
หลวงพ่อพระซุ้ม พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์แห่ง อ.บ้างฉาง
หลวงพ่อพระซุ้ม คือ พระพุทธรูปองค์ประธานงานสรงน้ำพระร้อย ของวัดสุวรรณรังสรรค์ หรือ วัดยายร้า อ.บ้านฉาง จ.ระยอง เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย (ชนะมาร) ขัดสมาธิเพชร องค์พระมีขนาดหน้าตักกว้าง ๑๙ นิ้ว ทรงเครื่องประดับอาภรณ์พรรณประทับเหนือพุทธบัลลังก์
ภายในซุ้มเรือนแก้วมีพญานาค ๒ ข้าง เป็นเนื้อนวโลหะหล่อจากก้านชนวนพระกริ่งเก่าๆ ของวัดสุทัศนเทพวราราม การสร้างองค์หลวงพ่อพระซุ้มมีขึ้นเมื่องานสมโภชผ้าพระกฐินพระราชทาน โดยนายสิทธิกร บุญฉิม และพุทธศาสนิกชนจำนวนหลายหมื่นคนมีจิตศรัทธาร่วมบริจาคโลหะทองคำ เงิน นาก ฯลฯ ในการเททอง
ทุกๆ ปีในวันที่ ๑๘ เมษายน เทศกาลงานสงกรานต์ของวัดยายร้า ชาวบ้านเรียกงานวันไหล จะอัญเชิญองค์หลวงพ่อมาเป็นพระประธานในงาน มีธรรมเนียมปฏิบัติเป็นประจำทุกปี คือ การยกพระ หมายถึงการยกองค์หลวงพ่อพระซุ้มออกจากบัลลังก์ โดยจะต้องให้โหราจารย์ใหญ่คำนวณมงคลฤกษ์ที่ดีเพื่อประกอบพิธีบวงสรวงแล้วจึงจะอัญเชิญออกจากที่ประดิษฐานได้
ก่อนถึงวันยกพระจะต้องมีการขัดพระเพื่อเป็นการขัดสิ่งสกปรกออกจากพระวรกาย ถือเป็นเคล็ดของผู้ที่ได้ขัดพระว่าจะเป็นการขจัดสิ่งชั่วร้ายออกจากร่างกาย เป็นการสะเดาะเคราะห์ จากนั้นจะเป็นการสร้างมณฑปที่ประดิษฐานชั่วคราวขององค์หลวงพ่อพระซุ้มในงานสรงน้ำพระร้อย ซึ่งการยกหลวงพ่อพระซุ้ม ผู้ที่จะทำหน้าที่เป็นผู้อัญเชิญจะต้องเป็นผู้ชายที่ได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการทั้งหมดโดยการเสี่ยงทายต่อหน้าพระพักตร์องค์หลวงพ่อพระซุ้มแล้ว
การยกองค์หลวงพ่อพระซุ้ม ปีหนึ่งจะประกอบพิธีกรรมเพียงครั้งเดียวโดยถือตามมงคลฤกษ์ หากปีใดฤกษ์การยกพระกระชั้นชิดเวลาก็อนุโลมให้ยกพระขึ้นประดิษฐานบนรถบุปผชาติแล้วอัญเชิญออกแห่ได้เลย ซึ่งผู้ที่เป็นประธานยกจะกลั้นลมหายใจและตั้งจิตอธิษฐานขอพรอันประเสริฐได้ ๓ ประการขณะที่ยก คือ ๑.ขอพรให้กับวัด ๒.ขอพรให้ชุมชน และ ๓.ขอพรให้ตนเอง การขอพรองค์หลวงพ่อพระซุ้มในวันที่มีพิธียกพระนั้น พรที่ขอล้วนแล้วประสบผลทั้งสิ้น
ความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อพระซุ้ม มีเรื่องกล่าวขวัญกันว่า องค์พระท่านมีเทพยดาฟ้าดินรักษาเมื่อการใดฝนฟ้าตกต้องผิดเวลา หากผู้มีจิตอันบริสุทธิ์จุดธูป ๑๕ ดอก บอกกล่าวแล้ว ฝนฟ้าจะตกต้องตามฤดูกาล มีอยู่ปีหนึ่งจัดงานการกุศล เกิดฝนฟ้าตกลงมาระหว่างงาน ทำให้เกิดความเสียหาย พอจุดธูปบอกกล่าวองค์หลวงพ่อพระซุ้มแล้ว ฝนจะหยุดตกโดยฉับพลันอันเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาของผู้ที่มาร่วมงานอยู่บ่อยครั้ง
