
คำวัด - อรหัง-อรหัต-อรหันต์
พุทธศาสนิกชนมีคติความเชื่อมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลว่า เมื่อสรีระ หรือสังขราของพระสงฆ์ที่บรรลุมรรคผล นิพพาน สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว อัฐิเถ้าถ่านของท่านกลับกลายเป็น "พระธาตุ" ให้ได้เห็นอยู่หลายๆ พระอาจารย์ ซึ่งแตกต่างกันไปตามภูมิธรรมของแต่ละท่านที่ได้สั่งสมปฏ
หลวงปู่ตื้อ อจลธัมโม วัดป่าอรัญวิเวก ต.บ้านป่า อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม พระอริยะสำคัญสายพระอาจารย์มั่น และเป็นสหายร่วมธุดงค์ของหลวงปู่แหวน สุจิณโณ ได้เคยกล่าวไว้ว่า "อำนาจตบะที่อริยบุคคลได้ตั้งหน้าบำเพ็ญเพียรเพื่อขัดเกลากิเลสนั้น มิได้แผดเผาชำระล้างเฉพาะกิเลสเท่านั้น หากแต่ได้แผดเผา ชำระล้าง ซักฟอกกระดูกในร่างกายให้กลายเป็นพระธาตุไปด้วยในขณะเดียวกัน"
ทั้งนี้ พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙ ราชบัณฑิต) เจ้าอาวาสวัดราชโอสาราม ได้อธิบายความหมายของคำว่า "อรหัง" อ่านว่า “อะ-ระ-หัง” หรือจะอ่านว่า “ออ-ระ-หัง” ก็ได้เช่นกัน แปลโดยทั่วไปว่า พระอรหันต์ เป็นพระเนมิตกนามของพระพรุทธเจ้า และเป็นบทพุทธคุณบทหนึ่งในจำนวน ๙ บท
อรหัง มีความหมาย ๕ นัย คือ
นัยที่ ๑ หมายความว่า ผู้ไกลจากกิเลส คือ ทรงละกิเลสได้แล้ว
นัยที่ ๒ หมายความว่า ผู้กำจัดอริได้แล้ว คือ ทรงกำจัดข้าศึก คือ กิเลสได้แล้ว
นัยที่ ๓ หมายความว่า ผู้หักซี่กำของวงล้อสังสารวัฏได้แล้ว ด้วยขวาน คือ พระญาณ
นัยที่ ๔ หมายความว่า ผู้ควรแก่ปัจจัย ๔ แล ะการบูชาอันวิเศษทั้งหลาย
นัยที่ ๕ หมายความว่า ผู้ไม่มีที่ลับ คือ ไม่มีที่ลับในการทำบาป
ส่วนคำว่า "อรหัต" อ่านว่า “อะ-ระ-หัด” หรือ “ออ-ระ-หัด” เจ้าคุณทองดี ได้ให้ความหมายไว้ว่า ความเป็นพระอรหันต์ ความสำเร็จเป็นพระอรหันต์
อรหัต หมายถึง ธรรมที่พระอรหันต์ได้บรรลุ คือ พระนิพพาน เรียกเต็มว่า พระอรหัต หรือ พระอรหัตผล
คำว่า อรหัต กับคำว่า พระอรหันต์ มีความหมายต่างกัน คือ อรหัต เป็นชื่อของคุณธรรม ส่วน อรหันต์ เป็นชื่อของบุคคลผู้บรรลุอรหัต
ในขณะที่คำว่า "อรหันต์" อ่านว่า “อะ-ระ-หัน” หรือ “ออ-ระ-หัน” เจ้าคุณทองดี ได้ให้ความหมายไว้ว่า ผู้ห่างไกลจากกิเลสแล้ว ผู้หักกำของวงล้อสังสารวัฏได้แล้ว ผู้ควรแก่ปัจจัย ผู้ไม่มีความลับในเรื่องการทำบาป
อรหันต์ หมายถึง ผู้บรรลุอรหัตผลแล้ว ผู้สิ้นกิเลสแล้ว เรียกเต็มว่า พระอรหันต์ ในคำไทยเรียกตามเสียงบาลีว่า พระอรหัง ก็มี
คำว่า อรหัต กับ อรหันต์ มักใช้สับกัน เช่น ใช้ว่า
“เมื่อได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า พระเถระก็ได้บรรลุพระอรหันต์”
ข้อความข้างต้นใช้ไม่ถูก ที่ถูกต้องใช้ว่า
“เมื่อได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า พระเถระก็ได้บรรลุพระอรหัต” หรือ
“เมื่อได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า พระเถระก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์”
"พระธรรมกิตติวงศ์"