พระเครื่อง

พระปากแดง 
ศิลปะจากพลังศรัทธาของ..."มอญ-พม่า"

พระปากแดง ศิลปะจากพลังศรัทธาของ..."มอญ-พม่า"

27 เม.ย. 2554

"พระโอษฐ์แดง" หรือ "พระปากแดง" เป็นข่าวที่สร้างความสนใจให้แก่พุทธศาสนิกชนอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดเป็นข่าวพบ "พระปากแดง" ที่วัดช้างใหญ่ ต.วัดตูม จ.พระนครศรีอยุธยา หลังพระลูกวัดและเณรทำความสะอาดพระพุทธรูป ๘ องค์ บริวารหลวงพ่อโต เพิ่งพบว่า พระทั้ง ๘ องค์มีร

 ส่วนพระปากแดงที่เป็นข่าวมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงวันหวยออก คือที่วัดพราหมณี จ.นครนายก มีพระประธานศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นที่เคารพนับถือกันอย่างกว้างขวาง มีชื่อว่า "หลวงพ่อปากแดง” เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ สร้างด้วยโลหะสัมฤทธิ์ หน้าตักกว้าง ๔๙ นิ้ว สูง ๑ เมตร เป็นศิลปะสมัยล้านช้าง จีวรเป็นลายดอกพิกุล พระโอษฐ์แย้มทาสีแดงเห็นชัด ชาวบ้านจึงเรียกว่า “หลวงพ่อปากแดง”

 ผู้ที่เคยเดินทางไปเที่ยววัดในประเทศพม่าจะมองว่า พระปากแดงเป็นเรื่องธรรมดา เพราะพระพุทธรูปที่นั้นปากแดงทุกวัด หรืออาจจะเรียกว่า ปากแดงทั้งแผ่นดินพม่า โดยเฉพาะพระพุทธไสยาสน์เจาทัตยี หรือ พระตาหวาน ของวัดเจ๊าทัตจี แห่งนครย่างกุ้ง นอกจากปากแดงแล้ว ทั้งพระพักตร์และขนตาที่งดงาม ดวงตาของท่านเป็นแก้วสวยงดงามมาก รวมไปถึงพระจีวรที่มีความพลิ้วไหวสมจริง และเมื่อเดินมายังปลายสุดพระบาทของพระนอนองค์นี้ ตรงที่พระบาทมีภาพวาดเป็นมิ่งมงคลสูงสุด เพราะประกอบด้วยลายลักษณะธรรมจักร ในบริเวณใจกลางฝ่าพระบาท และล้อมด้วยรูปมงคล ๑๐๘ ประการ

 อาจารย์ราม วัชรประดิษฐ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี บอกว่า พระพุทธรูปปากแดงไม่ใช่เรื่องอัศจรรย์ หรือปาฏิหาริย์แต่อย่างใด แต่เดิมการสร้างพระพุทธรูปเป็นคติมหาบุรุษตามคัมภีร์มหาปุริษลักขณะ รวมกับอิทธิพลของศิลปะกรีกที่นับถือรูปเคารพจากการเข้ามาบริเวณตะวันตกเฉียงใต้ของอินเดีย จนเกิดเป็นศิลปะคันธาราฐขึ้นหลังการปรินิพพานของพระพุทธองค์กว่า ๕๐๐ ปี ซึ่งพระพุทธรูปจะทำจากศิลาทราย ไม้ สัมฤทธิ์ และดิน โดยยังไม่มีสีเป็นองค์ประกอบ ต่อเมื่อทฤษฎีมหาบุรุษในพระคัมภีร์ได้รับความนิยมแพร่หลาย จึงนิยมทาพระฉวี (ผิว) พระพุทธรูปด้วยสีทอง หรือทำแผ่นทองมาปิด ที่เรียกกันว่า การลงรักปิดทอง

