ศรัทธาสายมู

รู้จัก วัดมเหยงคณ์ อยุธยา จากอารามหลวงในอดีตสู่สถานปฏิบัติธรรมชื่อดัง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ทำความรู้จักกับ วัดมเหยงคณ์ เมืองกรุงเก่า พระนครศรีอยุธยา อารามหลวงฝ่ายวิปัสสนาธุระ สืบทอดจนถึงปัจจุบัน สู่สถานที่ปฏิบัติธรรมขึ้นชื่อ

ภายหลังจากเว็บไซต์ราชกิจานุเบกษาประกาศ การแต่งตั้งสมณศักดิ์ พระภาวนาเขมคุณ เจ้าอาวาสวัดมเหงยงคณ์ พระนครศรีอยุธยา ขึ้นที่ พระราชภาวนาวชิรญาณ ไพศาลวิปัสสนาวรกิจ มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี พระราชาคณะชั้นราช ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ก็ต้องขอเล่าถึงวัดสำคัญ อารามโบราณแห่งนี้ เพราะมีแง่มุมที่น่าสนใจตั้งแต่ยุคอดีตจนถึงปัจจุบัน 


หากย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์อันนานเก่า วัดมเหยงคณ์ แห่งนี้ ได้รับการสถปนาขึ้น โดย สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 หรือ เจ้าสามพระยา แห่งราชวงศ์สุพรรณภูมิ ตามบันทึกข้อมูลที่กล่าวไว้ เป็นอารามที่มีความสำคัญในฝ่ายวิปัสสนาธุระ มีสถานะเป็นพระอารามหลวง

วัดมเหยงคณ์
ในทางประวัติศาสตร์ ข้อมูลเกี่ยวกับการก่อกำเนิดวัด มีแตกต่างกัน 2 แนวทาง แนวทางหนึ่งนั้น กล่าวตามพงศาวดารเหนือได้บันทึกไว้ว่า พระนางกัลยาณี มเหสีของพระเจ้าธรรมราชา (พ.ศ. 1844-1853) กษัตริย์องค์ที่ 8 ของอโยธยาเป็นผู้สร้างวัดมเหยงคณ์ ซึ่งแสดงว่าวัดมเหยงคณ์สร้างในสมัยอโยธยาก่อนตั้งกรุงศรีอยุธยาอย่างน้อย 40 ปี


ส่วนพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา กล่าวว่าศักราช 786 มะโรงศก (พ.ศ.1967) เจ้าสามพระยา กษัตริย์กรุงศรีอยุธยาเป็นผู้สร้างวัดมเหยงคณ์ขณะที่พงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติกล่าวว่าศักราช 800 มะเมียศก (พ.ศ.1981) สมเด็จบรมราชาธิราชเจ้า (เจ้าสามพระยา) เป็นผู้สร้างวัดมเหยงคณ์
 

รวมทั้งยังมีการวิเคราะห์กันว่าวัดมเหยงคณ์นั้นถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ครั้งอโยธยา แต่ชำรุดทรุดโทรมเมื่อเวลาผ่านไปกว่า 100 ปี ถึงสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชทรงเห็นว่าเป็นวัดเก่าแก่ จึงบูรณะและสร้างเพิ่มเติมให้ใหญ่โตจากโครงสร้างเดิมที่มีอยู่แล้ว


วัดมเหยงคณ์ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ ในสมัยกษัตริย์พระนามว่า พระภูมิมหาราช หรือ พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระราชวงศ์บ้านพลูหลวง ในปีฉลูเอกศก (พ.ศ.2252) วัดมเหยงคณ์ได้เจริญรุ่งเรืองอย่างมากในสมัยกรุงศรีอยุธยา และคงรุ่งเรืองตลอดมาจนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาแตกใน พ.ศ. 2310

