
คำถวายเทียนพรรษา วันเข้าพรรษา 2568 คำถวายผ้าอาบน้ำฝน พร้อมแปล
คำถวายเทียนพรรษา วันเข้าพรรษา 2568 คำถวายผ้าอาบน้ำฝน พร้อมคำแปล ทั้งแบบสั้นและแบบยาว อานิสงส์ 8 ประการของการถวายเทียนพรรษา และผ้าอาบน้ำฝน
วันเข้าพรรษา 2568 วันเข้าพรรษา ตรงกับวัน แรม 1 ค่ำ เดือน 8 เป็นวันที่พระภิกษุเริ่มการอธิษฐานอยู่ประจำวัดหรือเสนาสนะ ที่คุ้มแดด คุ้มฝนได้แห่งหนึ่งโดยไม่ไปค้างแรมที่อื่น เพื่อให้พระสงส์ได้ศึกษาธรรม ตลอด 3 เดือน ในฤดูฝน และไม่จาริกไปเหยียบย่ำกล้าข้าวในนาของชาวบ้านเสียหาย
คำถวายเทียนพรรษา
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (ว่า 3 จบ)
ยัคเฆ ภันเต สังโฆ ปะฏิชานาตุ มะยัง ภันเต เอตัง ปะทีปะยุคัง สะปะริวารัง
เตมาสัง พุทธัสสะ ปูชะนัตถายะ อิมัสสะหมิง อะโปสะถาคาเร
นิยยาเทมะ สาธุ โน ภันเต อะยัง เตมาสัง พุทธัสสะ ปูชะนัตถายะ
ปะทีปะยุคัสสะ ทานัสสะ อานิสังโส อัมหากัญเจวะ
มาตาปิตุอาทีนัญจะ ปิยะชะนานัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ สังวัตตะตุ
คำแปล คำถวายเทียนพรรษา
ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ขอพระสงฆ์โปรดรับทราบ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอมอบถวายเทียนคู่นี้ พร้อมกับของบริวาร ไว้ ณ อุโบสถนี้ เพื่อเป็นพุทธบูชาตลอดพรรษา ขออานิสงส์แห่งการถวายคู่เทียน เพื่อเป็นพุทธบูชา ตลอดพรรษานี้ของข้าพเจ้าทั้งหลาย จงเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลายด้วย แก่ปิยชนทั้งหลาย มีมารดาบิดาเป็นต้นด้วย ตลอดกาลนานเทอญ
คำถวายเทียนพรรษา (แบบสั้น)
อิมานิ มะยัง ภันเต วัสสิกะปะทีปานิ สะปะริวารานิ
เตมาสัง พุทธัสสะ ปูชะนัตถายะ อิมัสสะหมิง อาวาเส
นียาเทมะ สาธุโน ภันเต อะยัง เตมาสัง วัสสิกะปะทีปานัง
ทานัสสะ อานิสังโส อัมหากัญเจวะ ฑีฆะรัตตัง
หิตายะ สุขายะ นิพพานายะ จะ ฯ
คำแปล คำถวายเทียนพรรษา (แบบสั้น)
ข้าแต่พระภิกษุสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายเทียนพรรษา พร้อมด้วยบริวารทั้งหลายเหล่านี้ ไว้ในอาวาสแห่งนี้ เพื่อเป็นพุทธบูชา ตลอดพรรษา ขออานิสงส์ แห่งการถวายเทียนพรรษาตลอดพรรษานี้ จงเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข เพื่อมรรคผลนิพพาน แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย ตลอดกาลนานเทอญฯ
อานิสงส์ 8 ประการ ของการ ถวายเทียนพรรษา
