
หนังสือ "พระปลอมพระเก๊" ขายได้ ขายดี มีคนซื้อพอๆกับ..."หนังสือพระแท้"
ของเก๊ ของปลอม ของเทียม และของไม่แท้ มีอยู่ในทุกวงการผลิตสินค้า ในวงการพระเครื่องก็เช่นกัน มีพระเก๊พระปลอมจำนวนมาก ถึงกับมีคำพูดที่เซียนพระใช้แทนความหมาย พระเก๊พระปลอม อยู่หลายคำ เช่น ชุกซัว ซาลูตู้ ดุ๊ย กระตู้ฮู้ พระไม่ถูกพิมพ์แต่เนื้อถึง พระไม่มีพุ
“พระเก๊ พระปลอม” อยู่คู่กับวงการพระเครื่องมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ว่ากันว่า มีมาตั้งแต่พระเครื่องเริ่มมีราคาเช่าหากัน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่พระบางองค์มีอายุปลอมเฉียดๆ ๑๐๐ ปี เพราะพระบางองค์เจ้าของได้รับการสืบทอดมาจากคนรุ่นทวด แต่เจ้าของพระลืมไปว่า การปลอมพระมีกันมาตั้งแต่คนรุ่นปู่รุ่นทวดเช่นกัน
ด้วยเหตุที่ “พระเก๊ พระปลอม” มีจำนวนมาก โดยเฉพาะพระสมเด็จ พระในหมวดชุดเบญจภาคีทุกชนิด จึงมีคนจัดพิมพ์หนังสือรวบรวมภาพพระเก๊ทั้งเล่มออกมาจำหน่าย ปรากฏว่า ขายได้ ขายดี มีคนซื้อพอๆ กับ "หนังสือพระแท้"
“เหตุที่หนังสือพระปลอมขายได้นั้น เพราะคนซื้อไม่รู้ว่า ภาพพระในหนังสือนั้นเป็นของปลอม ทั้งนี้ผู้จัดพิมพ์หากมีทุนมาก มีทีมงานที่ดี ก็สามารถจัดพิมพ์หนังสือมีความสวยงาม มีมาตรฐานเดียวกับหนังสือพระแท้ ชนิดที่เรียกว่า แยกไม่ออกเลยว่า หนังสือเล่มใดเป็นหนังสือพระแท้ หนังสือเล่มใดเป็นหนังสือพระปลอม”
นี่เป็นความเห็นของ นายสมศักดิ์ ศกุนตนาฏ ประธานชมรมนักข่าวและช่างภาพพระเครื่อง และเจ้าสำนักพิมพ์คเณศ์พร ผู้จัดพิมพ์หนังสือคุณภาพอันเป็นที่ยอมรับของวงการพระเครื่องมากว่า ๓๐ ปี
นายสมศักดิ์ ยังบอกด้วยว่า การเล่นพระเครื่องมีหลายกลุ่ม ด้วยเหตุนี้ทำให้มาตรฐานพระแท้พระปลอมต่างกันไปด้วย พระองค์เดียวกันกลุ่มหนึ่งอาจจะมองว่าเป็นพระแท้ ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งอาจจะมองว่าเป็นพระปลอม แต่ถ้าเป็นเซียนพระที่สังกัดสมาคมพระเครื่องพระบูชาไทย ซึ่งมี นายพยัพ คำพันธุ์ เป็นนายกสมาคมนั้น ได้กำหนดไว้ว่า การเล่นพระต้องเป็นมาตรฐานเดียวกัน หากสมาชิกในสมาคมให้เช่าพระกับบุคคลภายนอก หากรู้ภายหลังว่าเป็นพระปลอม ต้องคืนเงินให้ผู้เช่าครบตามจำนวน
อย่างไรก็ตาม ในการจัดพิมพ์หนังสือพระเครื่องให้เป็นที่ยอมรับของคนวงการพระเครื่องนั้น นายสมศักดิ์ บอกว่า ภาพพระเครื่องที่ปรากฏในหนังสือที่มีอยู่หลายร้อยภาพ บางเล่มอาจจะมีภาพพระมากกว่าพันใบ ต้องเป็นภาพพระแท้ทั้งหมด หากมีภาพพระปลอมเพียงใบเดียว จะส่งผลต่อหนังสือเล่มนั้นทันที คือ ขายไม่ออก บางเล่มถึงกับขายไม่ได้เลยก็มี เพราะผู้ซื้อไม่เชื่อว่าเป็นผู้รู้จริง
ด้าน น.ส.อรวรรณ แสนประเสริฐ หรือ ติ๋ม ท่าพระจันทร์ เจ้าของแผงขายหนังสือพระเครื่องและวัตถุมงคลที่เปิดดำเนินการมากว่า ๓๐ ปี บอกว่า หากแบ่งหนังสือโดยยึดหลักเอาความเก๊แท้ของภาพพระที่ปรากฏในหนังสือ สามารถแบ่งออกได้ ๓ ประเภท คือ ๑.หนังสือพระแท้ทั้งเล่ม ๒.หนังสือพระเก๊ทั้งเล่ม และ ๓.หนังสือพระแท้ปนกับพระเก๊ ซึ่งแน่นอนที่สุดว่า หนังสือพระแท้ทั้งเล่มมีจำนวนมากและรองส่วนแบ่งตลาดหนังสือพระมากที่สุด แต่ที่น่าสนใจคือ หนังสือพระเก๊ทั้งเล่มเริ่มเข้ามามีส่วนแบ่งในตลาดหนังสือพระ และนับวันจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
