ศรัทธาสายมู

รู้จักประวัติ 'หลวงปู่เย่อ โฆสโก' แห่งวัดอาษาสงคราม เกจิสายคงกระพัน

16 ก.ย. 2566

ทำความรู้จักกับประวัติครูบาอาจารย์เมืองพระประแดง หลวงปู่เย่อ โฆสโก แห่งวัดอาษาสงคราม เกจิที่มีชื่อเสียงสายคงกระพัน

เมืองพระประแดง สมุทรปราการ เมืองรามัญ ที่มากด้วยวัฒนธรรม รวมทั้งสรรพวิชา ความเชื่อแบบมอญ ที่สสั่งสมรุ่นสู่รุ่น และเข้มขลังไม้น้อยกว่ามนต์วิชาแขนงใดๆ หนึ่งในเกจิอาจารย์ที่มากด้วยสรรพวิชาอาคมแบบรามัญ ที่คนในพื้นที่และที่สะสมพระเครื่องวัตถุมงคลรู้จักกันไม่น้อย นั่นคือ หลวงปู่เย่อ โฆสโก แห่งวัดอาษาสงคราม ที่เรียกกันว่า สายเหนียวพระประแดง หรือ เสื้อเกราะแห่งพระประแดง วัตถุมงคลของท่านดดดเด่นด้านคงกระพันชาตรี

สำหรับประวัติของท่านนั้น หลวงปู่เย่อ มีนามเดิมว่า ไพฑูรย์ (เย่อ)  นามสกุล กงเพ็ชร์ บิดามารดา เป็นชาวรามัญ โยมบิดาชื่อ เกาะ โยมมารดาชื่อ สา เกิดเมื่อวันจันทร์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2431 ตรงกับวันแรม 3 ค่ำ เดือน7 ปีชวด ที่บ้านทมัง ตำบลตลาด อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ มีญาติพี่น้องร่วมสายโลหิตเดียวกันทั้งสิ้น 4 คนคือ นางหนู นายบ๊ะ หลวงปู่เย่อ และนายเว่

  หลวงปู่เย่อ โฆสโก แห่งวัดอาษาสงคราม
ด้วยความที่ว่าบิดามารดา เป็นชาวรามัญที่เคร่งครัดต่อประเพณีนิยมและมั่นคงต่อพระพุทธศาสนา เมื่ออยู่ในเยาว์วัย บิดาจึงพาไปทำบุญที่วัดด้วยเสมอ ทำให้เลื่อมใสต่อบวรพุทธศาสนามาตั้งแต่เด็กๆ มีจิตใจใคร่ศึกษาธรรม ฝักใฝ่ต่อการเรียนรู้เพราะความใกล้ชิดระหว่างบ้านกับวัดเป็นสาเหตุสำคัญ

ดังนั้นเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2444 ท่านมีอายุได้เพียง 13 ปี บิดา มารดาผู้หวังจะให้บุตรได้ศึกษาหาความรู้จึงได้พาท่านไปบรรพชาเป็นสามเณรน้อย ที่วัดอาษาสงคราม โดยมีท่านพระมหาขันธ์เป็นอาจารย์ให้ศีลและอนุสัยบวชให้ หลังจากนั้นก็ได้ศึกษาเล่าเรียนอักขระสมัยทั้งไทยและรามัญ จนมีความชำนิชำนาญ โดยเฉพาะอักขระขอมรามัญ จึงทำให้ท่านสามารถค้นคว้าตำราและคัมภีร์ต่างๆ ของรามัญได้อย่างกว้างขวาง เกิดความรอบรู้ทั้งทางปริยัติธรรมและวิชาแขนงต่างๆ ทางพุทธศาสนาตลอดจนวิชาการแพทย์ตามแบบโบราณสมัย ไว้เพื่อช่วยสงเคราะห์ชาวบ้านอีกด้วย

ครั้งเป็นสามเณรน้อยท่านดำรงตนเคร่งครัด อยู่ในศีล มีจริยาวัตรงดงาม ผ่องใสด้วยธรรมของพระพุทธองค์ จึงเป็นที่ปิติของบิดามารดาและบรรดาญาติพี่น้อง ตลอดจนครูอาจารย์และชาวบ้านที่พบเห็น ต่างก็ชื่นชมโดยทั่วกัน นอกจากนั้นท่านเองก็มีความแจ่มใสอยู่ในเพศบรรพชิต จึงตั้งจิตมั่นคงที่จะรับใช้พุทธศาสนาจนตลอดชีวิต 
 

