ศรัทธาสายมู

รู้จัก พระพุทธรูปปางถวายเพลิง ของ 3 วัด ตามพุทธประวัติ วันอัฏฐมีบูชา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ทำความรู้จัก พระพุทธรูปอีกหนึ่งปางตามเหตุการณ์ในในวันอัฏฐมีบูชาพุทธประวัติ พระพุทธรูปปางถวายพระเพลิง และ กราบพระบรมศพ พระพุทธเจ้า


"วันอัฏฐมีบูชา" เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาวันหนึ่ง ซึ่งตรงกับวันแรม 8 ค่ำ เดือน 6 หรือวันแรม 8 ค่ำ แห่งเดือนวิสาขะ หรือ แรม 8 ค่ำ เดือน 7 ในปีอธิกมาส วันอัฐมีบูชา เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาอีกวันหนึ่ง คือ เป็นวันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระของพระพุทธเจ้า หลังจากเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานได้ 8 วัน คือหลังจากวันวิสาขบูชาแล้ว 8 วัน ในปีนี้ ตรงกับ วันอาทิตย์ที่ 11 มิถุนายน 2566

วันอัฏฐมีบูชา
ในเหตุการณ์ "วันอัฏฐมีบูชา" ตามพุทธประวัติ หลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานใต้ต้นสาละ ในราตรี 15 ค่ำ เดือน 6 แล้ว พวกเจ้ามัลลกษัตริย์ก็จัดพิธีบูชาด้วยของหอม ดอกไม้ และเครื่องดนตรีทุกชนิด ที่มีอยู่ในเมืองกุสินาราตลอด 7 วัน และให้เจ้ามัลละระดับหัวหน้า 8 คน สรงเกล้า นุ่งห่มผ้าใหม่ อัญเชิญพระสรีระไปทางทิศตะวันออก ของพระนคร เพื่อถวายพระเพลิง

จากนั้น ก็ให้พวกเจ้ามัลละระดับหัวหน้า 4 คน พยายามจุดไฟที่เชิงตะกอน แต่ก็ไม่อาจให้ไฟติดได้ ทั้งที่ได้ทำตามคำของพระอานนท์เถระ ที่ให้ห่อพระสรีระ พระพุทธเจ้า ด้วยผ้าใหม่แล้วซับด้วยสำลี แล้วใช้ผ้าใหม่ห่อทับอีก ทำเช่นนี้จนหมดผ้า 500 คู่ แล้วเชิญลงในรางเหล็กที่เติมด้วยน้ำมัน แล้วทำจิตกาธานด้วยดอกไม้จันทน์ และของหอมทุกชนิด ในการนี้ พระอนุรุทธะ จึงแจ้งว่า


“เพราะเทวดามีความประสงค์ให้รอพระมหากัสสปะ และภิกษุหมู่ใหญ่ 500 รูป ผู้กำลังเดินทางมาเพื่อถวายบังคมพระบาทเสียก่อน ไฟก็จะลุกไหม้”


ทั้งนี้ เนื่องจากเทวดาเหล่านั้น เคยเป็นโยมอุปัฏฐากของพระเถระ และพระสาวกผู้ใหญ่มาก่อน จึงไม่ยินดีที่ไม่เห็นพระมหากัสสปะอยู่ในพิธี และเมื่อภิกษุหมู่ 500 รูป โดยมีพระมหากัสสปะเป็นประธานเดินทางมาพร้อมกัน ณ ที่ถวายพระเพลิงแล้ว ไฟจึงลุกโชนขึ้นเองโดยไม่ต้องมีใครจุด


 หลังจากที่พระเพลิงเผาซึ่งเผาไหม้พระพุทธสรีระดับมอดลงแล้ว บรรดากษัตริย์มัลละทั้งหลายจึงได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุทั้งหมด ใส่ลงในหีบทองแล้วนำไปรักษาไว้ภายในนครกุสินารา ส่วนเครื่องบริขารต่างๆ ของพระพุทธเจ้าได้มีการอัญเชิญไปประดิษฐานตามที่ต่างๆ
 

