
เยือนวัดประจำราชวงศ์บ้านพลูหลวง 'วัดบรมพุทธาราม' สร้างโดยพระเพทราชา
ทำความรู้จักกับ พระอารามประจำราชวงศ์บ้านพลูหลวง 'วัดบรมพุทธาราม' แห่ง พระนครศรีอยุธยา สร้างบนพระนิเวศน์สถานเดิม ของ สมเด็จพระเพทราชา
แลนด์มาร์กหรือหมุดหมายของหลายๆคนเวลาไปเที่ยวอยุธยา เชื่อว่า มีวัดไชยวัฒนาราม วัดหน้าพระเมรุฯ วัดใหญ่ชัยมงคล หรือวัดที่ขึ้นชื่อต่างๆ แต่หากลองเปลี่ยนหมุดหมายไปเที่ยววัดรอง ย่อมมีเรื่องน่าสนใจไม่น้อย
ยิ่งตอนนี้ ละครเรื่องใหม่ พรหมลิขิต ซึ่งเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ช่วงราชวงศ์บ้านพลูหลวง ทำให้สถานที่ที่เกี่ยวข้องในประวัติศาสตร์ ย่อมได้รับความสนใจไปด้วยในตัว หนึ่งในสถานที่ที่น่าสนใจ นั่นคือสถานที่ที่เป็นเสมือนอารามประจำราชวงศ์บ้านพลูหลวง นั่นคือ “วัดบรมพุทธาราม” วัดที่พระเพทราชาทรงสร้างขึ้นบนพื้นที่บ้านเดิมก่อนขึ้นปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์
เส้นทางการเดินทางไปยังอารามแห่งนี้นั้น เมื่อเข้าเกาะเมือง วิ่งมาถนนศรีสรรพเพชญ์ เลียบรั้วมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา ก็จะพบตัว วัดบรมพุทธาราม ซึ่งหาไม่ยากเพราะอยู่ติดถนนใหญ่
ทำไมวัดนี้จึงสำคัญ และ ควรมาสักการะพระประธานในอุโบสถ ต้องย้อนเล่าเท้าความเก่า ไปสมัยกรุงศรีอยุธยา เมื่อช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อการเปลี่ยนราชวงศ์จากปราสาททองสู่ วงศ์ของพระเพทราชา ที่มีขุนหลวงสรศักดิ์ หรือ พระเจ้าเสือในอนาคต ให้การสนับสนุน และเดินแผนการปูทางสู่ราชบัลลังก์ ในการจับความตีความในข้อมูลทางประวัติศาสตร์ พระเพทราชาถือว่าเป็น ขุนนางชั้นสูง ที่มีบทบาทในด้านความมั่นคง การเมือง มีบารมีมาก ถ้ามองกันดีๆ น่าจะเป็นรองเพียง สมเด็จพระนารยณ์เท่านั้น
บ้านเดิมของพระเพทราชา ว่ากันว่าพระองค์เป็นคนสุพรรณบุรี แต่ความน่าจะเป็นไปได้คือ มีเชื้อสายมาจากสุพรรณบุรี แต่กำเนิดและเติบโตในพระนครอยุธยามากกว่า และมีเรือนชานใหญ่อยู่ริมคลองฉะไกรน้อย ซึ่งพื้นที่บ้านหมดในเวลาต่อมาคือวัดแห่งนี้
ยอมรับว่า ผ่านไปผ่านมาบ่อยครั้ง แต่ไม่ได้แวะ ครั้งนี้จึงตั้งใจมาบันทึกภาพให้เต็มอิ่ม ซึ่งด้วยความที่อยู่ในพื้นที่ที่มีการใช้งานต่อเนื่อง ทำให้ตัววัด ยังดูสง่างาม แม้จะเป็นโบราณสถาน ผมเดินเข้าไปยืนกลางโบสถ์ และนมัสการพระพุทธรูป ก่อนจะมอง พร้อมจินตนาการในคืนวันที่ยังมีหลังคา ผนังที่สวยงาม
สำหรับวัดบรมพุทธารามนั้น มีหลักฐานระบุว่า วัดแห่งนี้ได้สร้างขึ้นบนนิวาสสถานเดิมของ สมเด็จพระเพทราชา ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง ซึ่งบริเวณย่านนี้แต่เดิมเรียก บ้านป่าตอง และย่านใกล้เคียงนั้น คือบ้านดินสอ
