
หลวงพ่อเมือง พลวฑฺโฒ พระผู้สร้าง..."พุทธบูชาคลินิก-พิพิธภัณฑ์ศพ"
"พระโพธิญาณมุนี วิ." เป็นสมณศักดิ์พระราชาคณะชั้นสามัญฝ่ายวิปัสสนาของ "พระครูปลัดสุวัฒนเมตตาคุณ" หรือที่รู้จักกันในนาม "หลวงพ่อเมือง พลวฑฺโฒ" เจ้าอาวาสวัดป่ามัชฌิมวาส บ้านดงเมือง ต.ลำพาน อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ โดยได้รับการเสนอชื่อเลื่อนและตั้งสมณศักดิ์พระสงฆ
บนเนื้อที่ ๑๒๕ ไร่ ของวัดป่ามัชฌิมาวาส หลวงพ่อเมืองได้สร้างวัดให้เป็นพุทธสถานอีกแห่งหนึ่งอันเลื่องชื่อในด้านสถานปลีกวิเวก เหมาะแก่การปฏิบัติธรรมกรรมฐานเจริญจิตภาวนา สงบเรียบง่าย ร่มครึ้มไปด้วยต้นไม้นานาพันธุ์ เป็นสถานที่พึ่งพิงของสัตว์น้อยใหญ่ ในเขตอภัยทานหลากชนิด อาทิ ไก่ป่า กระรอก กระแต กระต่าย เต่า แย้ นกยูง ฯลฯ
กุฏิของพระภิกษุสามเณรแต่ละรูป เป็นกุฏิเรียบง่าย พอแก่การบังแดด ลม ฝน ส่วนกุฏิที่สร้างถาวรมีอยู่รวมประมาณกว่า ๒๐ หลัง ใช้เป็นที่พักญาติโยมทั้งหญิงและชายมักมาขอปฏิบัติธรรมภาวนา เป็นช่วงเวลาสั้นๆ จัดแยกเขตกันระหว่างพระภิกษุสามเณร ญาติโยมชายและหญิงอย่างเป็นระเบียบ
ด้วยเหตุที่วัดป่ามัชฌิมวาสเป็นสถานที่ร่มรื่น ร่มเย็น มีองค์พระพุทธรูปและวัตถุเก่าแก่ต่างๆ สะอาด มีสัตว์ป่าขนาดเล็กอาศัยอยู่กับวัดอย่างมีความสุข เช่น ไก่ป่า ไก่แจ้ กระรอก นกยูง ปลานานาชนิด ในวัดมีโรงอาหารเพื่อจัดเป็นโรงทาน มีกุฏิตั้งสอดแทรกไปตามป่าสวยงาม มีพระวิหารตั้งอยู่กลางน้ำสวยงาม วัดแห่งนี้จึงกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางด้านศาสนาและวัฒนธรรม ทุกๆ วันจะมีประชาชนหลั่งไหลเข้ากราบไหว้เยี่ยมชมตลอด
"ถ้าจะพูดให้เข้าใจง่ายๆ คือ เป็นพุทธสถานที่ต้องการความสันโดษ พระเณรอยู่กันอย่างสงบ สันติ สมถะ ไม่ต้องการความพลุกพล่าน ไม่ต้องการคำยกยอปอปั้นหรือชื่อเสียงใดๆ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สถิตในวัด อาทิ พระพุทธรูปหลวงปู่ขาว และหลวงปู่ผ้าขาวนี้มิใช่ตัวล่อ ที่จะโน้มน้าวจิตใจหรือเรียกศรัทธาให้ผู้คนหันหน้าเข้าวัด ขอให้เข้าใจว่า ในโลกนี้ไม่มีสิ่งใดที่จะเชิดชูชีวิตจิตใจให้สูงส่ง และดีเด่นเทียบเท่าพระธรรม" นี่เป็นแนวทางของวัดป่าจากคำบอกเล่าของหลวงพ่อเมือง
นอกจากนี้แล้วที่วัดแห่งนี้ยังมี "พุทธบูชาคลินิก" อันเกิดขึ้นจากความคิดของทันตแพทย์สุทธิศักดิ์ บุญนิธิ ผู้จุดประกาย นำคลินิกทำฟันมาตั้งไว้ในบริเวณวัด ทั้งนี้ได้เริ่มเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ ๒ พฤษาคม ๒๕๔๙ ให้บริการทางด้านทันตกรรมและการตรวจรักษาโรคทั่วไป โดยไม่คิดมูลค่าใดๆ ทั้งสิ้น ในระยะแรกมีเตียงทำฟันเพียง ๑ เตียง ตรวจโรคทั่วไปเพียงเดือนละหนึ่งครั้ง มุ่งเน้นการให้บริการแด่พระภิกษุสามเณร และวัดอื่นๆ ทั้งในเขต จ.กาฬสินธุ์ และจังหวัดใกล้เคียง มากกว่าบุคคลทั่วไป เนื่องด้วยพระภิกษุสามเณรมีข้อจำกัดด้านหลักพระธรรมวินัย ไม่สะดวกเดินทางไปรับการรักษาพยาบาลได้ที่โรงพยาบาล หรือคลินิก
นับตั้งแต่เริ่มต้นการให้บริการ มีผู้มาขอรับบริการเป็นจำนวนมาก ทั้งพระภิกษุสามเณร ตลอดจนบุคคลทั่วไป จนกระทั่งวัดต้องย้ายสถานที่ให้บริการให้กว้างขวางขึ้นเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการ และขยายโอกาสการรักษาพยาบาลแบบไม่คิดมูลค่าแก่บุคคลทั่วไป ปัจจุบันมีห้องตรวจโรคและห้องทำฟัน ๔ ห้อง โดยแยกห้องและห้องตรวจโรคสำหรับพระภิกษุสามเณร และฆราวาสออกจากกันเป็นสัดส่วน
