
แก้ชง - เสริมมงคล กับ 3 วัดแห่งมังกร เชื่อมโยงสัมพันธ์ในความมงคล
น้อมรับความเป็นสิริมงคล กับ 3 วัดแห่งมังกร เชื่อมโยงด้วยนามสัมพันธ์ เหมาะสมกับการแก้ชง และ ไหว้พระขอพร เสริมความเฮงรับตรุษจีน 2566
เชื่อเหลือเกินว่า ในห้วงเวลานี้ สำหรับคนไทยหัวใจสายมูนั้น การแก้ชง เป็นหนึ่งในเรื่องที่ต้องทำการแก้ไข เพื่อการดำเนินชีวิต ที่เต็มไปด้วยความราบรื่น และ ความมีสิริมงคล รวมทั้งใกล้วาระ เทศกาลตรุษจีน 2566 พี่น้องคนไทยเชื้อสายจีน ต่างเตรียมตัวที่จะไหว้สักการะเพื่อความเป็นมงคลในปีใหม่
ตามความเชื่อของจีน มังกร คือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทรงอำนาจ ในศาสตร์ฮวงจุ้ย มังกร คือ หนึ่งในสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ ที่สำคัญ และมีความหมายในการส่งเสริมพลังบารมี
และหากพูดถึง เรื่องของการแก้ชง เสริมสิริมงคล วัดที่เกี่ยวกับมังกร ที่น่าสนใจ มีอยู่ด้วยกัน 3 วัด และเป็นวัดที่มีความหมาย ที่เชื่อมโยงเกี่ยวเนื่องกัน ได้แก่ เล่งเน่ยยี่ เยาวราช แปลว่า วัดหัวมังกร เล่งฮกยี่ ฉะเชิงเทรา แปลว่า วัดท้องมังกร และ เล่งฮัวยี่ จันทบุรี แปลว่า วัดหางมังกร
วัดมังกรกมลาวาส หรือ วัดเล่งเน่ยยี่ ถนนเยาวราช
เป็นวัดในสังกัดคณะสงฆ์จีนนิกายแห่งประเทศไทย ตั้งอยู่บนถนนเจริญกรุง ระหว่าง ซอยเจริญกรุง 19 และ 21 ในเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร เป็นที่คุ้นเคยในหมู่ชาวไทยเชื้อสายจีน และชาวจีนจากต่างประเทศ
วัดนี้ บางคนเรียกว่า "วัดมังกร" เพราะคำว่า "เล่ง" หรือ "เล้ง" ในภาษาจีนแต้จิ๋ว แปลว่ามังกร คำว่า “เน่ย” แปลว่า ดอกบัวและคำว่า “ยี่” แปลว่า วัด ชื่อวัดอย่างเป็นทางการคือ "วัดมังกรกมลาวาส" พระราชทานจาก รัชกาลที่ 5 วัดนี้ก่อตั้ง เมื่อปี พ.ศ. 2414 ใช้เวลาก่อสร้าง 8 ปีกว่าจะแล้วเสร็จ
มีลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นแบบทางจีนตอนใต้ของสกุลช่างแต้จิ๋ว โดยวางแปลนตามแบบวัดหลวง คือ มีวิหารท้าวจตุโลกบาลเป็นวิหารแรก ตรงกลางเป็นพระอุโบสถ ข้างหลังพระอุโบสถเป็นวิหารเทพเจ้า การสร้างใช้ไม้และอิฐเป็นวัสดุสำคัญ
จากประตูทางเข้า เข้าไปจะถึงวิหารท้าวโลกบาลทั้ง 4 มีเทวรูปเทพเจ้า 4 องค์ (ข้างละ 2 องค์) ในชุดนักรบจีนและถืออาวุธและสิ่งของต่างๆ กัน เช่น พิณ ดาบ ร่ม เจดีย์ ชาวจีนเรียกว่า "ซี้ไต๋เทียงอ้วง" หมายถึงเทพเจ้าที่ปกปักษ์รักษา คุ้มครอง ทิศต่างๆ ทั้ง 4 ทิศ ถัดจากวิหารท้าวจตุโลกบาล คือ อุโบสถ เป็นที่ประดิษฐานของพระประธานของวัด คือ พระโคตมพุทธเจ้า พระอมิตาภพุทธะ พระไภษัชยคุรุพุทธะ ทั้งหมด 3 องค์ หรือ "ซำป้อหุกโจ้ว" พร้อมพระอรหันต์อีก 18 องค์ หรือที่เรียกว่า "จับโป๊ยหล่อหั่ง"
ทางด้านขวามีเทพเจ้าต่าง ๆ หลายองค์ เช่น เทพเจ้าคุ้มครองดวงชะตา หรือ "ไท้ส่วย เอี๊ยะ" เทพเจ้าแห่งยาหรือหมอเทวดา "หั่วท้อเซียงซือกง" และที่นิยมไหว้ขอพรมากคือ เทพเจ้าแห่งโชคลาภ "ไฉ่ซิ้งเอี๊ยะ" เทพเจ้าเฮ่งเจีย หรือ "ไต่เสี่ยหุกโจ้ว" พระเมตไตรยโพธิสัตว์หรือ "ปู๊กุ่ยหุกโจ้ว"ซึ่งคล้ายกับพระมหากัจจายนะ "กวนอิมผู่สัก" หรือ พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ "แป๊ะกง" และ "แป๊ะม่า" รวมเทพเจ้าในวัด จะมีทั้งหมด 58 องค์
