
บุญสรงน้ำ"พระพุทธ-พระธาตุ" กับ...งานสรงน้ำพระร้อยวันสงกรานต์ วัดตะเคียน
การสรงน้ำพระบรมสารีริกธาตุ และพระธาตุ เป็นประเพณีความเชื่อดั้งเดิมมาแต่โบราณ ที่นิยมกระทำเป็นประจำทุกปีในช่วงสงกรานต์ เปรียบเสมือนการได้สรงน้ำพระพุทธเจ้าหรือพระอรหันต์ทั้งหลาย ส่วนวิธีปฏิบัติในการสรงน้ำก็จะแตกต่างกันไป แล้วแต่คติความเชื่อและความศรัทธาของ
เมื่อได้ประมวลวิธีการต่างๆ ตามที่ได้พบเห็นมา มีด้วยกัน ๒ ลักษณะ คือ ๑.สรงน้ำองค์พระบรมสารีริกธาตุหรือพระธาตุโดยตรง และ ๒.สรงน้ำภาชนะหรือสถานที่บรรจุองค์พระบรมสารีริกธาตุ
ส่วนน้ำที่ใช้ในการสรงพระนั้น มี ๒ อย่าง คือ ๑.น้ำสะอาดบริสุทธิ์ มีผู้อธิบายว่า สาเหตุที่ต้องใช้น้ำบริสุทธิ์ในการสรงน้ำองค์พระธาตุนั้น เนื่องจากว่า องค์พระธาตุนั้น เกิดมาแต่ผู้บริสุทธิ์ ธาตุเหล่านั้นจึงเป็นของบริสุทธิ์ ไม่สมควรจะเอาสิ่งใดๆ ก็ตาม เจือปนลงไปแปดเปื้อนองค์พระธาตุ แต่อีกเหตุผลกล่าวว่า ในน้ำหอมหรือดอกไม้ อาจมีสารใดๆก็ตามเจือปน จนอาจทำให้องค์พระธาตุหมองลงได้
และ ๒.น้ำสะอาดเจือด้วยสิ่งบูชา น้ำลักษณะนี้นิยมใช้สรงน้ำพระธาตุโดยทั่วไป นัยว่าได้ถวายเป็นอามิสบูชาต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือ พระอรหันตสาวกทั้งปวง ซึ่งสิ่งบูชาที่เจือลงในน้ำก็แล้วแต่ความชอบ และความเชื่อในแต่ละท้องถิ่น ยกตัวอย่างเช่น น้ำหอม น้ำอบ ดอกไม้ กลีบดอกไม้ ฝักส้มป่อย หรือ แก่นไม้จันทน์ฝน เป็นต้น
"การสรงน้ำพระศาสนาพุทธ ใช้คำว่า ถวายเครื่องเถราภิเษก ถ้าตั้งใจสรงน้ำพระ มีจิตศรัทธาให้พระวรกายของพระพุทธเจ้าสะอาดปราศจากมลทินแล้ว ผลบุญนอกจะทำให้เราเป็นผู้มีความสดชื่น เย็นกาย เย็นใจ ไม่มีเรื่องขุ่นข้องหมองใจแล้ว ยังมีอานิสงส์ทำให้ได้ไปสู่สวรรค์ ชั้นดุสิต เลยทีเดียว ผู้ใดได้สรงน้ำพระผู้นั้นจะพ้นจากทุกข์ภัยทั้งปวง" นี่คืออานิสงส์ของการสรงน้ำพระที่เป็นคติความเชื่อกันมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลถึงปัจจุบัน จากคำบอกเล่าของ พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.๙) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชร รองเจ้าคณะภาค ๑๓
พระเทพคุณาภรณ์ บอกว่า ในสมัยพุทธกาล ในกาลครั้งนั้นองค์สมเด็จพุทธเจ้าเสด็จไปประทับอยู่ ณ เชตวันมหาวิหาร พร้อมภิกษุสงฆ์ ๕๐๐ รูป พระเจ้าปัสเสนทิโกศล พร้อมด้วยมหาอำมาตย์ทั้งหลาย ได้นำเครื่องสักการะทั้งหลายเข้าไปสู่พระเชตวันมหาวิหาร ถวายอภิวาทแด่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วทูลถามว่า ภนฺเต ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อันบุคคลใดกระทำสักการบูชาสรงเถราภิเษก (สรงน้ำพระ) แก่สงฆ์ ด้วยใจเลื่อมใสศรัทธา จะได้ผลอานิสงส์เป็นอย่างไรพระเจ้าข้า
องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ดูกรมหาราช บุคคลใด มีความเชื่อในคุณพระรัตนตรัยทั้ง ๓ ประการในเมื่อปรารถนาอันใด ก็จะสมความมุ่งมาดปรารถนา ทุกประการ