เมื่ออายุครบ 20 ปี โยมบิดา มารดาและญาติพี่น้องจะได้ทำการอุปสมบทสามเณรน้อยให้เป็นพระภิกษุผู้สืบ อายุพระพุทธศาสนาต่อไป พร้อมใจกันจัดแจงเตรียมพิธีการต่างๆ ให้สมกับศรัทธาที่มุ่งมั่น สมัยนั้นวัดอาษาสงครามยังไม่มีพระอุโบสถและพันธเสมาก็ได้พากันไปใช้พระ อุโบสถของ วัดพญาปราบปัจจามิตร ซึ่งอยู่ติดกันนั้น

แล้วนิมนต์ให้พระอธิการทอง วัดโมกข์ เป็นอุปัชฌาย์ พระอธิการเกลี้ยง วัดพญาปราบปัจจามิตรเป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระมหาโต วัดโมกข์เป็นพระอนุสาวนาจารย์ กำหนดวันอุปสมบทเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2451 เมื่อถึงเวลาที่ตั้งหมายกำหนดไว้ท่านก็ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ พระอุปัชฌาย์ตั้งฉายาให้ว่า “โฆสโก” แปลได้ว่า ผู้มีความกึกก้องกังวาน หมายถึงมีธรรมอันกว้างใหญ่ไพศาลถ้วนทั่วนั่นเอง


หลังจากอุปสมบท แล้ว ท่านก็ยิ่งเพิ่มทวีศึกษาทางพระพุทธศาสนาทั้งทางคันถธุระและวิปัสสนาธุระมี ความรู้แตกฉานจนจบโดยเฉพาะบาลีแบบรามัญ ท่านมีความสามารถมาก แต่ยังไม่ทันได้เข้าสอบ “สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส” ทรงมีพระบัญชาให้เลิกการสอบแบบปากเปล่า (มุขปาฐะ) และทรงยกเลิกการสอบแบบปากเปล่าทั้งทางบาลีไทยด้วย ให้สอบโดยการขีดเขียน แบบที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้


มุ่งมั่นศึกษาพระพุทธศาสนาทั้งทางคันถธุระและวิปัสสนาธุระ มีความรู้แตกฉานจนจบโดยเฉพาะบาลีแบบรามัญ แต่ยังไม่ทันได้สอบ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงมีบัญชาให้เลิกการสอบแบบปากเปล่า และทรงยกเลิกการสอบแบบปากเปล่าทั้งทางบาลีไทย ให้สอบโดยการขีดเขียนแทน แบบที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้

หลังจากนั้น ท่านมุ่งศึกษาทางปฏิบัติธรรมกัมมัฏฐาน ค้นคว้าด้วยตนเองจากตำราภาษารามัญจนมีความเข้าใจเป็นอย่างดี ก่อนแสวงหาอาจารย์ผู้ทรงคุณในทางปฏิบัติ ท่านจึงเดินทางไปศึกษากับหลวงพ่อหลิม วัดทุ่งบางมด (วัดทุ่งโพธิ์ทอง) ซึ่งเป็นพระอาจารย์ที่มีความสามารถทางวิปัสสนาสูง และเป็นพระเกจิอาจารย์ที่เชี่ยวชาญวิทยาคม ซึ่งในสมัยนั้นการเดินทางจากพระประแดงไปวัดทุ่งบางมดจะต้องใช้เรือแจวไป กว่าจะถึงใช้เวลานานหลายชั่วโมง

หลวงพ่อหลิมนั้น ท่านสร้างเครื่องรางของขลังแจกจ่ายประชาชน ของของท่านมีความศักดิ์สิทธิ์ใช้ได้ผล ทางเมตตามหานิยมนับว่ายอดเยี่ยมมาก เป็นต้นว่า นางกวัก ของท่านปัจจุบันมีค่าหาได้ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัก-ยม ของหลวงพ่อหลิมนั้น ไม่มีอาจารย์ผู้ใดทำได้ศักดิ์สิทธิ์เหมือนของท่าน หลวงปู่เย่อได้ขอศึกษาวิปัสสนากับหลวงพ่อหลิม จนหลวงพ่อหลิมออกปากชมว่า หลวงปู่เย่อมีความเพียรพยายามดีมาก

เมื่อสำเร็จทางวิปัสสนา หลวงพ่อหลิมซึ่งมีความเมตตาหลวงปู่เย่อ จึงให้เรียนวิชาวิทยาคม จนหลวงปู่เย่อเกิดความชำนาญสามารถทำเครื่องรางของขลังที่ได้เรียนมาใช้ได้ผลเป็นที่น่าพึงพอใจ

หลังจากนั้น ท่านไปขอศึกษาวิชาจากพระอาจารย์กินรี วัดบ้านเชียงใหม่ และพระอาจารย์พันธ์ วัดสะกา ซึ่งทั้ง 2 ท่านเป็นเถราจารย์ชาวรามัญที่มีความแก่กล้าทางวิทยาคม

