พระเครื่อง

มัสยิดควนลังงา 
๓๐๐ ปี แห่งมิตรภาพ “พุทธ-มุสลิม”

มัสยิดควนลังงา ๓๐๐ ปี แห่งมิตรภาพ “พุทธ-มุสลิม”

03 มี.ค. 2554

ภาพความพยายามของภาครัฐไม่ว่าจะเป็นฝ่ายพลเรือน ตำรวจ ทหาร ในการดึงเอาชาวพุทธและชาวมลายูมุสลิมในพื้นที่ชายแดนภาคใต้มาทำกิจกรรมร่วมกันเพื่อหวังสยบรอยร้าวทางความรู้สึกที่กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ “ตอกลิ่ม” ด้วยความรุนแรง เพื่อหวังให้ประชาชนต่างศาสนิกเกิดความแตกแย

  แต่ที่ “ชุมชนควนลังงา” อาจไม่จำเป็นต้องมีกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์ในการแสดงออกให้สังคมเห็นถึงการอยู่ร่วมกันระหว่างคน “พุทธกับมุสลิม” ชนิดไร้ซึ่งความหวาดระแวงกินแหนงแคลงใจซึ่งกันและกัน เพราะพื้นที่แห่งนี้ไม่มีเส้นแบ่งในการอยู่ร่วมกันของคน “ต่างศาสนา” มายาวนานกว่า ๓๐๐ ปีแล้ว กลับมีแต่ “มิตรภาพ” และความเป็น “พี่น้อง” ปรากฏให้เห็นจนเป็นเรื่องปกติ ซึ่งถือเป็นภาพที่ไม่ได้ปรากฏให้เห็นกันง่ายๆ นัก ในยามที่ยังเต็มไปด้วยสถานการณ์ไม่ปกติ

 ศิลปะในการสร้างมัสยิด ๓๐๐ ปี แห่งนี้ถือเป็นเอกลักษณ์ที่บ่งบอกถึงสายสัมพันธ์ของคนสองศาสนาได้เป็นอย่างดี เพราะมีทั้งเอกลักษณ์ของความเป็นอิสลามและเป็นพุทธรวมอยู่อย่างกลมกลืน เพราะศาสนสถานแห่งนี้เกิดขึ้นจากความร่วมแรงร่วมใจของบรรพชนทั้งสองศาสนา ที่จับมือกันปักหลักวางรากฐานจนกลายดั่งหมุดที่ปักตรึงสัมพันธ์ของคนในชุมชนให้เป็นหนึ่งเดียว

 ดังนั้นวันนี้ศาสนสถานแห่งนี้นอกจากจะเป็นสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนาของชาวมุสลิมในพื้นที่แล้ว ยังกลายเป็นที่พบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของชาวบ้านโดยไม่แบ่งแยกศาสนาอีกด้วย

 “พระครูปราโมทย์สีตคุณ” เจ้าอาวาสวัดทรายขาว รูปปัจจุบัน บอกว่า "คนยุคก่อนเล่าต่อๆ กันมาว่า ในอดีตทั้งพระภิกษุและโต๊ะอิหม่าม รวมถึงชาวบ้านทั้งพุทธและมุสลิมในที่แห่งนี้ต่างร่วมแรงร่วมใจจนการก่อสร้างแล้วเสร็จ ที่สำคัญมัสยิดนี้ "พ่อท่านศรีแก้ว" ได้เป็นผู้ออกแบบร่วมกับอิหม่ามซึ่งเป็นสหายรักกันในสมัยนั้น ชาวบ้านในพื้นที่แห่งนี้อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุขมาช้านาน วันนี้ภาพความร่วมแรงร่วมใจยังคงเป็นไปเช่นเดิมเหมือน ๓๐๐ ปีที่ผ่านมาทุกกระเบียดนิ้ว และที่สำคัญไม่ต้องจัดฉาก หรือประชาสัมพันธ์ใดๆ เพื่อให้คนภายนอกรู้ว่าชาวบ้านละแวกนี้รักใคร่กันมากน้อยเพียงใด จึงไม่แปลกหากวันนี้ชุมชนแห่งนี้จะเต็มไปด้วยรอยยิ้ม แม้ว่ารายรอบพื้นที่จะยังคุกรุ่นไปด้วยสถานการณ์ความไม่สงบก็ตาม"

 ด้าน “หะยีอับดุลรอมาน สะหลำสุหรี” วัย ๘๐ ปี อิหม่ามประจำมัสยิดแห่งนี้ ย้อนเรื่องราวให้ฟังว่า ในอดีตตั้งแต่เมื่อครั้งยังเป็นเด็กก็เห็นภาพคนไทยพุทธกับมลายูมุสลิมในชุมชนอาศันอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข และทำกิจกรรมร่วมกันอย่างไม่แบ่งแยกศาสนา โดยเฉพาะการร่วมลงขันนำเงินไปซื้อช้างด้วยกัน และนำช้างเชือกดังกล่าวมาใช้ขนสินค้าเกษตรของชาวบ้านออกไปขายด้วยกันในเมือง แต่น่าเสียดายที่ช้างตัวดังกล่าวได้จากไปเสียแล้ว