วัดมเหยงคณ์

โบราณสถานสำคัญในพื้นที่ของวัดมเหยงคณ์ มีพระอุโบสถ ตั้งอยู่บนฐานสูง 2 ชั้นลดหลั่นกัน ขนาดพระอุโบสถกว้าง 18 เมตร ยาว 36 เมตร นับว่าเป็นพระอุโบสถที่ใหญ่ที่สุดในเขตจังหวัดพระนครศรีอยุธยา หลังพระอุโบสถทางทิศตะวันตกพ้นเขตกำแพงแก้ว จะพบพระเจดีย์ฐานช้างล้อมซึ่งเป็นเจดีย์องค์ประธานของวัดมเหยงคณ์ ตั้งอยู่บนฐานทักษิณสี่เหลี่ยมจตุรัส

วัดมเหยงคณ์

กว้างยาวด้านละ 32 เมตร มีกำแพงแก้วล้อมรอบ มีบันไดทางขึ้นทั้ง 4 ทิศ ที่ฐานทักษิณมีรูปช้างปูนปั้นยืนประดับอยู่ตามซุ้มรอบฐานรวม 80 เชือก องค์เจดีย์ประธานยอดเจดีย์หักตั้งแต่ใต้บัลลังก์ลงมา ฐานชั้นล่างของพระเจดีย์มีซุ้มพระพุทธรูปจตุรทิศยื่นออกมาเห็นชัดเจน

ในปัจจุบัน วัดมเหยงคณ์ มีภาพจำเป็นหนึ่งในสำนักสอนการปฏิบัติธรรม สอนวิปัสสนากรรมฐานที่มีชื่อเสียง โดย พระราชภาวนาวชิรญาณ  ในปี 2527 ได้จัดตั้งสำนักกรรมฐานขึ้นในบริเวณวัดมเหยงคณ์ โบราณสถานได้รับการดูแล ถากถางพันธุ์ไม้ต่างๆ ที่ขึ้นปกคลุมโบราณสถานไว้ ปรับบริเวณพื้นที่ในฝ่ายพุทธาวาสและสังฆาวาสให้ร่มรื่นและสงบเงียบจากสิ่งรบกวน กรมศิลปากรเองก็เข้ามาดำเนินการขุดแต่งและปฏิบัติงามตามโครงการบูรณะฟื้นฟูดินแดนกลุ่มอโยธยาทำให้สภาพของวัดมเหยงคณ์ ที่เปรียบเสมือนทองคำจมดินอยู่ ได้รับการขัดสีฉวีวรรณให้สุกปลั่ง ปรากฏแก่สายตาของผู้มาพบเห็นได้ชื่นชมและประจักษ์ในคุณค่าของสถาปัตยกรรมไทยในอารามแห่งนี้ได้เต็มที่

วัดมเหยงคณ์
ปัจจุบันกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนวัดมเหยงคณ์เป็นโบราณสถานของชาติ ตั้งแต่วันที่ 8 มี.ค. 2484 กรมศิลปากรได้เข้าไปบูรณะ และเนื้อที่นอกเขตโบราณสถานได้จัดเป็นสำนักปฏิบัติกรรมฐาน โดยมีประชาชนเข้าไปรับการอบรมเป็นจนนวนมาก ทางวัดมเหยงคณ์ได้จัดให้มีกิจกรรมทางศาสนามากมาย ได้แก่

วัดมเหยงคณ์

– จัดอบรมวิปัสนากรรมฐาน

– จัดอบรมปฏิบัติธรรมพิเศษ

– จัดบวชเนกขัมมภาวนาประจำเดือน

– จัดบวชถือศีล 8 ประจำวัน

– จัดบวชพระสงฆ์ประจำเดือน และ พระสงฆ์จำพรรษา

วัดมเหยงคณ์

ปฏิปทาของวัดมเหยงคณ์
– สร้างสถานที่ให้สัปปายะ เพื่อรองรับผู้ปฏิบัติธรรม
– ตั้งโรงเรียนสอนพระปริยัติธรรมเพื่อให้ความรู้ทั้ง พระสงฆ์ และ ประชาชนทั่วไป

– เป็นศูนย์กลางการเผยแพร่พุทธศาสนาในชุมชน

– จัดบวชเนกขัมมภาวนา อบรมจริยธรรม การปฏิบัติธรรม แก่ประชาชนทั่วไป

– ช่วยอนุรักษ์โบราณสถาน และศิลปะของไทยสมัยโบราณ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