จากข้อมูลที่คนรุ่นเก่าเล่าขานในหมู่คนมีความเชื่อในเมืองพระประแดงนั้น ว่ากันว่า พระอาจารย์พันธ์ วัดสกา ท่านมีชื่อทางสีผึ้งเมตตามหานิยม ที่ทำจากน้ำมันช้างพลายตกมัน คือเอาน้ำมันตรงซอกหูช้างที่ไหลขณะตกมัน มาเคี่ยวกับสีผึ้งใต้ร้านบวบด้วยพระเวทย์ สีผึ้งนั้นใช้ทางเมตตามหานิยมเป็นเยี่ยม

 ส่วนพระอาจารย์กินรี วัดบ้านเชียงใหม่ ท่านมีความชำนาญทั้งทางคงกระพันและเมตตา ทางคงกระพันท่านสร้างผ้าประเจียดสีแดงสวมต้นแขน เล่ากันว่าคงกระพันชาตรีชนิดแมลงวันไม่ได้กลิ่นเลือดทีเดียว ปัจจุบัน วัดบ้านเชียงใหม่ และวัดสกา ไม่มีเค้าลางหรือถาวรวัตถุหลงเหลือแล้ว ได้รวมเป็นวัดเดียวกันชื่อว่า วัดกลาง อยู่ก่อนเข้าตลาดพระประแดง

หลวงปู่เย่อได้ขอศึกษาสืบต่อวิชาจากท่านอาจารย์ทั้งสองนี้ไว้จนจบสิ้น นับว่าท่านมีความเพียรสูง เพราะการศึกษามิใช่เรื่องง่ายๆ จะต้องใช้พลังจิตตั้งใจมากจึงจะสำเร็จ จากนั้นมาท่านเฝ้าเพียรฝึกฝนวิปัสสนาอย่างสม่ำเสมอ ค้นคว้าตำรับตำราของรามัญเก่าๆ ที่มีอย่างเงียบเพียงลำพัง มิได้แสดงตนให้ผู้ใดทราบ ด้วยหลวงปู่เป็นผู้มีความมักน้อย ถ่อมตนอยู่เป็นนิสัย

 ในปี พ.ศ. 2507 พระครูอาทรธรรมกิจ(พร้อม) เจ้าอาวาสวัดอาษาสมครามได้ถึงแก่มรณภาพลง ทำให้ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดว่างลง และในปีเดียวกันนี้นี่เองที่ หลวงปู่เยอ ท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นพระครูสังฆวิจารณ์ ฐานานุกรมของสมเด็จพระสังฆราช (วาสน์) ครั้งเมื่อยังเป็นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ วัดราชบพิตร เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2507

ปีถัดมาหลังจากที่จัดการงานปลงศพพระครูอาทรธรรมกิจ(พร้อม) เสร็จเรียบร้อยแล้ว ทางคณะกรรมการวัดและคณะสงฆ์พร้อมด้วยชาวบ้าน จึงพร้อมใจกันนิมนต์หลวงปู่เย่อ ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสวัดอาษาสงคราม เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง

 หลังจากที่ท่านขึ้นเป็นเจ้าอาวาส ท่านก็ได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถ ทั้งการปรับปรุงเสนาสนะต่างๆ และการสร้างถาวรวัตถุต่างๆภายในวัด ควบคู่กับการอบรมชาวบ้านในพื้นที่ให้อยู่ในศีลในธรรมประกอบสัมมาอาชีพสุจริต

 นอกจากนี้ท่านยังสนับสนุนทางด้านการศึกษาของพระภิกษุสามเณรให้มีความรู้ โดยการจัดตั้งให้มี การเรียนการสอนทางด้านพระปริยัติธรรม 

 สิ่งก่อสร้างที่หลวงปู่สร้างไว้เพื่อให้ชาว บ้านได้ใช้ประโยชน์มีหลายอย่างเช่น เมรุฌาปนสถานและศาลาการเปรียญซึ่งใหญ่โตสวยงาม โดยหลวงปู่ใช้เวลาสร้างเพียงปีเดียวก็สำเร็จ ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่ามีผู้ศรัทธาหลวงปู่มาร่วมแรงร่วมใจกันอย่างดียิ่ง
ปี พ.ศ. 2508 ท่านจึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระครูชั้นสัญญาบัตรชั้นตรี ที่พระครูสังฆวุฒาจารย์ เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. 2508


ปี พ.ศ. 2518หลวงปู่เย่อ ท่านจึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระครูชั้นสัญญาบัตรชั้นโท โดยใช้ราชทินนามเดิมเมื่อวันที่ 5ธันวาคม พ.ศ. 2518


 หลวงปู่เย่อปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงด้วยโรคชราเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2524 นับรวมสิริอายุได้ 94 ปี 73 พรรษา.