พระเครื่อง

คำวัด - อลัชชี-เดียรถีย์

คำวัด - อลัชชี-เดียรถีย์

27 พ.ค. 2554

"พระปลอม" และ "พระนอกรีต" คือ สิ่งที่ผู้ได้ชื่อว่าเป็นพระไม่ควรทำ เช่น ใบ้หวย ดูหมอ ทำเสน่ห์ ติดหญิง แอบมีเมีย ฯลฯ เป็นปัญหาที่มีมานมนานแล้ว ตั้งแต่ครั้งพุทธกาล แต่จะใช้คำว่า "อลัชชี" และ "เดียรถีย์" แทน

  คำว่า "อลัชชี" ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ ถึงกับได้ทรงตรากฎหมายที่เรียกว่า "กฎพระสงฆ์" เพื่อกวาดล้างพวกอลัชชีที่เข้ามาแอบแฝงทำลายพระศาสนา ปรากฏใน กฎพระสงฆ์ ที่ ๖ ในกฎหมายตราสามดวง มีความตอนหนึ่งว่า

          "...ภิกษุทุกวันนี้บวชเข้ามิได้กระทำตามพระวินัยปรนนิบัติ เห็นแต่เลี้ยงชีวิตผิดธรรมให้มีแต่เนื้อหนังบริบูรณ์ประดุจโคกระบือ มีแต่จะบริโภคอาหารให้จำเริญเนื้อหนัง จะได้จำเริญสติปัญญานั้นหามิได้ เป็นภิกษุสามเณรลามกในพระศาสนา ฝ่ายฆราวาสก็ปราศจากปัญญา มิได้รู้ว่า ทำทานเช่นนี้จะเกิดผลน้อยมากแก่คนหามิได้ มักพอใจทำทานแก่ภิกษุสามเณรอันประสานทำการของตนจึงทำทาน บางคาบย่อมมักง่ายถวายเงินทองของอันเป็นอกัปปิยะมิควรแก่สมณะ สมณะก็มีใจโลภสะสมทรัพย์เลี้ยงชีวิต ผิดพระพุทธบัญญัติฉะนี้ ได้ชื่อว่าฆราวาสหมู่นั้นให้กำลังแก่ภิกษุโจรอันปล้นพระศาสนา ทานนั้นหาผลมิได้ ชื่อว่าทำลายพระศาสนา..."

 ส่วนคำว่า "เดียรถีย์" (อ่านว่า เดีย-ระ-ถี) พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙ ราชบัณฑิต) เจ้าอาวาสวัดราชโอสาราม ได้ใหความหมายไว้ว่า ผู้มีลัทธิดังท่าน้ำอันเป็นที่ข้าม หรือ “ข้ามน้ำผิดท่า” หมายถึง นักบวชนอกศาสนาในอินเดียสมัยพุทธกาล

 (ที่แปลว่า “ข้ามน้ำผิดท่า” นั้นอุปมาถึงบุคคลผู้ออกบวชหวังความพ้นทุกข์ แต่กลับแสวงหาทางที่ผิดหรือศรัทธาปฏิบัติในลัทธิความเชื่อที่มิใช่พระพุทธศาสนา อันเปรียบเหมือนผู้ที่ข้ามแม่น้ำไปขึ้นท่าน้ำที่ไม่ดี ทำให้เสียประโยชน์อันพึงได้ไป)

 เดียรถีย์ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อัญเดียรถีย์ หมายถึงพวกที่มี “ลัทธิ” ความเชื่อถืออย่างอื่น นอกจาก “พระพุทธศาสนา” เดียรถีย์ สมัย พุทธกาล มีหลายพวก เช่น ปริพาชก นิครนถ์ ดาบส อเจลก (ชีเปลือย)

 ปัจจุบันคำนี้ถูกนำมาใช้เรียก ผู้ทำนอกเรื่อง หรือ นอกรีตนอกรอย ประพฤตินอก “ธรรม” นอก “พระวินัย” ว่า พวกเดียรถีย์

"พระธรรมกิตติวงศ์"