วัดจีนประชาสโมสร หรือ วัดเล่งฮกยี่ ฉะเชิงเทรา
ตั้งอยู่ที่ถนนศุภกิจ ตำบลบ้านใหม่ ห่างจากศาลากลางจังหวัด 1 กิโลเมตร วัดจีนประชาสโมสร เป็นอารามที่ขยายมาจากวัดมังกรกมลาวาสในกรุงเทพมหานคร เริ่มสร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปีพ.ศ. 2449
อาจกล่าวได้ว่า วัดเล่งฮกยี่ เป็นวัดที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของฉะเชิงเทราเลยทีเดียว วัดนี้สร้างขึ้นมาตั้งแต่ สมัยรัชกาลที่ 5 ในปี พ.ศ. 2449 เมื่อครั้งเสด็จประพาสมณฑลปราจีนบุรีเพื่อเปิดทางรถไฟสายกรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา พร้อมกับพระราชทานนามว่า "วัดจีนประชาสโมรสร"
ภายในวัดมีสิ่งที่น่าสนใจ ได้แก่ ท้าวจัตุโลกบาลขนาดใหญ่ 4 องค์ ทำจากกระดาษที่ประตูทางเข้า พระประธาน 3 องค์และองค์ 18 อรหันต์ ทำด้วยกระดาษนำมาจากเมืองจีน รูปหล่อเทพเจ้าแห่งโชคลาภ (ไฉ่เซ่งเอี้ย) ที่อยู่ด้านขวาขององค์พระประธานและยังมีเทพเจ้าอีกหลายองค์ ตามคติจีน ระฆังใบใหญ่น้ำหนักกว่า 1 ตัน ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ใบ ในโลกที่รอบระฆังมีอักษรมหาปรัชญา ปารมิตราสูตร ถือกันว่าผู้ได้ใดตีระฆังก็เหมือนกับการสวดมนต์ซึ่งได้บุญกุศล
นอกจากนี้ยังมีวิหารศักดิ์สิทธิ์อื่น ๆ เช่น วิหารบูรพาจารย์ วิหารเจ้าแม่กวนอิม แกะสลักจากรากไม้ทั้งต้นอายุประมาณ 100 ปี วิหารตี่จั๊งอ๊วง สระนทีสวรรค์และพญามังกร
วัดมังกรบุปผาราม หรือ วัดเล่งฮัวยี่ จันทบุรี
วัดมังกรบุปผาราม เป็นวัดในพระพุทธศาสนาลัทธิมหายานฝ่ายจีนนิกาย สร้างเมื่อ พ.ศ. 2520 เป็นวัดสาขาของวัดมังกรกมลาวาส (เล่งเน่ยยี่) ที่กรุงเทพฯ ซึ่งถือเป็นตำแหน่งหัวมังกร ส่วนวัดมังกรบุปผาราม หรือ วัดเล่งฮัวยี่ แห่งนี้คือตำแหน่งหางมังกร ความโดดเด่นของวัดต้องยกให้กับสถาปัตยกรรมผสมผสาน ระหว่างพุทธศิลป์ไทย-จีนอันทรงคุณค่า
ด้านหน้าวัดเป็นวิหารท้าวจตุโลกบาล ประดิษฐานพระศรีอาริยเมตไตรยโพธิสัตว์และท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่ ในขณะที่ด้านในวัดมีอุโบสถทรงจีนหลังคาซ้อน 3 ชั้น ประดิษฐานพระพุทธปฏิมาประธานสามพระองค์ นอกจากนี้ก็ยัง มีศาลาพระอุโบสถที่ตกแต่งด้วยกระเบื้องโมเสก เป็นลวดลายต่าง ๆ อย่างงดงาม บรรยากาศภายในวัดก็แสนเงียบสงบ ร่มรื่น เหมาะสำหรับผู้ที่สนใจปฏิบัติธรรม
วัดจะมีการจัดงานประจำปี 2 งาน คือ งานบุญกฐิน ซึ่งจัดขึ้นหลังช่วงเทศกาลออกพรรษา และงานทำบุญประจำปีของวัด ซึ่งจะจัดขึ้นหลังวันตรุษจีน 21 วัน ทั้งสองงานจะมีประชาชนเดินทางมาร่วมทำบุญ ถือศีล เป็นจำนวนมาก และพักที่วัดตลอดช่วงการจัดงานนานประมาณ 7-10 วัน
ทั้งหมดนี้ คือ 3 วัดแห่งมังกร ที่นำมาบอกเล่า และหากใครสนใจที่จะไหว้ขอพร ก้ไม่ควรพลาดการไปไหว้ให้ครบทั้ง 3 วัด เพื่อความเป็นสิริมงคล