พระเครื่อง

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์กับ...ตำนานการสร้างพระกริ่งวัดสุทัศน์อันลือลั่น

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์กับ...ตำนานการสร้างพระกริ่งวัดสุทัศน์อันลือลั่น

03 พ.ค. 2554

มูลเหตุที่สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว) สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ วัดสุทัศนเทพวราราม ทรงสร้างพระกริ่ง-พระชัยวัฒน์นั้น ทรงเล่าว่า เมื่อพระองค์ดำรงสมณศักดิ์เป็นพระศรีสมโพธิ์

 ครั้งนั้น สมเด็จพระวันรัต (แดง) พระอุปัชฌาย์ของพระองค์ยังมีชีวิตอยู่ และครั้งหนึ่งสมเด็จพระวันรัต (แดง) ได้อาพาธเป็นอหิวาตกโรค สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ครั้งยังทรงเป็นกรมหมื่น เสด็จมาเยี่ยม เมื่อรับสั่งถามถึงอาการของโรคเป็นที่เข้าพระทัยแล้ว รับสั่งว่า

 “เคยเห็นกรมพระยาปวเรศฯ เสด็จพระอุปัชฌาย์ของพระองค์ อาราธนาพระกริ่งแช่น้ำอธิษฐาน ขอน้ำพระพุทธมนต์แล้วให้คนไข้เป็นอหิวาตกโรคกินหายเป็นปกติ พระองค์จึงรับสั่งให้มหาดเล็กที่ตามเสด็จไปนำพระกริ่งที่วัดบวรนิเวศ แต่สมเด็จฯ ทูลว่าพระกริ่งที่กุฎิมีสมเด็จพระมหาสมณเจ้า จึงรับสั่งให้นำมาแล้วอาราธนาพระกริ่งแช่น้ำอธิษฐาน ขอน้ำพระพุทธมนต์แล้วนำไปถวายสมเด็จพระวันรัต (แดง)เมื่อท่านฉันน้ำพระพุทธมนต์แล้วโรคอหิวาต์ก็บรรเทาหายเป็นปกติ”

 จากคติความเชื่อดังกล่าว ส่งผลให้วัดต่างๆ สร้างพระกริ่งออกมาให้เช่าบูชาจำนวนมาก โดยเฉพาะที่วัดสุทัศน์เอง เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๔ ทุกคณะมีการสร้างพระกริ่งเช่น คณะ ๑ พระครูวินัยธรนิคม สร้างพระกริ่ง-พระชัยวัฒน์ รุ่นเนื้อทอง พระครูพิมลสรภาณ สร้างพระกริ่ง-พระชัยวัฒน์ รุ่นปวเรศฯ คณะ ๒ พระครูใบฎีกาพิทยา สร้างพระกริ่ง-พระชัยวัฒน์ รุ่นพุทธยอดฟ้า คณะ ๓ พระมงคลเทพโมลี สร้างพระกริ่ง-พระชัยวัฒน์ รุ่นมังกรทอง (นานแล้ว)

 คณะ ๖ พระครูพิทักษ์ถิรธรรม สร้างพระกริ่ง-พระชัยวัฒน์ รุ่น ๙๙ ปี หลวงปู่แป๊ะ คณะ ๗ พระครูสมุห์มงคล สร้างพระกริ่ง-พระชัยวัฒน์ รุ่นสุคโต โชคลาภ คณะ ๑๑ หลวงพ่อพระวิสุทธาธิบดี สร้างพระกริ่ง-พระชัยวัฒน์ รุ่นจอมไทย และ คณะ ๑๔ พระครูโสภณกิตยาภรณ์ สร้างพระกริ่ง-พระชัยวัฒน์ รุ่นแพพันล้าน

 ด้วยจำนวนที่หลากรุ่นของพระกริ่งวัดสุทัศน์ที่ออกในปีเดียวกันถึงกับทำให้สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระวิสุทธาธิบดี กรรมการมหาเถรสมาคม และ เจ้าอาวาสวัดสุทัสน์ถึงกับออกคำสั่งที่ว่า "ประกาศห้ามเททองหล่อพระในวัดที่ด้านข้างพระอุโบสถ" ถึงกับทำให้ พระครูโสภณกิตยาภรณ์  (สมเกียรติ ปญฺญากิตตฺ) อดีตผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสุทัศน์ และเจ้าคณะ ๑๔ ทำเอกสารแจกจ่ายเอกสารเปิดโปงอุตสาหกรรมพุทธพาณิชย์ แย่งชิงจัดสร้างพระกริ่ง และโต้ข้อหาแย่งทำพระกริ่ง แข่งกับเจ้าอาวาส และประกาศห้ามครั้งนั้นไม่มีคณะใดสร้างพระกริ่งออกมาอีกเลย ทั้งนี้ได้มีการเททองรุ่นสุดท้าย คือ รุ่น ๑๐๐ ปี พระกริ่งไทย (คือสมเด็จพระสังฆราช (แพ)) ทรงสร้างพระกริ่งมาครบ ๑๐๐ ปี พอดี (พ.ศ.๒๔๔๑-๒๕๔๑)