 เหตุที่ริมพระโอษฐ์พระพุทธรูปเป็นสีแดงนั้น เริ่มนิยมขึ้นที่กลุ่มชนชาวรามัญ หรือชาวมอญแห่งอาณาจักรสิริธรรมวดี อันมีศูนย์กลางอยู่ที่หงสาวดีเป็นแห่งแรก เหตุด้วยพระภิกษุสงฆ์ชาวมอญนิยมขบฉันหมากพลูอยู่เป็นประจำ เมื่อสร้างรูปจำลองพระพุทธองค์เลยพลอยนำวัสดุที่เรียกว่า “ชาด” ทาริมพระโอษฐ์ และผู้คนก็ยังนิยมถวายหมากพลูแด่องค์พระพุทธรูป เฉกเดียวกับการถวายแด่ภิกษุสงฆ์อีกด้วย

 "เมื่อชาวพยู นำโดยอนิรุทธมหาราช หรืออโนรธามังฉ่อ ขยายอิทธิพลเหนือมอญ ทำให้พุกามรับเอาศิลปะต่างๆ ของชาวมอญเข้าไปด้วย เมื่อสร้างพระก็ทาสีพระพักตร์พระพุทธรูปเป็นสีขาวเหมือนการประแป้งของชาวพยู และทาริมพระโอษฐ์ให้เป็นสีแดง ยิ่งทำให้ดูโดดเด่น จึงนิยมกันเรื่อยมา จนเผยแพร่เข้ามายังล้านนา ในสยามประเทศนั้นอาจกล่าวได้ว่า รับเอาธรรมเนียมการทาริมพระโอษฐ์พระพุทธรูปให้เป็นสีแดงมาจากมอญ ซึ่งหนีพวกพยูเข้ามาบริเวณภาคกลางทางหนึ่ง และเมื่อพม่าเข้ามามีอำนาจเหนือล้านนาอีกทางหนึ่ง ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่า วัดที่สร้างจากศรัทธาของชาวมอญในอดีตนั้น พระประธานในโบสถ์วิหารจะปากแดงทั้งสิ้น" อ.รามกล่าว

 อ.ราม ยังอธิบายด้วยว่า วัสดุที่นิยมนำมาทาริมพระโอษฐ์พระพุทธรูปนั้น เรียกว่า “ชาด” ซึ่งเป็นแร่ชนิดหนึ่ง มีลักษณะเป็นก้อนคล้ายก้อนหิน มีชื่อเรียกกันหลายอย่าง เช่น ชาดหรคุณ ชาดจอแส นิยมนำมาบดเป็นผงอาจผสมดินเทศให้มีสีแดงเข้มขึ้นทาตามอาคาร ชาวจีน และชาวเขิน (ไทยเขิน) มักใช้ในงานศิลปะ เช่น งานปิดทองร่องชาด งานเครื่องฮักเครื่องหาง และงานทาบนพระพุทธรูป และพระพิมพ์ เป็นต้น

 ตั้งแต่สมัยอยุธยาเป็นต้นมา สยามรับอิทธิพลและนำศิลปะจีนมาประยุกต์ใช้ในราชสำนักอย่างแพร่หลาย ก่อให้เกิดงานประณีตศิลป์ เช่น งานลงรักปิดทอง งานประดับมุก งานประดับกระจก การทำมุกแกมเบื้อ ซึ่งการลงชาดก็เป็นงานฝีมืออีกชนิดหนึ่งที่นิยมนำมาใช้ในการทำอาคารสถานที่ การทำตู้พระไตรปิฎก การทำตู้ลายกำมะลอ และการทาชาดลงบนพระพุทธรูป และพระพิมพ์ ความนิยมดังกล่าวสืบเนื่องตั้งแต่สมัยล้านนามาจนถึงรัตนโกสินทร์ ที่นิยมสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่อง โดยปิดทองและทาชาดทำให้พระพุทธรูปดูโดดเด่นและงดงาม และนิยมมาจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.๓)