แล้วพระองค์ทรงแสดงสืบต่อไปว่า ในกาลครั้งนั้นเป็นสมัยครั้งศาสนาของพุทธเจ้าเมธังกร ยังมีพระยาพระองค์หนึ่งทรงพระนามว่า วิชัยยะ ได้เสวยสมบัติในเมืองสารนครประกอบไปด้วยทศพิธราชธรรม ๑๐ ประการ มีเถระองค์หนึ่งชื่อว่า อุสสา เป็นอันเตวาสิกแห่งพุทธเจ้าเมธังกร พระยาวิชัยยะทอดพระเนตรเห็นพระมหาเถระเข้ามาในเมือง พระยาวิชัยยะก็มีใจศรัทธาเลื่อมใสในอิริยาบถของพระมหาเถระเจ้า เสด็จไปต้อนรับนิมนต์ให้ไปสู่ปราสาทของพระองค์ แล้วก็จัดแจงสรงเถราภิเษกด้วยน้ำหอม เสร็จแล้วถวายภัตตาหาร ตั้งความปรารถนาว่า ปวงชนทั้งหลายที่อยู่ในขอบเขตขัณฑเสมา ขอจงตั้งอยู่ในโอวาทคำสอนของพระองค์ทุกเมื่อ และขอให้ข้าพระองค์ได้พ้นจากทุกข์ภัยเวร ข้าศึกศัตรูทั้งหลายด้วยบุญกุศลที่ข้าพเจ้าได้กระทำไว้ในอนาคตกาลโน้นเทอญ
พระมหาเถระเจ้าก็ได้อนุโมทนาแห่งพระยาวิชัยยะ แล้วถวายพระพรทิพย์ ๑๐ ประการ ลากลับไปสู่สำนักแห่งพระมหาเถระเจ้า พระยาวิชัยยะได้รับพรแห่งพระมหาเถระแล้วมีจิตยินดีรื่นเริงบันเทิงใจต่อบุญกุศลของพระองค์ที่ทรงกระทำไว้ ครั้นจุติจากโลกแล้วก็ไปอุบัติอยู่บนสวรรค์ชั้นดุสิตพิภพ มีวิมานทองสูง ๒๒ โยชน์ มีนางเทพอัปสรแสนหนึ่งเป็นบริวาร ครั้นสิ้นชีพ ทวบุตรแล้ว ได้ไปเกิดเป็นเจ้าพระสิริตะ เสริมสร้างบารมีให้แก่กล้าขึ้นไป ได้มาเกิดเป็น องค์พระตถาคต เดี๋ยวนี้แล
บุญสรงน้ำพระร้อย"วัดตะเคียน"
ปัจจุบันนี้ใครที่ได้ไปเยือน วัดตะเคียน ถ.นครอินทร์ ต.บางคูเวียง อ.บางกรวย จ.นนทบุรี จะพบเห็นความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะถนนหนทางเข้าวัด ทัศนียภาพภายในวัด ซึ่งมีการจัดระเบียบจนดูดี มีสิ่งก่อสร้างใหม่ๆ เกิดขึ้น โดยเฉพาะการจัด “ตลาดน้ำ” จนกลายเป็นตลาดที่โด่งดังอีกแห่งของ จ.นนทบุรี ทั้งหมดนี้เป็นเพราะบารมีของ “หลวงปู่แย้ม ปิยวัณโณ” เจ้าอาวาส โดยมี พระครูสมุห์สงบ กิตติญาโณ เป็นผู้ดำเนินการ
อย่างไรก็ตาม ในเทศกาลสงกรานต์ประจำ ๒๕๕๔ นี้ ที่วัดได้จัดงานบุญใหญ่ระหว่างวันที่ ๙-๑๗ รวม ๙ วัน เพื่อสืบสานประเพณีเก่าแก่แต่โบราณกาล ในงานมีกิจกรรมบุญ และความบันเทิงใจที่หลากหลาย อาทิ สรงน้ำหลวงพ่อธรรมจักร พระพุทธรูปประจำตัว หลวงปู่แย้ม และรูปหล่อหลวงปู่แย้มนั่งเสือ, สักการะรูปหล่อหลวงปู่แดง อดีตเจ้าอาวาส, ชมการละเล่นการแข่งขันกีฬาพื้นบ้าน ร่วมก่อพระเจดีย์ทรายชิงรางวัล (วันที่ ๑๗ เม.ย.), รดน้ำขอพรผู้ใหญ่คนเฒ่าคนแก่, เที่ยวชมตลาดโบราณย้อนยุคที่จัดขึ้นเป็นโอกาสพิเศษ, เลือกชมและชิมอาหาร-ขนมไทยสารพัดชนิด
พระครูสมุห์สงบ บอกว่า ไฮไลท์ของงานสงกรานต์ปีนี้อยู่ที่การอัญเชิญหลวงพ่อธรรมจักร พระพุทธรูปประจำตัวหลวงปู่แย้ม ออกมาให้ประชานชนสรงน้ำ รวมทั้งนิมนต์พระสงฆ์ ๑๐๐ รูป จากวัดใน อ.บางกรวย และอำเภอใกล้เคียง มาสรงน้ำบริเวณหน้าโบสถ์หัวเสือหัวมังกร ในวันเสาร์ที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๕๔ เวลา ๑๖.๐๐ น. ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกของวัดตะเคียนและของ จ.นนทบุรี เพื่อเป็นสิริมงคลและสื่อความหมายถึงการร้อยรวมจิตใจมาร่วมงานบุญ เพื่อความก้าวหน้า จิตใจฉ่ำเย็น สุขกายสบายใจ และเป็นการแสดงความเคารพต่อปูชนียบุคคลผู้สืบทอดพระศาสนา
"การสรงน้ำพระ ศาสนาพุทธ ใช้คำว่า ถวายเครื่องเถราภิเษก มีอานิสงส์ทำให้ได้ไปสู่สวรรค์ ชั้นดุสิต เลยทีเดียว ผู้ใดได้สรงน้ำพระ ผู้นั้นจะพ้นจากทุกข์ภัยทั้งปวง"
เรื่องและภาพ ไตรเทพ ไกรงู