ทุกๆ วันจะมีประชาชนหลั่งไหลเข้ารักษาโรคภัยไข้เจ็บจากคุณหมอและพยาบาลชื่อดังทั่วประเทศอย่างเป็นกันเองและมีความสุข ถ้าผู้ป่วยหนักก็ได้รับการสนับสนุนจากโรงพยาบาลกาฬสินธุ์ สำหรับผู้มีจิตศรัทธาร่วมสานต่อปณิธาณบุญสร้าง “พุทธบูชาคลินิก” ได้วัดป่ามัชฌิมาวาส โทร.๐๘-๑๖๑๒-๒๐๒๐ และ ๐๘-๑๙๕๔-๓๔๕๙ หรือโอนเงินเข้าบัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกสิกรไทยสาขากาฬสินธุ์ ชื่อบัญชี “วัดป่ามัชฌิมาวาส (พุทธบูชาคลินิก) เลขที่บัญชี ๑๓๐-๒-๕๗๒๗๘-๖
พิพิธภัณฑ์ศพ
“อาจารย์ใหญ่” หรือซากศพมนุษย์ ภายในศาลาอัศวินวิจิตร หรือพิพิธภัณฑ์ศพ ได้รับความอนุเคราะห์จากโรงพยาบาลศรีนครินทร์ จ.ขอนแก่น มากว่า ๑๕ ปี แล้ว ซึ่งวัดได้ทำเรื่องขอยืมมาเป็นอาจารย์ใหญ่ ให้ผู้มาศึกษาธรรม หรือผู้สนใจได้มองเห็นสัจธรรม อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
หลวงพ่อเมืองบอกว่า ชีวิตหรือสังขารคนเราเป็นของไม่เที่ยง ไม่คงทนถาวร ตอนยังอยู่ก็ดูดีมีคุณค่า ถึงคราตายก็เหมือนหมดความหมาย ในสายตาของทางโลกอาจคิดกันอย่างนี้ แต่หากมองดีๆ คิดให้ลึกซึ้ง คิดโดยนัยธรรมะ จะเห็นคุณค่าเหลือคณานับ พินิจดูศพแล้วกลับมามองสรีระของตัวเองแล้วเป็นยังไง ในบั้นปลายก็ไม่ต่างกันเลย ตอนที่ยังมีชีวิต ถูกกรรมลิขิตให้โลดแล่นบนกองกิเลสตัณหาสารพัดสารพัน ครั้นตายไปแล้วได้อะไรติดตัวไปบ้างไม่มีเลย แม้แต่เงินปากผี ยังถูกสัปเหร่อหยิบเอา เหลือแต่ตัวเปล่าๆ กลับไปไม่ต่างกับตอนแรกเกิดเลย
หากยามใดที่อยากจะพักผ่อนทางใจ แบบไม่ต้องสิ้นเปลืองใดๆ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายบริการสถานที่ เหมือนอย่างที่ทางโลกเขาโปรโมทโฆษณาเชิญชวนกัน ก็ลองหันมาพักผ่อนทางธรรม ที่พิพิธภัณฑ์ศพ โดยให้ซากศพเป็นครูดูบ้างเป็นไร อาจจะรู้แจ้งเห็นจริงในสัจธรรมของชีวิตได้เป็นอย่างดี
หลวงพ่อเมืองพูดทิ้งท้ายไว้อย่างน่าคิดว่า "ใครที่ลุ่มหลงในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส อันเป็นตัวพอกพูนกิเลสตัณหาในใจ หากได้มาศึกษาจากซากศพเหล่านี้ อาจจะได้สิ่งดีๆ กลับไป หรือใครที่มัวแต่หลงเงาตัวเอง เอาแต่ชื่นชมเปลือกนอก ผลของการมาดูอาจารย์ใหญ่หรือซากศพมนุษย์ ที่เป็นเหมือนกระจกเงาสะท้อนชีวิตของผองผู้คน ไม่มีใครหนีพ้นจากความเกิด แก่ เจ็บ ตาย จึงน่าจะทำให้ผู้มาดูเก็บไปเป็นข้อคิดเตือนใจ และดำเนินชีวิตอย่างมีคุณค่า เรารู้ว่าอนาคตจะต้องตาย มีสภาพไม่ต่างจากซากศพที่นอนอยู่เบื้องหน้าที่รอวันเปื่อยเน่า เราจึงควรจะหมั่นสรรค์สร้างคุณงามความดีไว้เป็นหลักฐานให้ลูกหลานได้เห็นคุณค่าในตัวเรา เมื่อเราเห็นปลายทางของเราอย่างนี้ เราก็จะไม่อยู่ในความประมาท ไม่ขาดสติในการกระทำใดๆ ทั้งปวง"
"ผลของการมาดูอาจารย์ใหญ่หรือซากศพมนุษย์ ที่เป็นเหมือนกระจกเงาสะท้อนชีวิตของผองผู้คน ไม่มีใครหนีพ้นจากความเกิด แก่ เจ็บ ตาย จึงน่าจะทำให้ผู้มาดูเก็บไปเป็นข้อคิดเตือนใจ และดำเนินชีวิตอย่างมีคุณค่า"
เรื่อง... "ไตรเทพ ไกรงู"
ภาพ... "ชมพิศ ปิ่นเมือง"