 อ.ราม พูดทิ้งท้ายไว้อย่างน่าคิดว่า "ด้วยความไม่รู้เรื่อง หรือไม่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์การสร้างพระพุทธรูปในอดีต ในบางครั้งจะพบเห็นพระพุทธรูปเก่าๆ มีรอยกะเทาะจนเห็นริ้วสีแดงอยู่ภายใน ดูเผินๆ เหมือนเส้นโลหิต เป็นเหตุให้ร่ำลือไปต่างๆ นานา โดยเฉพาะเรื่องร้ายๆ ที่จะเกิดขึ้นกับชาวบ้านใกล้เคียง หรือเรื่องร้ายที่จะเกิดขึ้นในแผ่นดิน ซึ่งแท้ที่จริงแล้วสีแดงที่เห็นเป็นสีของชาด ซึ่งนำมาใช้แทนการใช้รักซึ่งมีสีดำ ไม่ใช่เลือดของพระพุทธรูปแต่อย่างใด"

พระศรีศากยะมุณี
 พระพุทธรูปปากแดงประดิษฐานเป็นองค์พระประธานภายในวิหารวัดพร้าว หรือวัดลุ่ม อันเป็นวัดบริวารของวัดพระธาตุลำปางหลวง หรือวัดบน พระพุทธรูปปากแดงองค์นี้คาดว่าสร้างขึ้นพร้อมๆ กับวัดพระธาตุลำปางหลวง มีชื่อว่า "พระศรีศากยะมุณี" เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักประมาณ ๒ เมตร สูง ๓ เมตร ก่อนหน้านี้ปรากฏเพียงองค์พระประธานโดดเด่นอยู่บนแท่นฐาน แต่มีการสร้างวิหารครอบภายหลัง พ.ศ.๒๕๑๐
 ชื่อของ "พระพุทธรูปปากแดง" ถูกเรียกตามรูปลักษณ์ที่ปรากฏ โดยนอกจากองค์พระประธานจะมีปากสีแดงคล้ายทาด้วยลิปสติกแล้ว ด้านหน้าองค์พระประธานยังมีพระพุทธรูปขนาดเล็กตั้งอยู่เบื้องหน้า ซึ่งมีปากสีแดงด้วยเช่นกัน ขณะที่วิหารวัดพร้าวยังถูกบูรณะอย่างสวยงาม ตัววิหารทั้งภายนอกและภายในขับด้วยพื้นสีแดงประดับลวดลายปูนสลักด้วยสีทองทั้งหลัง เป็นที่สะดุดตาแก่ผู้พบเห็น

 พระครูพิธานนพกิจ เจ้าอาวาสวัดพระธาตุลำปางหลวง บอกว่า ก่อนหน้านี้ พระศรีศากยะมุณีมีตัวองค์พระสีขาว กระทั่ง พ.ศ.๒๕๕๐ มีการบูรณะครั้งใหญ่ ช่างที่บูรณะนอกจากจะลงทองเพื่อให้เกิดความสวยงามคงทนแล้ว ยังแต้มสีแดงที่โอษฐ์ (ปาก) ของพระพุทธรูป ด้วยจินตนาการให้มีสีสันสวยงาม ตัดกับสีทองอร่ามของตัวองค์พระ จนเป็นที่แปลกตาของผู้พบเห็น และกลายเป็นที่กล่าวขานจนถึงวันนี้
 
 "ในสยามประเทศนั้น อาจกล่าวได้ว่า รับเอาธรรมเนียมการทาริมพระโอษฐ์พระพุทธรูปให้เป็นสีแดงมาจากมอญ ซึ่งหนีพวกพยูเข้ามาบริเวณภาคกลางทางหนึ่ง และเมื่อพม่าเข้ามามีอำนาจเหนือล้านนาอีกทางหนึ่ง"

0 เรื่อง / ภาพ ไตรเทพ ไกรงู 0