
ไหว้พระขอพร เมืองลำพูน ขอความสำเร็จ ที่วัดกู่ช้าง
ศรัทธาสายมู ปักหมุดพิกัดมูเตลู ไห้วพระขอพร กับหนึ่งในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์คู่ เมืองลำพูน วัดกู่ช้าง ลอดท้องพญาช้างคู่บารมีเจ้าแม่จามเทวี ขอพรด้านความสำเร็จ
ลำพูน หรือภาษาคำเมือง เรียกว่า ละปูน เป็นจังหวัดที่มีขนาดเล็กที่สุดในภาคเหนือ นับเป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่มีประวัติศาสตร์เก่าแก่ เคยเป็นที่ตั้งของนครหริภุญชัย ในสมัยพระนางจามเทวี เดิมชื่อเมืองหริภุญไชย เป็นเมืองโบราณมีอายุประมาณ 1,343 ปี ตามพงศาวดารโยนกเล่าสืบต่อกันถึงการสร้างเมืองหริภุญไชย โดยฤๅษีวาสุเทพเป็นผู้เกณฑ์พวกเม็งคบุตรหรือชนเชื้อชาติมอญ
มาสร้างเมืองนี้ขึ้นในพื้นที่ระหว่างแม่น้ำสองสาย คือ แม่น้ำกวงและแม่น้ำปิง เมื่อมาสร้างเสร็จได้ส่งทูตไปเชิญราชธิดากษัตริย์เมืองละโว้พระนาม "จามเทวี" มาเป็นปฐมกษัตริย์ปกครองเมืองหริภุญไชยสืบราชวงศ์กษัตริย์ต่อมาหลายพระองค์ จนกระทั่งถึงสมัยพญายีบาจึงได้เสียการปกครองให้แก่พญามังราย ผู้รวบรวมแว่นแคว้นทางเหนือเข้าเป็นอาณาจักรล้านนา
และด้วยประวัติศาสตร์อันยาวนานและเป็นเมืองที่มีความสำคัญ ลำพูนมีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทางความเชื่ออยู่ไม่น้อย นอกเหนือจากวัดพระธาตุหริภุญไชย ยังมีโบราณสถานกู่ช้าง หรือ วัดกู่ช้าง ลำพูน ที่เป็นสถานที่ที่มีความเชื่อในด้านมูเตลู
สำหรับประวัติของ กู่ช้างกู่ม้า นั้น เป็นโบราณสถานที่อยู่คู่กัน ในพื้นที่ของ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีความศักดิ์สิทธิ์อยู่คู่บ้านคู่เมืองมาอย่างยาวนาน และชาวลำพูนก็ให้ความเคารพนับถือกันอย่างมาก โดยมักจะมาไหว้ขอพรกันที่นี่ คือโบราณสถานแห่งนี้ นอกจากจะมีความสำคัญเชิงประวัติศาสตร์ และโบราณคดีแล้ว ก็ยังเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในชุมชนอีกด้วย เพราะมีความเชื่อกันว่าที่นี่เป็นสุสานช้างศึก-ม้าศึก คู่บารมีของพระนางจามเทวี
ในเรื่องของตำนาน กู่ช้างกู่ม้า เล่าว่าสร้างขึ้นเพื่อบรรจุซากพระยาช้าง ชื่อ ปู่ก่ำงาเขียว เป็นช้างสีคล้ำ งาสีเขียว ซึ่งเป็นช้างคู่บารมีของพระนางจามเทวี ซึ่งปู่ก่ำงาเขียวนั้น เป็นช้างที่มีฤทธิ์มาก ยามออกศึกสงคราม เพียงแค่ช้างหันหน้าไปทางศัตรู ก็ทำให้ศัตรูอ่อนแรงลงได้ และเมื่อช้างปู่ก่ำงาเขียวล้ม พระนางจามเทวีโปรดให้นำซากช้างมาฝังไว้ที่นี่นั่นเอง
ลักษณะของเจดีย์ กู่ช้าง จะเป็นเจดีย์ฐานเขียงกลม ซ้อนขึ้นไปห้าชั้น องค์ระฆังทรงกลม ลักษณะคล้ายทรงกรวยก่อด้วยอิฐ สูง 30 เมตร ยอดเจดีย์ไม่แหลมแต่เป็นยอดตัดมีปล่องคล้ายบ่อน้ำด้านบน ลักษณะคล้าย เจดีย์บอบอคยีใน อาณาจักรพยู ของพม่า และ เจดีย์ง๊ะจเวนะตาว ในเมืองพุกาม และเจดีย์บริวารรอบๆ เจดีย์มหาโพธิ์ที่พุทธคยา ประเทศอินเดีย
ส่วนของ กู่ม้า ตั้งอยู่ด้านหลังกู่ช้าง เชื่อกันว่าเป็นที่บรรจุซากม้าทรงของพระเจ้ามหันตยศ พระราชโอรสของพระนางจามเทวี มีฐานสี่เหลี่ยม องค์เจดีย์ทรงระฆังคว่ำ ส่วนยอดนั้นได้หักและพังทลายลงไปแล้ว ในปัจจุบันนั้น บริเวณด้านหน้าของ กู่ช้างกู่ม้า นี้ มีการปรับปรุงให้กลายมาเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของคนในชุมชน
รวมถึงมีการสร้าง ศาลเจ้าพ่อกู่ช้าง ไว้ในใกล้ๆ กับองค์เจดีย์ด้านหน้าด้วย และจะมีรูปปั้นจำลองของปู่ก่ำงาเขียว มีความเชื่อกันถ้าได้ลอดท้องพระยาช้างเชือกนี้ จะเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต จะประสบความสำเร็จในสิ่งที่ปรารถนานั่นเองค่ะ ซึ่งในวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 ของทุกๆ ปีนั้น ก็จะมีงานรดน้ำดำหัว และบวงสรวงเจ้าพ่อ เพื่อขอขมาลาโทษ และขอพรให้ปกปักษ์รักษา