ศรัทธาสายมู

ของดี หลวงพ่อกวย - หลวงปู่โต๊ะ เสก พระร่วงหลังรางปืน ปี 2515 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ของดีที่ไม่ควรมองข้าม พระร่วงหลังรางปืน วัดพระธาตุดอยสุเทพ ปี 2515  เกจิดังแห่งยุค หลวงปู่โต๊ะ - หลวงพ่อกวย - หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม ร่วมปลุกเสก

เมื่อกล่าวถึงพระเครื่อง วัตถุมงคล หลาย ๆ คน มักจะนึกถึงพระเครื่อง ที่มีราคาการเช่าหาบูชา ที่ค่อนข้างมีจำนวนเงินที่สูง ด้วยมีความเชื่อถือในตัวเกจิอาจารย์ผู้สร้าง รวมทั้งกระแสความนิยมในวงการนักสะสมวัตถุมงคล แต่ในความเป็นจริงแล้ว ยังมีพระเครื่อง วัตถุมงคล ที่เรียกกันได้อย่างเต็มปากว่า มีพุทธคุณ ไม่ย่อหย่อนไปกว่าพระเครื่องที่โด่งดังทั้งหลาย ด้วยครูบาอาจารย์ที่อธิษฐานจิตนั้น ล้วนก็เป็นพระเกจิที่ทรงนาม มากชื่อเสียงระดับเถราจารย์ในสายอิทธิฤทธิ์แห่งยุค

หนึ่งในวัตถุมงคลที่ไม่ควรมองข้าม นั่นคือ พระร่วงหลังรางปืน วัดพระธาตุดอยสุเทพ ปี 2515 

ก่อนจะไปเล่าถึงความน่าสนใจของพระเครื่องรุ่นนี้ ต้องเท้าความสักเล็กน้อยถึง พระกรุต้นแบบ อย่างพระร่วงหลังรางปืน พระกรุองค์นี้นั้น เป็นพระเครื่องที่มีลักษณะประติมากรรมที่งดงาม สง่า ผึ่งผาย สร้างขึ้นในสมัยสุโขทัยเป็นราชธานี นักนิยมพระเครื่องได้ให้ความสนใจพระร่วงหลังรางปืนนี้ไม่แพ้พระเครื่องชุด "องค์ไตรภาคี" เนื่องจากเป็นพระเครื่องที่มีขนาดยาว คือพิมพ์ใหญ่ ขนาดสูงประมาณ 8-9 เซนติเมตร และมีน้ำหนักมาก สตรีที่มีพระเครื่องนี้ไม่ใคร่นิยมคล้องคอ ยกเว้นบรรดาชายหรือพวกนักรบที่ชอบคล้องคอเพราะความสง่างาม วัสดุที่ใช้สร้าง สร้างจากเนื้อชินตะกั่วดำโบราณจากเมืองสวรรคโลก เนื้อชินนี้เป็นเนื้อชินที่ได้รับความนิยมเรียกกันว่า "สนิมมันปู" ซึ่งจะเกาะอยู่ตามส่วนอื่น ๆ ขององค์พระ 

พระพุทธลักษณะ เป็นพระยืนประทานพรเท่าที่พบมีอยู่ด้วยกัน 2 พิมพ์ คือ พิมพ์ใหญ่มีขนาดสูงประมาณ 8-9 เซนติเมตร และส่วนกว้างประมาณ 2.5-3 เซนติเมตร ส่วนอีกพิมพ์หนึ่งคือพิมพ์เล็ก มีขนาดเล็กกว่าพิมพ์ใหญ่เล็กน้อย คือมีขนาดสูงประมาณ 4-4.5 เซนติเมตร มีส่วนกว้างประมาณ 2 เซนติเมตร บริเวณด้านหลังขององค์พระมีลักษณะเป็นร่องจากฐานถึงบริเวณพระอังสะ (ไหล่) ขนาดของช่องกว้างประมาณ 1 เซนติเมตร จึงนิยมเรียกกันว่า "หลังรางปืน" ด้านหน้าองค์พระสวมหมวกออกศึกแบบโบราณที่เรียกว่า "หมวกชีโบ" บางองค์จะมีสนิมแดงที่เรียกกันว่า "สนิมมันปู" จับอยู่ทั่วไป แต่บางองค์ก็แทบจะไม่เห็นสนิมจับเลยก็มี