จากมหิทธานุภาพทุกๆ วันจะมีผู้มาสักการะขอพรโดยเฉพาะผู้ที่อยู่ทางไกล จะขอพรได้สำเร็จสมความปรารถนา แต่พรที่ขอจะขอได้เพียงข้อเดียวและเกี่ยวข้องกับงานอันเป็นสุจริตธรรม ทั้งนี้ของอันเป็นมงคลที่เหมาะแก่การสักการะหลวงพ่อพระซุ้ม ได้แก่ หมากพลู ยาฉุน โค้ก เป๊ปซี่ น้ำส้ม หากผู้ที่บนบานศาลกล่าวได้สำเร็จผลมักจะแก้บนด้วย ละครรำ ลิเก ฯลฯ ส่วนข้อห้ามสำหรับการสักการะ คือ ไม่ปรากฏว่ามีใครเคยได้ปิดทององค์หลวงพ่อพระซุ้มเลย
บุญสรงน้ำหลวงพ่อพระซุ้ม-พระร้อย
อานิสงส์ถวายเครื่องเถราภิเษก (สรงน้ำพระ) มีเรื่องเล่าอานิสงส์ในสมัยพุทธกาลว่า ในกาลครั้งนั้นองค์สมเด็จพุทธเจ้า เสด็จประทับอยู่ ณ เชตวันมหาวิหาร พร้อมภิกษุสงฆ์ ๕๐๐ รูป พระเจ้าปัสเสนทิโกศล ได้ทูลถามว่า ภนฺเต ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อันบุคคลใดกระทำสักการบูชาสรงเถราภิเษก (สรงน้ำพระ) แก่สงฆ์ ด้วยใจเลื่อมใสศรัทธา จะได้ผลอานิสงส์เป็นอย่างไรพระเจ้าข้าองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า "ดูกรมหาราช บุคคลใด มีความเชื่อในคุณพระรัตนตรัยทั้ง ๓ ประการในเมื่อปรารถนาอันใด ก็จะสม ความมุ่งมาตรปรารถนา ทุกประการ"
การสรงน้ำพระในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งมี ๒ แบบ คือ การสรงน้ำพระพุทธรูป และการสรงน้ำพระภิกษุสามเณร ทั้งนี้ก็เพื่อความเป็นสิริมงคล และเป็นการแสดงความเคารพต่อปูชนียบุคคลผู้สืบทอดพระศาสนา ขณะเดียวกัน ก็มีวัดหลายแห่งยังเชิญผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนมานั่งต่อท้ายพระเณรอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้ผู้มาร่วมงานได้รดน้ำขอพรผู้ใหญ่ เป็นการแสดงความเคารพและความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ เป็นการแสดงความอ่อนน้อมถ่อมตนทำให้ท่านเมตตาเอ็นดู และการที่ท่านให้พร ก็เป็นการเตือนสติให้เราเริ่มต้นชีวิตด้วยความไม่ประมาท
ทุกๆ ปีในวันที่ ๑๘ เมษายน เทศกาลงานสงกรานต์ของวัดยายร้า และ อ.บ้านฉาง ชาวบ้านเรียกงานวันไหล จะอัญเชิญองค์หลวงพ่อมาเป็นพระประธานในงานสรงน้ำพระ อย่างไรก็ตามการสรงน้ำพระภิกษุสามเณรปกติทั่วไปแล้วก็จะนิมนต์พระในวัดนั้นๆ มาสรงน้ำ ถ้าเป็นวัดเล็กก็จะมีพระสงฆ์สามเณรไม่กี่รูป หากเป็นวัดใหญ่ก็อาจจะมีหลักสิบรูป แต่งานการสรงน้ำซุ้มและสรงน้ำพระร้อย ของวัดยายร้า ซึ่งจัดขึ้นมนวันที่ ๑๘ เมษายนของทกๆ ปี ทางวัดได้นิมนต์พระจากวัด๑๖ แห่งกว่า ๒๐๐ รูป ในอำเภอมาร่วมพิธี
โดยในปีที่ผ่านๆ มามีพุทธศาสนิกชนมาร่วมงานนับหมื่นคน จนกลายเป็นว่า "สรงน้ำพระร้อยของวัดยายร้ากลายเป็นงานสงกรานต์สุดท้ายและใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออก" นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมการแสดงของนักเรียน และการแสดงคอนเสิร์ตของนักร้องชื่อดังจากค่ายต่างๆ มาร่วมให้ความบันเทิงแก่ผู้ที่เข้ามาร่วมงาน
“หากผู้ที่บนบานศาลกล่าวได้สำเร็จผลมักจะแก้บนด้วย ละครรำ ลิเก ฯลฯ ข้อห้ามสำหรับการสักการะ คือ ไม่ปรากฏว่ามีใครเคยได้ปิดทององค์หลวงพ่อพระซุ้มเลย”
เรื่อง - ภาพ... "ไตรเทพ ไกรงู"