
คำวัด - พระบรมสารีริกธาตุ
วันทามิ เจติยัง สัพพัง สัพพัฏฐาเน สุปะติฏฐิตัง สารีริกะธาตุง พุทธะรูปัง สะกะลัง สะทา ตัสสานุภาเวนะ สัพพะสิทธิ ภะวะตุ เม
นี่เป็นคำบูชาพระบรมสารีริกธาตุที่ประดิษฐานในพระบรมธาตุเจดีย์ของวัดต่างๆ ทั่วประเทศ และวัดหนึ่งที่มีพระบรมสารีริกธาตุที่ประดิษฐานเช่นกัน คือ วัดคฤหัสบดี แขวงบายี่ขัน เขตบางพลัด กทม.
สำหรับความหมายของ “พระบรมสารีริกธาตุ” (อ่านว่า พระ-บอ-รม-มะ-สา-รี-ริก-กะ-ทาด) พระเทพคุณาภรณ์ (ปธ.๙) รองเจ้าคณะภาค ๑๓ และเจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชร วรวิหาร ได้อธิบายความหมายไว้ว่า "กระดูกของพระพุทธเจ้าในจำนวน ๒๘ พระองค์ นับตั้งแต่พระพุทธเจ้าทีปังกร มาจนถึงพระพุทธเจ้าพระนามว่า พระสมณโคดม”
"พระบรมสารีริกธาตุ" คือ พระธาตุส่วนย่อยที่บังเกิดแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยเฉพาะ ไม่ได้เป็นคำที่ใช้เรียก พระธาตุของพระอรหันตสาวก หรือพระธาตุเจดีย์ต่างๆ
ประเภทของพระบรมสารีริกธาตุ เนื่องจากพระบรมสารีริกธาตุที่พบเกือบทั้งหมดในปัจจุบัน มีความแตกต่างจากอัฐิของบุคคลธรรมดาทั่วไปอย่างมาก แต่อย่างไรก็ตาม ยังพบลักษณะของพระบรมสารีริกธาตุที่มีลักษณะเหมือนกระดูกคนเช่นกัน เท่าที่พบเห็นได้ตามพระธาตุเจดีย์ทั่วไป หรือตามพิพิธภัณฑสถานต่างๆ ทั่วโลก สามารถแบ่งได้เป็น ๒ ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่
๑.พระบรมสารีริกธาตุ ลักษณะ "พระธาตุ" พระบรมสารีริกธาตุลักษณะนี้ พบมากในประเทศศรีลังกา ไทย จีน พม่า ฯลฯ มีลักษณะตรงหรือใกล้เคียงตามลักษณะที่ปรากฏในอรรถกถาสุมังคลวิลาสินี ในประเทศไทยมีประดิษฐานอยู่ที่พระธาตุเจดีย์ ตามวัดต่างๆ ทั่วไป
๒.พระบรมสารีริกธาตุ ลักษณะ "กระดูกคน" พระบรมสารีริกธาตุลักษณะนี้ พบเฉพาะเขตโบราณสถานในประเทศอินเดีย สำหรับในประเทศไทย รัฐบาลอังกฤษได้มอบให้แก่ประเทศไทย ๒ ครั้ง ครั้งแรกพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานอยู่ ณ เจดีย์ภูเขาทอง วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร และครั้งที่ ๒ รัฐบาลได้อัญเชิญไปประดิษฐาน ณ เจดีย์วัดพระศรีมหาธาตุฯ บางเขน
ส่วนคำว่า "พระธาตุ" คือ กระดูก หรือส่วนของร่างกายต่างๆ เช่น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง โลหิต ฯลฯ ที่มีคุณลักษณะเป็นที่แตกต่างจากสามัญชนทั่วไป โดยมีลักษณะคล้าย "ธาตุ" ซึ่งหากมองโดยไม่สังเกตให้ดีแล้ว ก็คล้าย กรวด หิน แก้ว เพชร ฯลฯ
นอกจากนี้แล้ว คำว่า "พระบรมธาตุ" และ "พระธาตุ" ยังอาจใช้หมายถึงพระสถูปเจดีย์ต่างๆ ได้อีกด้วย เช่น พระบรมธาตุไชยา พระธาตุดอยสุเทพ พระธาตุพนม ฯลฯ