พระเครื่อง

ชุมนุมร่างทรงกับคนมีองค์ ในพิธี...นวราตรีพระพิฆเนศวร ที่ อ.เมืองระยอง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ร่างทรง กับ คนมีองค์" เป็นที่ถกเถียงและสงสัยกันมานานว่า เรื่องร่างทรง กับคนมีองค์ มีจริงหรือไม่ และแตกต่างกันอย่างไร บางคนเชื่อ บางคนไม่เชื่อ บางคนว่ามีจริง บางคนว่าไม่มีจริง บางคนมองว่าเป็นเรื่องงมงาย หรือบางคนไม่เชื่อ แถมยังลบหลู่ไปเลยก็มี

  ร่างทรงเป็นความเชื่อส่วนบุคคล ที่เข้าใจว่ามีองค์เทพ หรือ เจ้าพ่อ เจ้าแม่ หรือ บรรพบุรุษมาประทับก็จะเป็นร่างทรง ผู้คนมักจะกล่าวคำเรียกขานว่า คนมีองค์

 จากคติความเชื่อที่ว่า "ร่างทรง" เป็นภาคหนึ่งของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และจุติมาเพื่อช่วยขจัดปัดเป่าบรรเทาทุกข์ทั้งปวง โดยเทพจะสื่อกับมนุษย์ได้โดยผ่าน "ร่างทรง" ซึ่งปกติแล้วเราจะพบร่างทรงได้เฉพาะที่สำนักเท่านั้น แต่เมื่อวันเสาร์ที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๕๔ ที่ลานวัฒนธรรมเมืองเก่าระยอง ถนนยมจินดา อ.เมือง จ.ระยอง ชมรมรักษ์เมืองระยองได้จัดงานนวราตรีพระพิฆเนศวร (การบูชาพระพิฆเนศวร ๙ ราตรี ระหว่างวันที่ ๑๒-๒๐ มีนาคม ๒๕๕๔) ปรากฏว่ามีร่างทรงจากสำนักต่างๆ กว่า ๑๐๐ องค์ ๑๐๐ สำนักมาร่วมงาน ในการจัดงานครั้งนี้ผู้จัดงานได้เชิญผู้ว่าราชการจังหวัดมาเป็นประธานฝ่ายฆราวาส เจ้าคณะจังหวัดระยองมาเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ รวมทั้งเชิญผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดระยอง มาร่วมงานด้วย

 นายปรีชาย เรืองเดช หรือ อาจารย์ยอดกมล ประธานจัดงานนวราตรีพระพิฆเนศวร บอกว่า “งานนวราตรีพระพิฆเนศวร” ที่จัดขึ้นในครั้งนี้ เพื่อเป็นการไหว้ครูบูชาครูเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่คนไทยยึดถือปฏิบัติกันมานาน จากรุ่นสู่รุ่น แต่ปัจจุบันการศึกษายุคใหม่ไม่เน้นเรื่องนี้แต่อย่างใด ทำให้ประเพณีพิธีกรรมที่คนรุ่นเก่าเคยทำกันมานับวันแต่จะเลือนหายไป

 ภาพของพ่อแก่ฤๅษี หรือเทพเทวดาที่ครูบาอาจารย์เคยเคารพนับถือ กลายเป็นภาพของสิ่งเร้นลับและความงมงาย และคนรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งปฏิเสธไม่ยอมรับพิธีการไหว้ครูแบบโบราณ จึงยังคงมีอยู่แต่ในบ้านของหมอโบราณ ช่างเขียน ช่างปั้น บ้านของครูละคร เท่านั้น คนทั่วไปไม่มีโอกาสได้เห็น หรือรู้รายละเอียดของพิธีกรรมแต่อย่างใด งานไหว้ครูเป็นงานที่รวมไว้ด้วยคุณธรรม คือความกตัญญูที่ลูกศิษย์พึงมีต่อครูและความเมตตาของครูที่มีต่อลูกศิษย์

 พร้อมกันนี้ อาจารย์ยอดกมล ยังบอกด้วยว่า ปัจจุบันการดำเนินชีวิตของประชาชนชาวไทยส่วนหนึ่งยังมีการผูกพันกับความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตนนับถือ และมักจะหาสิ่งของ เช่น ดอกไม้ ธูปเทียน บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้น สิ่งที่ยังพบอยู่และนับวันจะมีความนิยมมากขึ้นและพบมาก ในการประกอบพิธีกรรมต่างๆ เพื่อเคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย และพิธีกรรมที่เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตในช่วงต่างๆ ของมนุษย์ สิ่งนั้นคือ บายศรี ซึ่งเป็นงานศิลปะแห่งการประดิษฐ์ สิ่งที่เรียกกันว่าบายศรี ซึ่งเป็นงานที่ต้องใช้ความประณีตความอดทนและความสามารถเป็นอย่างสูง

