ศรัทธาสายมู

พระราชวัชรรังษี วัดอรุณราชวราราม ผู้เรียบเรียงหนังสือ มนต์พิธี มรณภาพ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หลวงปู่เอียม พระราชวัชรรังษี วัดอรุณราชวราราม ผู้เรียบเรียงหนังสือสวดมนต์ มนต์พิธี มรณภาพสงบ สิริอายุ 89 ปี พรรษา 69

สิ้นผู้เรียบเรียงหนังสือสวดมนต์ มนต์พิธี แฟนเพจ ข่าวสารงานพระพุทธศาสนา ได้เผยแพร่ข้อความว่า เมื่อเวลา 21.00 น.วันที่ 8 มิ.ย. ที่ผ่านมา  คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลกรุงเทพ แจ้งว่า หลวงปู่พระราชวัชรรังษี(เอี่ยม สิริวณฺโณ) ได้หยุดหายใจและอาการทรุดลงตามลำดับ จนกระทั่งเวลา 22.15 น. หลวงปู่ไม่ตอบสนองอาการและได้มรณภาพด้วยอาการสงบ สิริอายุ 89 ปี พรรษา 69 

พระราชวัชรรังษี(เอี่ยม สิริวณฺโณ)


สำหรับพระราชวัชรรังษี (เอี่ยม สิริวณฺโณ) เป็นพระราชาคณะชั้นราชผู้เป็นภิกษุที่แต่งหนังสือสวดมนต์ มนต์พิธี ซึ่งเป็นหนังสือรวบรวมพระพุทธมนต์ที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรมเป็นที่นิยมสำหรับภิกษุและสามเณรผู้เตรียมตัวบวช ตลอดจนพุทธศาสนิกชน

หนังสือมนต์พิธี
พระราชวัชรรังษีมีนามเดิมว่า เอี่ยม สุภราช เป็นบุตรของกรุย สุภราช ผู้เป็นบิดา และแคล้ว สุภราช (ต่อมานามสกุล คำสุข) ผู้เป็นมารดา เกิดเมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2476 ที่บ้านพังตรุ อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี ประเทศสยาม (ปัจจุบันคือ ประเทศไทย) มีพี่น้อง 5 คน
 

โดยช่วงปฐมวัยได้เข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนวัดพังตรุ ขณะเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 บิดาเสียชีวิต ประกอบกับมีอาการป่วย มารดาจึงอธิษฐานว่า "ถ้าหายจะให้บวช 7 วัน" แต่เมื่อถึงชั้นประถมศึกษาที่ 4 มารดาเสียชีวิต เมื่ออายุ 17 ปี ได้แจ้งความประสงค์กับยาย จึงได้บวชเป็นสามเณร เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2493 ที่วัดสาลวนาราม (ดอนตาเพชร) อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อปี พ.ศ. 2494 สอบได้นักธรรมชั้นตรีถึงนักธรรมชั้นโท


เมื่ออายุ 20 ปี ได้อุปสมบทเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2496 ที่วัดเบญพาด อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี มีพระครูพนมธรรมรัต (ซ้ง อินฺทสโร) วัดสาลวนาราม (ดอนตาเพชร) เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอธิการเพิ่ม วัดดอนงิ้ว เป็นพระกรรมวาจาจารย์, และพระเหลือ วัดสาลวนาราม เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ในช่วงเดียวกัน พระเอี่ยมได้เดินทางศึกษาต่อที่วัดไชยชุมพลชนะสงคราม สำเร็จนักธรรมชั้นเอก

เมื่อปี พ.ศ. 2499 ได้เป็นครูสอนบาลีที่วัดคูหาสวรรค์ จังหวัดราชบุรี เมื่อปี พ.ศ. 2500 ย้ายอยู่วัดสุทธิวาตวราราม จังหวัดสมุทรสาคร ก่อนเป็นเลขานุการเจ้าคณะตำบลที่วัดแหลมสุวรรณารามท จังหวัดสมุทรสาคร ต่อมา ย้ายพำนักที่วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร เป็นเลขานุการเจ้าคณะภาค 16 เมื่อปี พ.ศ. 2507 ดำรงตำแหน่ง 5 ปี เมื่อปี พ.ศ. 2511 ย้ายพำนักที่วัดราษฎร์บำรุง จังหวัดชลบุรี เพื่อเป็นครูสอนวิชาสามัญศึกษาและเลขานุการของพระธรรมโกศาจารย์ (ชอบ อนุจารี)


ปี พ.ศ. 2513 พระเสวย พุทฺธเทโว เป็นภิกษุบวชใหม่มีความสนใจในหนังสือสวดมนต์ แต่ไม่เป็นที่น่าปราถนา จึงชักชวนพระเอี่ยมแต่งหนังสือสวดมนต์ โดยพิมพ์ครั้งแรกจำนวน 1,000 เล่ม ถวายภิกษุภายในจังหวัดชลบุรี ต่อมา จึงมีรวบรวมพระพุทธมนต์ พระคาถา และคำที่ใช้ในพิธีกรรม โดยหนังสือมีชื่อว่า สวดมนต์และศาสนพิธี พิมพ์จำนวน 1,000 เล่ม โดยเป็นที่นิยมในภิกษุและพุทธศาสนิกชนในจังหวัดชลบุรี


เมื่อปี พ.ศ. 2515 หนังสือเป็นที่นิยมอย่างมากในภิกษุและพุทธศาสนิกชนในประเทศไทยจึงเปลี่ยนชื่อว่า มนต์พิธี โดยมีพระธรรมโกศาจารย์ (ชอบ อนุจารี) เป็นผู้เขียนคำนำ 

พ.ศ. 2520 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบลหนองเหียง และผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราษฎร์บำรุง เมื่อปี พ.ศ. 2523 ย้ายกลับพำนักที่วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร เมื่อปี พ.ศ. 2529 เป็นรักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดประดู่ในทรงธรรม

เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2534 ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นโท ในราชทินนามว่า พระครูอรุณธรรมรังษี ต่อมา เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2549 ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอก ในราชทินนามเดิม

เมื่อปี พ.ศ. 2560 สำนักพิมพ์เลี่ยงเชียง เพียรเพื่อพุทธศาสน์ ได้ติดต่อเพื่อขอลิขสิทธิ์ในการจัดพิมพ์หนังสือ มนต์พิธี และหนังสือที่แต่งโดยพระครูอรุณธรรมรังษี ให้เป็นผู้ดูแลการจัดพิมพ์และเผยแพร่

20 มิถุนายน พ.ศ. 2564 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชโองการพระราชทานสัญญาบัตรสมณศักดิ์เป็น พระราชวัชรรังษี เป็นพระราชาคณะชั้นราช สถิตวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร มีฐานานุศักดิ์ตั้งฐานานุกรมได้ 4 รูป คือ พระครูปลัด พระครูสังฆรักษ์ พระครูสมุห์ และพระครูใบฎีกา

logoline