การจัดพิมพ์หนังสือที่มีภาพพระเก๊ทั้งเล่ม เท่าที่พบในปัจจุบันมากที่สุดต้องยกให้ การจัดพิมพ์หนังสือพระสมเด็จซึ่งมีอยู่ประมาณ ๑๐ เล่ม ส่วนพระอื่นๆ ยังไม่มีให้เห็น ทั้งนี้ หากพิจารณาเฉพาะคุณภาพหนังสือภายนอกไม่เกี่ยวกับภาพพระและเนื้อหาภายใน หนังสือพระเก๊ทั้งเล่มพิมพ์ได้ดีไม่แตกต่างจากหนังสือพระแท้ทั้งเล่ม ที่ยิ่งไปกว่านั้นคือ หนังสือพระเก๊ทั้งเล่มคุณภาพการพิมพ์และออกแบบดีกว่าด้วยซ้ำ
“ครั้งแรกผู้พิมพ์มาติดต่อขอให้ช่วยวางขาย โดยไม่คิดขาย เพราะเป็นที่รู้กันดีในวงการพระเครื่องว่า ไม่มีใครเล่นพระเก๊ ที่ไหนได้ ไม่น่าเชื่อว่าหนังสือพระเก๊ทั้งเล่ม ซึ่งส่วนใหญ่มีราคาไม่ต่ำกว่า ๑,๐๐๐ บาท จะมีคนซื้อไปอ่าน บางเล่มขึ้นชื่อว่าเป็นหนังสือขายดีด้วย” ติ๋ม ท่าพระจันทร์กล่าว
หนังสือของ "ชมรมนักอนุรักษ์สะสมพระเครื่องสยาม"
"พระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม จักรพรรดิแห่งพระเครื่องไทย" เป็นหนังสือที่จัดพิมพ์โดย "ชมรมนักอนุรักษ์สะสมพระเครื่องสยาม" ซึ่งมี นายกล้า เกษสุรินทร์ชัย เป็นประธานชมรม ซึ่งความหนากว่า ๔๐๐ หน้า สี่สีทั้งเล่ม เข้าเล่มเย็บกี่อย่างดี วางจำหน่ายตามแผงหนังสือชั้นนำ แม้ว่าเซียนพระของสมาคมพระเครื่องจะระบุว่าเป็นการเล่นพระผิดทาง รูปพระสมเด็จที่จัดพิมพ์ในหนังสือเป็นพระที่วงการไม่เล่นกัน แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยสนใจการเล่นพระและซื้อหนังสือในแนวของชมรมนักอนุรักษ์สะสมพระเครื่องสยาม
นายกล้าบอกว่า ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มผู้เล่นพระมีมาอย่างต่อเนื่อง ข้อเท็จจริงในการจัดสร้างพระสมเด็จวัดระฆังของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ยังหาข้อยุติไม่ได้ว่าท่านลงมือสร้างเมื่อใด แต่ก็มีผู้สันนิษฐานที่แอบอ้างว่ามีการสร้างจำนวนน้อย เช่น อ้างว่ามี ๔ พิมพ์ทรง แต่ละพิมพ์ทรงมีเพียง ๔-๕ แบบบล็อกแม่พิมพ์เท่านั้น ซึ่งมีปัญหาว่าทั้งๆ ที่ผู้แอบอ้างว่ารู้ดีนั้นก็เกิดไม่ทันเหมือนกัน ทำไมจึงไม่คิดว่าแนวการเล่นของกลุ่มตนเป็นการเล่นในแนวที่คับแคบ หลงผิด หรือเล่นเพื่อผูกขาดตัดตอน เคยคิดบ้างไหมว่าแนวทางที่เล่นนั้นผิด ซึ่งเท่ากับว่าเป็นการทำลายบล็อกแม่พิมพ์อื่นๆ ที่สมเด็จโตสร้างขึ้นมา
ทั้งนี้ นายกล้าพูดทิ้งท้ายไว้อย่างน่าคิดว่า "พระแท้ไม่แท้อยู่ที่องค์พระ ไม่ได้อยู่ที่คนดู ผู้ที่ได้รับพระเครื่องที่เป็นมรดกตกทอดจากปู่ ยา ตา ยาย รวมทั้งผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ หากนำพระที่ห้อยอยู่ไปให้เซียนพระดูแล้วบอกว่าเป็นพระไม่ถึงยุค ก็อย่าคิดถอดพระหรือไม่แขวนพระองค์นั้นเลย ให้คิดเสียว่า เซียนตาไม่ถึง หรือมีความรู้ไม่มากพอ และให้คิดเสียว่า พระองค์นั้นๆ เป็นของที่ระลึก ผู้ให้มีเจตนาดี พระทุกองค์สามารถใช้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจได้เสมอ"
“การจัดพิมพ์หนังสือที่มีภาพพระเก๊ทั้งเล่ม เท่าที่พบในปัจจุบันมากที่สุดต้องยกให้การจัดพิมพ์หนังสือพระสมเด็จซึ่งมีอยู่ประมาณ ๑๐ เล่ม ส่วนพระอื่นๆ ยังไม่มีให้เห็น”
0 เรื่อง / ภาพ ไตรเทพ ไกรงู 0