- ทำให้เกิดปัญญา ทั้งในชาตินี้และชาติหน้า เปรียบเหมือนแสงสว่างแห่งเทียน
- ทำให้ชีวิตสว่างไสวรุ่งเรือง ผู้ถวายย่อมเจริญด้วยลาภ ยศ สรรเสริญ
- ทำให้คลี่คลายเรื่องราวต่างๆ ที่มีปัญหาร้ายกลับกลายเป็นดี
- ย่อมเจริญไปด้วยมิตรและบริวาร
- ย่อมเป็นที่รักของมนุษย์และเทวดาทั้งหลาย
- เมื่อจากโลกนี้ไปแล้วย่อมมีกายทิพย์อันสว่างไสว
- เมื่อลาลับโลกนี้ไปแล้วย่อมไปสู่สุคติและสวรรค์
- หากสั่งสมบารมีมากพอ ย่อมทำให้เกิดดวงตาจักษุ คือปัญญารู้แจ้งเข้าสู่นิพพาน
คำกล่าวถวายผ้าอาบน้ำฝน
อิมานิ มะยัง ภันเต วัสสิกะสาฏิกานิ ภิกขุสังฆัสสะ
โอโณชะยามะ สาธุ โน ภันเต ภิกขุสังโฆ อิมานิ วัสสิกะสาฏิกานิ
สะปะริวารานิ ปะฏิคคัณหาตุ อัมหากัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ
คำแปล คำถวายผ้าอาบน้ำฝน
ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวาย ผ้าอาบน้ำฝน กับทั้งบริวารเหล่านี้ แก่พระภิกษุสงฆ์ ขอพระภิกษุสงฆ์จงรับ ผ้าอาบน้ำฝน กับทั้งบริวารเหล่านี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย เพื่อประโยชน์และความสุข แก่ ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนาน เทอญ ฯ
ความเป็นมา - อานิสงส์ ของการ ถวายผ้าอาบน้ำฝน
การถวายผ้าอาบน้ำฝนมีผลานิสงส์อย่างไร เป็นใจความว่า ในสมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จประทับอยู่ในพระเชตวันมหาวิหาร ณ กรุงสาวัตถีในวันนั้นเป็นวัน ๘ ค่ำ นางวิสาขาได้ถือเครื่องสักการะ พร้อมด้วยบริวารเป็นอันมากไปสู่สำนักพระพุทธเจ้าถวายเครื่องสักการบูชาพระรัตนตรัยแล้วบังเอิญฝนตก พระภิกษุทั้งหลายได้เปลือยกายอาบน้ำฝนกันมากมาย
นางวิสาขาเห็นเช่นนั้นแล้วก็เกิด ความละอาย และคิดในใจว่าพระภิกษุไม่มีผ้าสำหรับอาบน้ำฝน ก็บังเกิดมีจิตศรัทธา คิดจะสร้างผ้าอาบ น้ำฝนถวายเป็นทานแล้วก็กลับไปสู่กรุงสาวัตถี จัดแจงหาผ้าได้พอสมควรแล้วพอตอนเย็นก็พาบริวาร และผ้านั้นมาสู่สำนักพระพุทธองค์แล้วถวายผ้าอาบน้ำฝนนั้น แก่องค์พระศาสดาพร้อมทั้งภิกษุทั้งหลาย แล้วกราบทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ การถวายผ้าอาบน้ำฝนนี้มีผลานิสงส์เป็นอย่างไรพระเจ้าข้า
