พระเครื่อง

ภาพวาดสมเด็จพระนเรศวรจากการเข้าสมาธิของ..."สำนักค้นคว้าทางวิญญาณ"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ภาพยนตร์เรื่อง “ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” เป็นภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ กำกับการแสดงโดย หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล หรือ ท่านมุ้ย ไม่ใช่ครั้งแรกของการนำภาพของพระนเรศวรให้มีตัวตนและสมจริงมากขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้ นายพิศาล อัครเศรณี เคยทำเรื่อง "มหาราชดำ" มาแล้

 ทั้งนี้ต้องยอมรับว่า ท่านมุ้ยทำให้ "ภาพ" ในมโนภาพของคนไทยเกี่ยวกับสมเด็จพระนเรศวรเป็นจริงเป็นจัง และเป็น "มาตรฐาน" เดียวกันมากขึ้น รวมทั้งจะปฏิเสธไม่ได้ว่า ท่านมุ้ยทำให้หนังตำนานพระนเรศวรมีความสมจริงมาก จนหลายคนพากันถกเถียงถึง "ความสมจริง" ในหลายๆ ประเด็น และประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อยคือ “พระพักตร์และพระวรกายของสมเด็จพระนเรศวรเป็นเช่นไร”

 การวาดภาพสมเด็จพระนเรศวรเกิดขึ้นครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯ ให้มีการสร้างภาพชุดเรื่องสมเด็จพระนเรศวรขึ้นเป็นครั้งแรก จำนวน ๙๔ ภาพ ซึ่งเป็นฝีมือการวาดของกลุ่มช่างหลวงหลายคน และยังมีการเขียนโคลงภาพพระราชพงศาวดารกำกับภาพด้วย ๓๗๖ บท ก่อนจะนำไปแสดงที่ท้องสนามหลวงในงานพระราชทานเพลิงพระศพเจ้านายหลายพระองค์ เมื่อปี ๒๔๓๐ และยังพิมพ์เป็นสมุดพระราชทานแจกด้วย นอกจากนี้แล้ว ยังมีภาพวาดสมเด็จพระนเรศวร ที่ขึ้นชื่อว่าเก่าแก่ที่สุด คือ พระอุโบสถวัดสุวรรณดาราราม จ.พระนครศรีอยุธยา

 อย่างไรก็ตาม ในสมัยปัจจุบัน มีการวาดภาพสมเด็จพระนเรศวรเช่นกัน แต่แตกต่างจากภาพวาดในสมัย ร.๕ ที่พระอุโบสถวัดสุวรรณดาราราม อย่างสิ้นเชิง "พระพักตร์ ทรงพระเกศา และฉลองพระองค์" ทั้งนี้ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๐ สำนักค้นคว้าทางวิญญาณ (ในสมัยที่มีอาจารย์พร รัตนสุวรรณ เป็นผู้อำนวยการสำนัก) ได้มีการวาดภาพสมเด็จพระนเรศวรออกมา ๒ ภาพ คือ ภาพฉลองพระองค์ในวันทรงทำยุทธหัตถี และภาพวาดฉลองพระองค์ปกติ เมื่อวาดเสร็จได้พิมพ์แจกให้ผู้สนใจนำไปสักการบูชาหลายหมื่นใบ

 การเขียนรูปเหมือนของบุคคลที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อนเลย (ไม่ว่าตัวจริงหรือรูปถ่าย) และบุคคลนั้นก็เสียชีวิตไปแล้วด้วย เป็นกิจกรรมหนึ่งของสำนักค้นคว้าทางวิญญาณ ทั้งนี้ สำนักค้นคว้าทางวิญญาณซึ่งมีบุคคลที่สามารถเข้าสมาธิได้ลึกมาก จนติดต่อกับโอปปาติกะ ในระดับเทพได้