 อย่างไรก็ตามตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา แม้ว่าจะผ่านมรสุมข่าวการสร้างพระสมเด็จเหนือหัว แต่ด้วยสายตาอันกว้างไกลและเห็นถึงคุณประโยชน์ต่อส่วนรวมอยู่เป็นนิตย์ ภารกิจของท่านจึงให้ความสำคัญสู่วงกว้าง และด้วยเมตตาธรรมประจำใจของพระเดชพระคุณท่าน ในฐานะองค์รองประธานกรรมการโรงพยาบาลสงฆ์ ได้บริจาคทรัพย์ เพื่อตั้งกองทุนสงเคราะห์พระภิกษุสงฆ์และสามเณรอาพาธ ให้โรงพยาบาลสงฆ์  รวมทั้ง หาทุนจัดสร้างอาคารหอฉัน มจร. และการกุศลต่างๆ จำนวนมาก ทั้งนี้ที่ประชุม มส.ได้พิจารณาแต่งตั้งเลื่อนสมณศักดิ์ประจำปี ๒๕๕๓ มีมติแต่งตั้งสมเด็จพระราชาคณะ ฝ่ายมหานิกาย พระวิสุทธาธิบดี วัดสุทัศนเทพวราราม เป็น สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (แทนสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เจ้าอาวาสวัดสุวรรณาราม ซึ่งมรณภาพ)

 ธรรมเนียมปฏิบัติอย่างหนึ่งของการเลื่อนสมณศักดิ์สายวัดสุทัศน์ คือ การสร้างพระกริ่ง-พระชัยวัฒน์ เนื้อนวโลหะซึ่งเป็นสูตรดังเดิมของการจัดสร้างพระกริ่ง ส่วนเนื้อทองคำนั้นจะมีการสร้างเพียงไม่กี่องค์ ทั้งนี้เพื่อมอบเป็นที่ระลึกให้ลูกศิษย์ที่สนองงานอย่างต่อเนื่องและใกล้ชิดเท่านั้น โดยในการเลื่อนสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ทางวัดได้มีการจัดสร้างพระกริ่ง-พระชัยวัฒน์ รุ่น สมโภชสุพรรณบัฏของเจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวราราม สร้างจำนวน ๘๐ องค์ และหล่อพระหลวงพ่อดำ โดยได้มีพิธีเททองหล่อพระกริ่ง และหลวงพ่อดำ ณ ลานวัดสุทัศน์ เมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๕๓ ได้ประกอบพิธีพุทธาภิเษกวาระสุดท้าย วันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๕๔ เนื่องในวันศุกร์ที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๕๐ วาระโอกาสวันคล้ายวันเกิดของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ 

 พิธีเททองหล่อพระกริ่ง และ หลวงพ่อดำ ณ ลานวัดสุทัศน์เมื่อ วันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๕๓ เท่ากับว่าเป็นการยกเลิก  "ประกาศห้ามเททองหล่อพระในวัดที่ด้านข้างพระอุโบสถ" ที่ยาวนานมาเกือบ ๑๐ ปี

พระกริ่งจักรพรรดิ สร้างหอฉัน มจร.

 หลังประกาศห้ามเททองหล่อพระในวัดที่ด้านข้างพระอุโบสถ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๔ เป็นต้นมา ในการจัดสร้างพระกริ่งที่ออกในนามเจ้าอาวาสวัดสุทัศน์นั้น ท่านได้มอบหมายให้นายสิทธิกร บุญฉิม เป็นผู้ดำเนินการการสร้าง โดยเมื่อ พ.ศ.๒๕๔๓ ได้สร้างพระกริ่งมังกรทอง หาปัจจัย ๑๓ ล้านบาท เพื่อทรัพย์ซ่อมถนนและนำสายไฟฟ้าจัดระบบลงใต้ดินภายในวัดสุทัศน์ เป็นมูลค่าประมาณ ๑๐ ล้านบาท ขณะเดียวกันยังเป็นเจ้าภาพหาทุนจัดงานครบรอบอายุ ๑๐๐ ปีเกิดสมเด็จพระพุฒาจารย์ ณ วัดสุทัศน์ เป็นเงิน ๓ ล้านบาท

 จากนั้นมอบหมายให้ควบคุมการสร้างพระกริ่งคลองด่าน สร้างศาลาสมโภชหลวงพ่อปานมูลค่า ๕ ล้านบาท ปี ๒๕๔๔ ได้มอบหมายให้ควบคุมการสร้างพระกริ่งจอมไทย หารายได้ ๓๑ ล้านบาท ถวายพระวิสุทธาธิบดี เพื่อใช้ในการบำเพ็ญกุศลและส่งเสริมการศึกษาสงเคราะห์ทั่วไป โดยร่วมสร้างอาคาร ร.ร.จันทร์ทองเอี่ยมมูลค่า ๔ ล้านบาท ทั้งนี้ยังมอบหมายให้ควบคุมการสร้างพระกริ่งนาคราช ๑๐๐ ปี และเป็นผู้หาทุนทรัพย์สร้างมณฑป วัดนาคราช จ.สมุทรปราการ งบประมาณ ๑๐ ล้านบาท

 ปี ๒๕๔๕ มอบหมายให้ควบคุมการสร้างพระกริ่งใหญ่วัดช้าง เป็นผู้หาทุนทรัพย์ส่วนหนึ่งสร้างวิหารใหญ่ และหล่อพระพุทธรูปองค์ใหญ่ ณ วัดช้าง จ.นครนายก มูลค่า ๑๐ ล้านบาท ในปีเดียวกันได้ซ่อมอุโบสถวัดนิยมยาตรา จ.สมุทรปราการ ส่วนปี ๒๕๔๖ ได้ควบคุมการสร้างพระกริ่งจักรพรรดิ ๙ ชาติ ในปีเดียวกันเป็นประธานจัดหาทุนสร้างอาคารอเนกประสงค์หอฉัน (มจร.) จ.อยุธยา เป็นเงินมูลค่า ๘๕ ล้านบาท

เรื่องและภาพ ไตรเทพ ไกรงู