พระเครื่อง

พระกริ่ง 'หลังปิ' วัดสุทัศนฯ ๒๕๐๖
สร้างโดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เสงี่ยม)

พระกริ่ง 'หลังปิ' วัดสุทัศนฯ ๒๕๐๖ สร้างโดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เสงี่ยม)

21 มี.ค. 2554

พระกริ่ง วัดสุทัศนเทพวราราม ที่สืบสานตำราการสร้างในสมัยต่อมาอีกรุ่นหนึ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง คือ พระกริ่ง "หลังปิ" ซึ่งสร้างขึ้นโดย สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เสงี่ยม จนฺทสิริ) เมื่อครั้งยังดำรงสมณศักดิ์พระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมวิสุทธาจารย์ เมื่อปี ๒๕๐

 สาเหตุที่ได้จัดสร้างพระกริ่งรุ่นนี้ ก็เนื่องด้วยในระหว่างนั้น สภาพของวัดสุทัศนเทพวราราม ชำรุดทรุดโทรมมาก โดยที่เป็นวัดขนาดใหญ่ หากมีการบูรณปฏิสังขรณ์ก็ต้องใช้เงินมิใช่น้อย สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เสงี่ยม จนฺทสิริ) จึงได้จัดสร้างพระกริ่งตามแบบขององค์พระอุปัชฌาย์ คือ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทวมหาเถร) ขึ้น เรียกว่า พระกริ่ง "หลังปิ"

 พระกริ่ง "หลังปิ" มีพุทธลักษณะประทับนั่งขัดสมาธิเพชร ปางมารวิชัย พระหัตถ์ซ้ายทรงถือวชิระ ทรงคล้ายหัวปลี มีขนาดความสูง ๓.๒ ซม. ฐานกว้าง ๑.๙ ซม. ฐานบัวมี ๗ คู่ ด้านหลังตอกโค้ดตัวขอมอ่านว่า "ปิ" อันเป็นที่มาของชื่อพระกริ่งรุ่นนี้

 โดยภาพรวม พระกริ่ง "หลังปิ" มีพุทธลักษณะคล้ายกับ พระกริ่งจาตุรงค์มณี ของ พระมงคลราชมุนี (สนธิ์ ยติธโร) เข้าใจว่าคงถอดพิมพ์ดังกล่าวมา จำนวนสร้าง ๑ หมื่นองค์ ประกอบพิธีเททองและพุทธาภิเษกภายในพระอุโบสถวัดสุทัศนเทพวราราม เมื่อวันที่ ๖-๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๖เป็นเวลา ๓ วัน ๓ คืน โดยมีพระเกจิอาจารย์ร่วมในพิธีเป็นจำนวนมาก

 กระแสเนื้อพระ เดิมเป็นสีจำปาออกนาก เมื่อกลับดำจะเป็นประกายแวววาว มีผิวไฟติดอยู่ตามซอกประปราย โค้ดตัว "ปิ" อาจไม่ได้ตอกตรงฐานหลังทุกองค์ บางองค์มีการตอกตรงใต้ฐานที่เว้าเป็นแอ่งกระทะก็มี นอกจากนี้ยังมีรอยจารอีกด้วย องค์ในภาพนี้พิเศษตรงที่เป็น พิมพ์หน้าทิเบต ซึ่งมีน้อย และหายาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สวยคมชัดระดับแชมป์แบบนี้ ไม่มีปรากฏให้เห็นตามสนามพระทั่วไป

0 กร หลักสี่ 0