 นอกจากนี้แล้ว สถาบันค้นคว้าทางวิญญาณได้พิสูจน์เกี่ยวกับเรื่องวิญญาณหลายเรื่องหลายกรณี ได้มีโอกาสออกไปสำรวจโบราณสถานหลายแห่งร่วมกับ อาจารย์จุลทัศน์ พยาฆรานนท์ ซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้ดีในทางศิลปะสถาปัตยกรรมสมัยต่างๆ และมีความรู้ทางประวัติศาสตร์โบราณคดี เพื่อจะหาข้อมูลพิสูจน์ว่า โอปปาติกะซึ่งเคยมีความรู้เกี่ยวข้องกับโบราณสถานนั้นๆ เพื่อที่จะสามารถบอกเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของโบราณสถานเจดีย์ หรือวิหาร พระพุทธรูป และอื่นๆ ได้มากน้อยเพียงไร เพื่อจะทำให้คนทั้งหลายเกิดความเชื่อได้อย่างสนิทใจ
 
 ในการเขียนรูปบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ สำนักค้นคว้าทางวิญญาณ ได้รับความช่วยเหลือจาก อาจารย์ลาวัณย์ อุปอินทร์ (ดาวราย) อาจารย์คณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร ร่วมกับ อาจารย์ศรีเพ็ญ จัตุทะศรี แห่งสำนักค้นคว้าทางวิญญาณ โดย อาจารย์ลาวัณย์ จะเขียนตามคำบอกของอาจารย์ศรีเพ็ญ เมื่อเขียนออกมาแล้ว ปัญหาก็คือ คนที่เชื่อเป็นรูปเหมือนของอดีตกษัตริย์จริงๆ ก็มีอยู่ แต่คงไม่มากนัก คนที่ไม่เชื่อดูจะมีมากกว่า สำนักค้นคว้าทางวิญญาณจึงพยายามพิสูจน์ในเรื่องนี้

 ทั้งนี้ อาจารย์ศรีเพ็ญ และอาจารย์ลาวัณย์ ได้ร่วมมือกันเขียนรูปเหมือนของอดีตกษัตริย์ของไทย ๑๒ พระองค์ คือ พ่อขุนรามคำแหงมหาราช สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระเอกาทศรถ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พ่อขุนผาเมือง พ่อขุนเม็งรายมหาราช ท่านเซนต์เบอร์นาร์ด พ่อหมอชีวกโกมารภัจ พระนางจามเทวี และเจ้าหญิงแสนหวี

 อย่างไรก็ตาม การเขียนภาพจากการเข้าสมาธิของอาจารย์ศรีเพ็ญ และวาดภาพโดยอาจารย์ลาวัณย์ ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เกิดขึ้นในวงการวาดภาพ เพราะที่ผ่านมา มีภาพวาดของพระอริยสงฆ์ในอดีต ๒ รูป ที่ใช้วิธีการเดียวกัน คือ ภาพหลวงปู่ทวด และภาพหลวงปู่เทพโลกอุดร ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันว่าเป็นตัวตนที่แท้จริงของท่าน ทั้งๆ ที่ไม่เคยมีใครเห็นตัวท่านจริงๆ

กรรมวิธีในการวาดภาพ

 วิธีการเขียน คือ ทุกครั้งที่จะลงมือเขียน อาจารย์ศรีเพ็ญจะต้องติดต่ออัญเชิญท่านไว้ก่อน ซึ่งหน้าที่ในการติดต่อนั้นเป็นของพ่อฤาษี (เทพเจ้าองค์หนึ่ง ซึ่งมาช่วยเหลืองานของสำนักค้นคว้าทางวิญญาณ) เมื่อท่านทรงอนุญาตและนัดเวลาแล้ว จึงจะเขียนได้ เมื่อถึงเวลาตามนัด คุณศรีเพ็ญจะเข้าสมาธิไปดูท่านก่อน ซึ่งใช้เวลาไม่เกิน ๑ นาที เมื่อจำรูปร่างลักษณะส่วนที่จะเขียนได้แล้ว ก็จะออกจากสมาธิมาบอกให้อาจารย์ลาวัณย์เขียน