จากเรื่องราวในพุทธประวัติของเหตุการณ์วันอัฏฐมีบูชา จึงมีการสร้างพระพุทธรูป ที่เรียกว่า ปางถวายพระเพลิงขึ้น มีที่เก่าแก่ถึงสมัยอยุธยา อยู่ที่จ.ชัยนาท นั่นคือ พระพุทธรูปปางกราบพระบรมศพ ที่วัดสรรพยาวัฒนาราม ต.สรรพยา อ.สรรพยา

พระพุทธรูปปางกราบพระบรมศพ ที่วัดสรรพยาวัฒนาราม ต.สรรพยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท

พระพุทธรูปปางกราบพระบรมศพซึ่งหาชมยาก พบเพียงไม่กี่วัดในประเทศไทย สำหรับที่นี่พระพุทธรูปดังกล่าวอยู่ในสภาพสมบูรณ์และครบถ้วนตามหลักพระรัตนตรัย กล่าวคือ มีพระพุทธเจ้าประทับนอนในหีบพระบรมศพ มีพระสงฆ์ ได้แก่ พระมหากัสสปะ พระอริยสงฆ์ นั่งสมาธิปลงสังเวช และพระสมมติสงฆ์นั่งชันเข่าในอาการเศร้าโศกเป็นตัวแทนของปุถุชน ทั้งหมดประกอบรวมเป็นหลักคำสอนหรือพระธรรมนั่นเอง

พระพุทธรูปปางกราบพระบรมศพ ที่วัดสรรพยาวัฒนาราม ต.สรรพยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท

ส่วนพระบาทยื่นออกมานอกหีบเป็นปาฏิหาริย์ครั้งสุดท้ายของพระพุทธเจ้า เพื่อให้พระมหากัสสปะถวายบังคม ก่อนไฟลุกไหม้พระบรมศพ ไม่เพียงสะท้อนสัจธรรมชีวิตที่ไม่มีใครหนีพ้น และชาวบ้านยังนิยมกราบไหว้พระพุทธรูปปางกราบพระบรมศพ เพื่อขอพรเกี่ยวกับสุขภาพให้หายจากอาการเจ็บป่วยหรือให้ร่างกายแข็งแรง


ในกรุงเทพมหานคร พระพุทธรูปปางนี้ มีอยู่ด้วยกัน 2 วัด คือ วัดอินทารามวรวิหาร และ วัดราชคฤห์วรวิหาร

พระพุทธรูปปางถวายพระเพลิง ที่วัดอินทาราม  กรุงเทพฯ
วิหารถวายพระเพลิงพระพุทธเจ้า ของวัดอินทารามวรวิหาร ที่ภายในมีพระปางอัฏฐมีบูชา หรือพระพุทธรูปปางถวายพระเพลิง จำลองภาพหีบพระศพ พระบาทของพระพุทธเจ้ายื่นออกมาจากพระหีบ มีพระภิกษุ 3 รูป พนมมือไหว้พระบาทที่ยื่นออกมา

พระพุทธรูปปางถวายพระเพลิง ที่วัดราชคฤห์วรวิหาร  กรุงเทพฯ
ด้าน วัดราชคฤห์วรวิหาร มีวิหารประดิษฐานองค์พระพุทธรูปพระนอนหงายหรือปางถวายพระเพลิง ซึ่งปางนี้เกี่ยวกับพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน โดยมีพระมหากัสสัปปะนั่งตั้งจิตพนมมืออยู่ ณ เบื้องพระบาท เรียกว่า "หลวงพ่อนอนหงาย" หรือ "หลวงพ่อสุขสบาย" กราบบูชาขอพรให้ชีวิตมีความสุข ความเจริญ และมากด้วยเงินทอง มีเงินเก็บ มีเงินใช้ตลอดไป ชีวิตสุขสบาย

logoline