 นอกจากนี้แล้ว การอ่านโองการต่างๆ ในการเชิญครูเทพเทวดา เป็นการรักษาสิ่งที่เรียกว่ามนต์คาถาของคนรุ่นเก่าไว้โดยสมบูรณ์ พุทธกับพรามณ์เป็นที่ยึดเหนี่ยวทางใจของคนไทยมาโดยตลอด โดยชาวพุทธมีวัดมีพระสงฆ์เป็นผู้ดูแลแนะนำ แต่ศาสนาพรามณ์ในประเทศไทยไม่มีองค์กรดูแลเลย คงปล่อยให้เป็นไปตามข้อกำหนดของเจ้าพิธีแต่ละคน ซึ่งบางครั้งทำให้คนส่วนหนึ่งเข้าใจไปว่า เป็นเรื่องของไศยศาสตร์มนต์ดำ ซึ่งความเป็นจริงในศาสนาพรามณ์ไม่มีเรื่องเหล่านี้ พิธีกรรมของพรามณ์จะเป็นเรื่องของเทวดาและมนุษย์เท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับภูตผีปีศาจแต่ประการใด

 ทั้งนี้ อ.ดวงกมล พูดทิ้งท้ายไว้อย่างน่าคิดว่า "การแสดงความเคารพในพิธีพรามณ์จะมีแต่สิ่งอันเป็นมงคล เช่น ความสวยงามละลานตาของดอกไม้บายศรี กลิ่นหอมของธูปและกำยานกับความสว่างไสวของดวงไฟและแสงเทียนบูชา ดังที่ท่านได้เห็นอยู่ในพิธีนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบพิธีกรรมทุกคนเป็นผู้ที่ให้ความเคารพบูชาพระสงฆ์องค์เจ้าและเป็นชาวพุทธที่มั่นคงทั้งสิ้น การประทับร่างทรงมีสาระสำคัญที่เป็นจุดเน้นคือ ให้มนุษย์ทุกคนละเว้นจากกิเลส สิ่งชั่วร้ายทั้งหลาย เพื่อขจัดความสับสนวุ่นวาย ความเสื่อมของสังคมให้หมดไป เพื่อมนุษย์จะได้อยู่อย่างสงบสุข ให้ทุกคนทำความดีช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ศรัทธาในศาสนาเพื่อความสุขในชีวิต"

ร่างทรงองค์จตุคามรามเทพ
 ในช่วงจตุคามรามเทพได้รับความนิยมสุดขีด การประทับร่างทรงจตุคามรามเทพเป็นส่วนหนึ่งของพิธีเทวาภิเษกจตุคามฯ ทุกรุ่น และบุคคลหนึ่งที่มักถูกเชิญไปเป็นร่างทรงจตุคามฯ คือ นายอะผ่อง สกุลอมร ซึ่งเป็นที่รู้จักในนาม “โกผ่อง” ซึ่งเป็นร่างทรงขององค์จตุคามรามเทพในยุคการเริ่มสร้างหลักเมืองนครศรีธรรมราช
 
 องค์จตุคาม ปรากฏตัว พ.ศ.๒๕๓๐ องค์จตุคาม ถูกบูชาอย่างเป็นทางการขึ้นครั้งแรก พร้อมกับการสร้าง ศาลหลักเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งมี พล.ต.ท.สรรเพชญ ธรรมาธิกุล ผู้บัญชาการประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทำหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการสืบสวน พล.ต.ต.ขุนพันรักษ์ราชเดช (ขุนพัน) นายตำรวจผู้เคยมีชื่อเสียงด้านการปราบจอมโจรขมังเวท อะผ่อง สกุลอมร (โกผ่อง) เป็นร่างทรงขององค์จตุคามฯ

 ในครั้งนั้น พล.ต.ท.สรรเพชญ ได้พบกับดวงวิญญาณตนหนึ่ง ผู้มาประทับร่างทรง ที่ วัดนางพระยา นครศรีธรรมราช ซึ่งได้วาดรูปของตนเองผ่านร่างทรง แล้วบอกท่านสรรเพชญให้นำไปให้ ไอ้หนวด (ขุนพัน) ดู ซึ่งเขาจะรู้ว่าตนเป็นใคร หลังจากที่ ขุนพัน ดูภาพแล้วจึงกล่าวว่าเป็น อดีตกษัตริย์แห่งศรีวิชัย มีนามว่า จันทรภานุ หรือ จตุคามรามเทพ ต่อมาวิญญาณตนนั้นได้ขอให้ท่านสรรเพชญสร้างศาลหลักเมืองนครศรีธรรมราช ขึ้น

 อีกเรื่องกล่าวว่า ขณะกำลังจะสร้างศาลหลักเมืองนครศรีธรรมราช โกผ่อง ซึ่งเป็นคนทรงได้ถูกเข้าทรงโดยดวงวิญญาณตนหนึ่ง ซึ่งได้วาดรูปตัวเองเพื่อให้โกผ่องนำไปให้ ไอ้หนวด (ขุนพัน) ดู ซึ่ง ขุนพัน ดูแล้วกล่าวว่าเป็น อดีตกษัตริย์แห่งศรีวิชัย จตุคามรามเทพ ซึ่งเป็นเทพประจำศาลหลักเมืองมาเป็นพันปีแล้ว

 "ปัจจุบันการดำเนินชีวิตของประชาชนชาวไทยส่วนหนึ่งยังมีการผูกพันกับความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตนนับถือ และมักจะหาสิ่งของบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้น สิ่งที่ยังพบอยู่และนับวันจะมีความนิยมมากขึ้นและพบมาก"

เรื่อง... "ไตรเทพ ไกรงู"
ภาพ... "นิวัตร เปาอินทร์"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