 สถานที่ขุดพบได้บริเวณเจดีย์โบราณ ณ วัดพระปรางค์  หรือ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เชลียง อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย จำนวนที่ขุดพบครั้งแรกนั้นมีประมาณ 400 องค์ สำหรับราคาที่ให้เช่าบูชาในขณะนั้น องค์ละ 100 บาท ก็ยังหาผู้บูชาไม่ค่อยจะได้ แต่สำหรับปัจจุบันองค์ที่มีสภาพสมบูรณ์ราคาจะสูงมาก เนื่องจากมีจำนวนน้อย

สำหรับวิธีสังเกตโดยทั่วไป เนื่องจากพระร่วงหลังรางปืนนี้สร้างขึ้นจากวัสดุที่เรียกว่า เนื้อชินตะกั่วดำโบราณพิเศษ จึงมีสนิมแดงที่เรียกว่า "สนิมมันปู" สนิมจะเกาะอยู่ตามขอบหรือบริเวณที่เป็นสันหรือส่วนที่เป็นฐานนูนอยู่โดยทั่วไป ลักษณะของสนิมจะจับแน่นในเนื้อองค์พระโดยทั่วไป แต่ในปัจจุบันพึงต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง เพราะปรากฏว่ามีผู้ทำเลียนแบบของเก่าโดยใช้เทคโนโลยีเข้าช่วยทำการอบสนิมแดง โดยใช้เครื่องมือและสารเคมีเข้าช่วยทำให้เกิดสนิมแดงได้คล้ายคลึงกับของจริงมาก และมักใช้น้ำมันและผงสีดำทาทับไว้จนทั่วเพื่ออำพรางสายตานักเลงดูพระรุ่นใหม่

 ด้านพุทธคุณนั้น กล่าวกันไว้ว่า พระร่วงหลังรางปืน มีอานิสงส์สูงส่งทางโชคลาภ แคล้วคลาด คงกระพัน และป้องกันไฟไหม้

พระร่วงหลังรางปืน วัดพระธาตุดอยสุเทพ ปี 2515 

ขณะที่พระร่วงหลังรางปืน วัดพระธาตุดอยสุเทพ ปี 2515 จัดสร้างในพิธีมหาพุทธาภิเษกพระพุทธสิหิงค์จำลอง และ ปลุกเสก ร่วมกับพระกริ่งเชียงแสน, เหรียญพระพุทธสิหิงค์,เหรียญครูบาศรีวิชัย, เป็นต้น
พระร่วงรางปืน รุ่นนี้มี 2 พิมพ์ คือ พิมพ์หลังเจดีย์นูน และพิมพ์หลังเจดีย์จม บ้างก็เรียกว่า พิมพ์พระธาตุลอย และพิมพ์พระธาตุ ลักษณะเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่อง ในอิริยาบถยืนบนแท่นภายในซุ้มเรือนแก้ว พระหัตถ์ขวายกขึ้นระดับพระอุระ พระกรซ้ายทอดลงขนานกับลำพระองค์แบบหงายฝ่าพระ ที่มีชื่อเรียกว่า "พระร่วงรางปืน" หรือ "พระร่วงหลังรางปืน"

พระร่วงหลังรางปืน วัดพระธาตุดอยสุเทพ ปี 2515 

ประกอบพิธีมหาพุทธาภิเษกเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2515 โดยคณะสงฆ์จังหวัดเชียงใหม่ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ ทรงเป็นประธาน

พระร่วงหลังรางปืน วัดพระธาตุดอยสุเทพ ปี 2515 

โดยนิมนต์สุดยอดพระเกจิคณาจารย์ 108 รูป ร่วมนั่งปรกปลุกเสก อาทิ หลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี กรุงเทพมหานคร,
หลวงพ่อกวย วัดโฆสิตาราม จังหวัดชัยนาท, หลวงปู่แหวน วัดดอยแม่ปั๋ง จังหวัดเชียงใหม่ หลวงพ่อเกษม เขมโก จังหวัดลำปาง,หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม จังหวัดนครปฐม,ครูบาคำแสน อินทจักรโก วัดสวนดอก จังหวัดเชียงใหม่,ครูบาคำแสน คุณาลังกาโร วัดป่าดอนมูล จังหวัดเชียงใหม่,ครูบาชุ่ม โพธิโก วัดวังมุ่ย จังหวัดลำพูน,
พระอาจารย์นำ แก้วจันทร์ จังหวัดนครศรีธรรมราช อาจารย์ชุม ไชยคีรี เจ้าพิธีฝ่ายฆราวาส เป็นต้น
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