ศรัทธาสายมู

กรมศิลปากร พบ พระปรางค์ วัดอรุณราชวราราม เอียง จับตาตรวจสอบ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กรมศิลปากร สำรวจด้วยการสแกน พบ พระปรางค์ ของ วัดอรุณราชวราราม มีความเอียง ประชุมร่วมวางแผน จับตาการทรุดตัวทุก 3 เดือน


ความกังวลต่อโบราณสถานสำคัญของประเทศ เมื่อเร็วๆนี้ ทางกรมศิลปากร ได้ทำการสำรวจพระปรางค์ของวัดอรุณราชวราราม แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นโบราณสถานที่สำคัญของประเทส และเป็นหมุดหมายของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ซึ่งจากการสำรวจตรวจสอบพบว่า จากผลการสแกนพระปรางค์วัดอรุณฯ จากกรมศิลปากร พบมีการทรุดตัวเล็กน้อย ส่งผลพระปรางค์ทิศ และมณฑป เริ่มเอียงเข้าหาพระปรางค์ประธาน 

พระปรางค์วัดอรุณฯ

พระครูปลัดสุวัฒนรัตนคุณ (ชุมพร) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดอรุณราชวราราม และเลขานุการวัดอรุณฯ กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า จากการที่ พระพรหมวัชรเมธี เจ้าอาวาสวัดอรุณราชวราราม และกรมศิลปากร ได้ประชุมร่วมกันเมื่อเร็วๆนี้ หลังจากที่ทางกรมศิปากรได้ทำการสำรวจพระปรางค์วัดอรุณฯพบว่าบริเวณองค์พระปรางค์ประธานมีการทรุดตัวลงเล็กน้อย ทำให้พระปรางค์ทิศทั้ง 4 รวมทั้งมณฑปทั้ง 4 ทิศได้รับผลกระทบ โดยเริ่มมีการเอียงเข้าหาพระปรางค์ประธานเล็กน้อย

กรมศิลปากร พบ พระปรางค์ วัดอรุณราชวราราม เอียง จับตาตรวจสอบ

ซึ่งทางกรมศิลปากรได้อธิบายในเรื่องการทรุดตัวครั้งนี้ว่า อาจเกิดจากการทรุดตัวเดิมอยู่แล้ว หรืออาจจะเป็นการทรุดตัวจากผลกระทบหลายอย่าง ซึ่งแนวทางการดูแลรักษาหลังจากที่ได้ปรึกษากันแล้วว่าทางกรมศิลปากรได้วางเงื่อนไขร่วมกันว่าจะมีการสำรวจความเอียงขององค์พระปรางค์ทั้งหมด และการทรุดตัว ทุก 3 เดือน เพื่อดูว่าความเอียงมีมากขึ้นหรือเท่าเดิม รวมทั้งวางแนวทางการบูรณะองค์พระปรางค์ด้วย

สำหรับการดำเนินการในระยะแรก ได้มีการวางแผนจะสำรวจทุก 3 เดือนก่อน หากไม่พบความผิดปกติเพิ่มเติม ก็จะปรับมาเป็นสำรวจทุก 6 เดือน และจะมีการเฝ้าดูแลอย่างใกล้ชิดมากขึ้น

พระปรางค์วัดอรุณฯ

สำหรับ พระปรางค์ ของวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร หรือเรียกสั้น ๆ ว่า พระปรางค์วัดอรุณฯ เป็นพระปรางค์สถาปัตยกรรมไทย ขนาดใหญ่ ประกอบด้วยปรางค์ประธานและปรางค์รองอีก 4 ปรางค์ ตั้งอยู่ที่ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร  ตัวพระปรางค์ปัจจุบันนี้มิใช่พระปรางค์เดิม ที่สร้างขึ้นราวสมัยกรุงศรีอยุธยา ที่มีความสูงเพียง 16 เมตร โดยปรางค์ปัจจุบันนี้ถูกสร้างขึ้นแทน ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ในปี พ.ศ. 2363 แต่ก็ได้แค่รื้อพระปรางค์องค์เดิม และขุดดินวางราก ก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน ต่อมาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ได้ทรงมีพระราชดำริให้ดำเนินการสร้างต่อ โดยพระองค์เสด็จมาวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2385 จนแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2394 ใช้เวลารวมกว่า 9 ปี

พระปรางค์วัดอรุณฯ ได้รับการบูรณะเสมอมา จนกระทั่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทำการบูรณะพระปรางค์ครั้งใหญ่ ซึ่งก็คือแบบที่เห็นในปัจจุบัน องค์พระปรางก่ออิฐถือปูน ประดับด้วยชิ้นเปลือกหอย กระเบื้องเคลือบ จานชามเบญจรงค์สีต่าง เป็นลายดอกไม้ ใบไม้ และลายอื่น ๆ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากประเทศจีน เป็นจำนวนมหาศาล นอกจากนี้ยังมีการประดับตกแต่งด้วย กินนร กินรี ยักษ์ เทวดา และพญาครุฑ ส่วนยอดบนสุดของพระปรางค์ติดตั้งยอดนภศูล

พระปรางค์วัดอรุณฯ มีความสูงจากฐานถึงยอด 81.85 เมตร ทำให้กลายเป็นสิ่งก่อสร้างที่สูงที่สุดในกรุงเทพมาอย่างช้านาน รวมถึงเป็นพระปรางค์ที่สูงที่สุดในประเทศไทยและของโลกอีกด้วยพระปรางค์วัดอรุณยังเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์การท่องเที่ยวของประเทศไทย ทั้งการเป็นภาพตราสัญลักษณ์การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และยังได้รับการจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในสิบสถานที่ทางพุทธศาสนาที่มีชื่อเสียงที่สุด จากทัวร์โอเปียอีกด้วย

ในส่วนของสถาปัตยกรรมของพระปรางค์วัดอรุณฯ ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก ๆ ได้แก่ ฐาน เรือนธาตุ และเรือนยอด มีสัณฐานดุจเขาพระสุเมรุ ด้วยความกว้างราว 234 เมตร ส่วนตัวเรือนฐานทำการย่อมุมลง และเรือนยอดที่ซ้อนกันเป็นชั้น ๆ ขึ้นไป ในแต่ละชั้นมีช่องรูปกินนรและกินรี เชิงบาตรเหนือช่องมีรูปมารแบกกระบี่แบกสลับกัน เหนือขึ้นไปเป็นซุ้มคูหารูปพระพายทรงม้า เหนือขึ้นไปเป็นยอดปรางค์มีรูปครุฑยุดนาคและเทพนมอยู่เหนือซุ้มคูหา ส่วนยอดปรางค์เป็นนภศูลปิดทอง

กลุ่มพระปรางค์ประกอบด้วยของปรางค์ประธานซึ่งมีความสูง 67 เมตร และปรางค์ทิศจำนวน 4 ปรางค์ เป็นปรางค์องค์เล็กก่ออิฐถือปูนประดับกระจกเคลือบสีแบบเดียวกับพระปรางค์องค์ใหญ่ ปรางค์ทิศตั้งอยู่มุมทักษิณชั้นล่างของปรางค์องค์ใหญ่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ตะวันออกเฉียงใต้ ตะวันตกเฉียงเหนือ ตะวันตกเฉียงใต้ ทิศละองค์

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