 ครั้งแรกอาจารย์ลาวัณย์ก็จะเขียนให้ดูก่อนตามคำบอก เมื่อไม่เหมือนก็จะต้องลบแล้วเขียนใหม่จนกว่าจะเหมือน และบ่อยครั้งที่สุดจะต้องเข้าไปดูอีก เพื่อให้แน่ใจว่า เหมือนจริงหรือไม่ เพราะฉะนั้น กว่าจะเขียนขึ้นมาได้แต่ละรูปจึงต้องใช้เวลานานนับเป็นเดือนเป็นปี ในกรณีที่มีรายละเอียดเครื่องทรงเครื่องประดับมาก

 วิธีการเขียนนี้ อาจารย์ศรีเพ็ญ ผู้เข้าสมาธิไปพบกับท่านใดก็ตามก็จะมาเล่าให้ศิลปินผู้เขียน คือ อาจารย์ลาวัณย์ฟัง อาจารย์ก็จะเขียนไปตามคำบอกเล่า อาจารย์ศรีเพ็ญ ก็จะต้องเข้าสมาธิ ออกจากสมาธิ สลับกันนับเป็นหลายสิบครั้ง เพื่ออธิบายรายละเอียดต่างๆ ให้อาจารย์ลาวัณย์ฟัง และเขียนแก้ไขไปเรื่อยๆ จนอาจารย์ศรีเพ็ญ บอกว่า เหมือนแล้วใช้ได้แล้ว ก็ถือว่าเสร็จงานไป

 ความจริงแล้ววิธีการนี้ก็ไม่ได้แปลกอะไร เพราะตำรวจก็ใช้วิธีการนี้ในการสเก็ตช์ภาพคนร้าย / คนหาย จากพยานที่พอจำหน้าได้ เพียงแต่ตำรวจจะสเก็ตช์เพียงคร่าวๆ เพราะพยานเล่าได้จากความจำเท่านั้น แต่อาจารย์ศรีเพ็ญ เข้าสมาธิไปพบตัวจริงได้ตลอดเวลา จึงสามารถเล่ารายละเอียดได้มากกว่า ทำให้รูปมีความสมบูรณ์เหมือนมากกว่า 

 ทั้งนี้ มีการพิสูจน์วิธีการเข้าสมาธิของอาจารย์ศรีเพ็ญ กับการวาดรูปของอาจารย์ โดยให้ไปเขียนรูปบุคคลในยุคปัจจุบันที่เพิ่งเสียชีวิตไปไม่นานนัก และมีญาติสนิทเหลืออยู่ (เช่น ลูก สามี ภรรยา ) โดยทั้ง ๒ คนนี้ต้องไม่เคยพบเห็นผู้ตายมาก่อนเลย (ต้องไม่เคยเห็นรูปด้วย) เมื่อเขียนจนพอใจแล้ว ก็นำมาให้ญาติ พี่ น้อง ผู้ตายดู ถ้ายอมรับว่าเหมือนรูปญาติที่ตายไปแล้ว ก็ย่อมพิสูจน์ได้ว่า การติดต่อทางสมาธิกับโอปปาติกะรวมเทพต่างๆ นั้น เป็นไปได้จริง ซึ่งเป็นการพิสูจน์โดยปริยายว่า ภพภูมิหลังการตายจากมนุษย์ไปแล้วมีจริงด้วย ซึ่งมีเอกสารและหลักฐานยืนยันหลายสิบกรณีในหนังสือชื่อ “ประวัติการสร้างอนุสาวรีย์พ่อขุนผาเมือง” ของสำนักค้นคว้าทางวิญญาณ


0 เรื่อง / ภาพ ไตรเทพ ไกรงู 0

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