การก่อสร้างวัดแห่งนี้ คนที่ศึกษาประวัติศาสตร์จะคุ้นเคยในชื่อวัดกระเบื้องเคลือบ และมีเรื่องเล่ากันว่า สมเด็จพระเพทราชา ทรงได้แรงบันดาลใจในการสร้างวัดที่สวยงามในอดีตตามพระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญมหาปราสาท ที่พระนารายณ์ราชนิเวศน์ และหากจะตีความความสำคัญ วัดนี้เป็นเสมือนวัดประจำราชวงศ์บ้านพลูหลวง
ในพระราชพงศาวดารบันทึกเอาไว้ว่า สมเด็จพระเพทราชาโปรดให้หมื่นจันทรา ช่างทำเครื่องเคลือบที่ฝีมือดีมากในขณะนั้น ทำกระเบื้องเคลือบมุงหลังคาโบสถ์และวิหารด้วยสีทอง เป็นที่แปลกตา จนกลายเป็นสัญลักษณ์ของวัด ชาวบ้านจึงเรียกขานกันว่า ‘วัดกระเบื้องเคลือบ’ ส่วนภายในพระอุโบสถเคยมีภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังที่วิจิตรงดงามแต่ได้เลือนหายไปตามกาลเวลาอีกทั้งถูกพม่าเผาในคราวเสียกรุง
ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย ที่มีการบูรณะซ่อมแซมและบรรจุพระบรมสารีริกธาตุเมื่อ พ.ศ. 2526 แท่นชุกชีก่อฐานสูงเพื่อให้เกิดความความโดดเด่นของพระประธานในฐานะศูนย์กลางจักรวาล ด้านหลังพระประธานไม่ก่อติดผนังเพื่อสามารถเดินประทักษิณได้โดยรอบ ผนังพระอุโบสถมีขนาดสูงใหญ่ก่ออิฐอย่างแข็งแรงเพื่อรองรับน้ำหนักเครื่องบนหลังคา บริเวณผนังปูนกรอบประตูด้านหลังพระประธานทั้งซ้ายและขวา และผนังปูนกรอบหน้าต่างด้านขวาของพระประธาน ยังมีร่องรอยของภาพจิตรกรรมฝาผนังเหลือให้ชมอยู่บางส่วน
เมื่อออกจากโบสถ์ ผมเดินสำรวจพระเจดีย์ทรงเครื่อง และพระวิหาร จับสังเกตได้ว่า วัดนี้ สร้างขึ้นในทิศทาง เหนือและใต้ แตกต่างจากวัดสำคัญอื่นๆในอยุธยา และคะเนจากพื้นที่ ดูเหมือนว่าตัววัดนั้น สร้างเป็นแนวยาว
พื้นที่ไม่ได้กว้างขวางมากนัก และหากนึกย้อนไปในแผนที่ของเกาะเมืองกรุงศรีอยุธยา บ้านของสมเด็จพระเพทราชา อยู่ใกล้กับประตูเมืองด้านใต้ ชื่อประตูชัย ฝั่งตะวันออก ติดคลองฉะไกรน้อย ด้านตะวันตกนั้น อยู่ติดกับถนนหลวง ที่มีชื่อระบุว่า มหารัฐยา
วัดบรมพุทธาราม ได้รับการบูรณะครั้งแรกในสมัย พระมหาธรรมราชา หรือสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ และในการนั้น พระองค์ได้ทรงสร้างบานประตูประดับมุก 3 คู่ เมื่อเสียกรุงครั้งที่ 2 ได้มีการนำบานประตูเหล่านั้นมายังกรุงรัตนโกสินทร์ คู่หนึ่งอยู่ที่ หอพระมณเฑียรธรรม ใน พระบรมมหาราชวัง
อีกหนึ่งคู่อยู่ที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏ์ และประตูคู่ที่สามนั้น ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร โดยกลายเป็นประตูตู้หนังสือ เพราะมีคนนำไปทำ ก่อนที่จะนำมาไว้ที่วังหน้า
เมื่อเดินชมตัววัดจนหนำใจ ผมเดินมายังคลองริมวัด ก่อนจะนึกถึงภาพสมัยกรุงยังคงอยู่ จุดนี้มีสะพานที่ได้ผ่านการบูรณะ ที่เรียกว่า สะพานป่าดินสอ และย่านนี้เป็นย่านการค้าขายเครื่องเขียน และตัวคลองฉะไกรน้อยนั้น
เป็นลำคลองในการบริหารจัดการน้ำของกรุงศรีอยุธยา คลองสายนี้ นอกจากเป็นทางสัญจร ยังเป็นทางระบายน้ำสู่บึงพระราม ทั้งการควบคุมปริมาณน้ำ ไม่ว่าจะเติมน้ำไม่ให้พร่องและระบายน้ำออกเมื่อมีมากเกินไป