พระองค์ได้ตรัสเทศนาว่า ดูกรนางวิสาขา ถ้าบุคคลใดมีจิตศรัทธานำผ้าอาบน้ำฝนมาถวายแก่พระภิกษุ ในพุทธศาสดาจะมีผลานิสงส์เป็นอเนกประการแล้วพระองค์ทรงนำอดีตนิทานมาแสดงต่อไปว่าในศาสนาพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น มีหญิงเข็ญใจคนหนึ่ง มีนามว่า อมัยทาสีอยู่มาวันหนึ่งนางได้เห็นคนทั้งหลาย นำผ้ากาสาวพัตรไปสู่สำนักภิกษุสงฆ์ให้เป็นทาน โดยกระทำให้เป็นผู้อาบน้ำฝน
นางอมัยทาสีก็มีศรัทธาอยากจะทำบุญกับเขาบ้าง นางก็คิดว่าจะทำอย่างไรดีหนอ ที่เราจะได้ทำบุญในคราวนี้บ้าง พิจารณาผ้าที่จะให้ทานก็ไม่มี รีบไปหามารดา แล้วบอกความจำนงของตนให้มารดา มารดาก็ตอบว่า เราจะเอามาแต่ที่ไหน เราก็เป็นทาสเขาอยู่
นางอมัยทาสี เมื่อได้ยินดังนี้น้ำตาก็ไหลด้วยความเสียใจ มารดาของนางก็มีจิตสงสาร จึงแนะนำให้นางอมัยทาสีไปขึ้นค่าตัวกับนายนางได้รับคำแนะนำ เช่นนั้นแล้วก็มีความยินดีจึงรีบไปหานายของนาง ฝ่ายเศรษฐีผู้เป็นนายก็ปฏิเสธไม่ยอมให้นางอมัยทาสีขึ้นค่าตัว นางไม่มีความสบายใจนางมาคิดว่าเมื่อชาติก่อนนี้เราไม่ทำบุญให้ทาน มาชาตินี้เราจึงได้ตกระกำลำบาก ถึงเวลาจะทำบุญกับเขาบ้างก็จะไม่ทำกับเขาคราวนี้จะเป็นตายอย่างไรจะต้องขอทำบุญให้ได้ในครั้งนี้
ด้วยจิตศรัทธาแรงกล้านางอมัยทาสีทนความอับอาบขายหน้า ได้สละผ้าห่มแล้วนำใบไม้มาเย็บกลัดพอปกปิด บรรเทาความอายแล้วเอาผ้าซักฟอกให้หมดความสกปรกแล้วนำดอกไม้ธูปเทียนพร้อมด้วยผ้าไปสู่ธรรมศาลาถวายผ้าอาบน้ำฝนนั้นในวันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๗ ก่อนเข้าพรรษาพร้อมกับมหาชนทั้งหลาย แล้วตั้งความปรารถนาว่า ด้วยอานิสงส์ที่ตนได้กระทำบุญในคราวครั้งนี้ ขึ้นชื่อว่าความยากจนเข็ญใจไร้ทรัพย์อย่าได้มีในชาติต่อ ๆ ไป จนถึงพระนิพพาน และขอให้พบพระศาสนา พระศรีอริยเมตไตรย์ เมื่อคำปรารถนาของนางจบลงแล้ว เทวดาทั้งหลายก็ซ้องสาธุการสนั่นหวั่นไหว
ด้วยอานิสงส์ของนางอมัยทาสีทำบุญในคราวครั้งนั้น อยู่มาได้ ๗ วัน พระเจ้าพันธุมหาราช ได้เสด็จไปพบนางกำลังหาบฟืนมาในระหว่างทางก็เกิดความปฏิพัทธ์รักใคร่ในตัวนางมาก จึงตรัสปราศรัยไต่ถามความตลอดแล้วจึงยกนางขึ้นราชรถนำเข้าไปสู่พระนคร อภิเษกนางให้อยู่ในตำแหน่งอัครมเหสี ครั้นทำลายขันธ์แล้วนางได้ไปเกิดบนสวรรค์มีวิมานทองสูง ๑๕ โยชน์ มีนางฟ้าเป็นบริวาร ๓ พัน ครั้นเสวยทิพย์สมบัติแล้วจนในชาติสุดท้ายนางจะได้เกิดในศาสนาพระศรีอริยเมตไตรย์ได้บรรลุธรรมพิเศษดังนี้แล พระองค์ได้ทรงแสดงพระธรรมเทศนาจบลงแล้ว ชนทั้งหลายก็ได้ดวงตาเห็นธรรมส่วนนาง วิสาขาก็ตั้งอยู่ในพระรัตนตรัย