ ๆ ไม่มีการตีฆ้อง ตีกลองแต่อย่างใด

รู้จัก \"บุญข้าวประดับดิน\" ประเพณีโบราณของชาวไทยอีสาน
หลังจากวางเสร็จแล้ว ชาวบ้านจะกลับบ้านเพื่อเตรียมอาหารทำบุญที่วัดอีกทีหนึ่งในตอนเช้า เมื่อพระสงฆ์ฉันเช้าเสร็จก็จะเทศน์ฉลองบุญข้าวประดับดิน ต่อจากนั้น ชาวบ้านจะนำปัจจัยไทยทานถวายแด่พระสงฆ์ เมื่อพระสงฆ์ให้พรเสร็จ ชาวบ้านที่มาทำบุญก็จะกรวดน้ำ อุทิศส่วนกุศลไปให้ญาติผู้ที่ล่วงลับไปแล้วทุก ๆ คน

สำหรับอาหารคาวหวานที่ใส่ห่อในการทำบุญข้าวประดับดิน อาจมีดังนี้
ข้าวเหนียวที่นึ่งสุกแล้วปั้นเป็นก้อนเล็กๆ ขนาดเท่าหัวแม่มือ 1 ก้อน
เนื้อปลา เนื้อไก่ หมู และใส่ลงไปเล็กน้อย ถือว่าเป็นอาหารคาว
กล้วย น้อยหน่า ฝรั่ง มะละกอ มันแกว อ้อย มะละกอสุก หรือขนมหวานอื่น ๆ ลงไป (ถือเป็นอาหารหวาน)
หมากหนึ่งคำ บุหรี่หนึ่งมวน เมี่ยงหนึ่งคำ