 ทั้งนี้ มีหลักฐานชิ้นสำคัญที่ยังอยู่กับชาวบ้านที่แห่งนี้นั่นคือ “มัสยิด ๓๐๐ ปี” ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดย “พระครูศรีรัตนากร” หรือที่ชาวบ้านรู้จักในนาม “พ่อท่านศรีแก้ว” อดีตเจ้าอาวาสวัดทรายขาว ซึ่งชาวพุทธและมุสลิมในพื้นที่ให้การยอมรับนับถืออย่างมาก เพราะเดิมท่านเป็นมุสลิมแต่ท่านได้มาบวชเรียนในพระพุทธศาสนา และได้ให้การช่วยเหลือชนสองศาสนิกอย่างเท่าเทียม จนกลายเป็นดั่งรวมใจของชาวบ้านร้อยสัมพันธ์จนไร้ซึ่งความแตกแยก ตั้งแต่ยุคนั้นมาจวบจนทุกวันนี้

 "มัสยิด ๓๐๐ ปี แห่งนี้จึงเกิดขึ้นด้วยความร่วมมือของพ่อท่านศรีแก้วกับโต๊ะอิหม่ามในยุคนั้น โดยสร้างแบบศิลปะประยุกต์ ผสมผสานระหว่างพุทธกับมุสลิม ภายในมีสถานที่ในการประกอบพิธีละหมาด แต่เมื่อมองจากภายนอกจะคล้ายคลึงกับโบสถ์ในศาสนาพุทธ และที่สำคัญ การก่อสร้างล้วนเกิดจากความร่วมแรงร่วมใจของคนสองศาสนา” อิหม่าม กล่าวด้วยรอยยิ้ม

สามัคคีแห่ง..."พุทธ-มุสลิม”
  “อาดัม บาเหมบูลา” ผู้ใหญ่บ้านหมู่ ๔ บ้านควนลังงา ต.ทรายขาว อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี กล่าวว่า สำหรับชุมชนอื่นอาจเป็นเรื่องแปลกที่เห็นคนมลายูมุสลิมไปร่วมงานศพคนไทยพุทธที่วัด หรือเดินทางไปร่วมงานบวช รวมถึงงานมงคลสมรส หรือแม้กระทั่งภาพของบรรดาพี่น้องชาวไทยที่นับถือศาสนาพุทธจะหิ้วอาหาร และขนมมาร่วมพิธีออกบวช (ละศีลอด เดือนรอมฎอน) ที่มัสยิดในเดือนถือศีลอด แต่สำหรับชุมชนแห่งนี้ภาพความร่วมมือของคนสองศาสนาเหล่านั้นถือเป็นเรื่องปกติ เพราะการไม่แบ่งแยกมีมานานกว่า ๓๐๐ ปีแล้ว

 ส่วน “ชุติมา เศียรอินทร์” ชาวบ้านวัยกลางคน ซึ่งเติบโตในพื้นที่แห่งนี้ยืนยันว่า “มัสยิด ๓๐๐ ปี” เป็นดั่ง “สัญลักษณ์” ที่ทำให้ชาวบ้านอาศัยอยู่ร่วมกันชนิดไร้ซึ่งความรู้สึกแปลกแยกและแตกต่างในการนับถือศาสนา แต่กลับกระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น เป็นต้นว่าคนไทยพุทธบางครอบครัวหากมีบุตรหลานที่เพิ่งลืมตาดูโลก ก็จะให้เกียรติโต๊ะอิหม่ามตั้งชื่อ ส่วนคนมุสลิมครอบครัวใดมีเรื่องทุกข์ร้อนใจก็ไปรับน้ำมนต์จากพระที่วัดเพื่อสร้างความสบายใจ ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีมาตั้งแต่โบราณ และยังปรากฏอยู่จนถึงทุกวันนี้

 ขณะที่ "นายอรุณ ดำรงรักษ์” ชาวบ้านในพื้นที่ กล่าวว่า มัสยิด ๓๐๐ ปี ถือเป็นหนึ่งในมรดกแห่งความภูมิใจของคนสองศาสนาในพื้นที่นี้ เพราะเป็นสิ่งยืนยันและทำให้ทุกคนยังคงรักและสามัคคีร่วมกันมาจวบจนถึงทุกวันนี้ แม้ว่าในพื้นที่ยังปรากฏเหตุการณ์ความไม่สงบ และมีความพยายามของคนบางกลุ่มที่จะยุแหย่ให้ชาวบ้านเกิดรอยร้าวในความรู้สึกที่จะอยู่ร่วมกัน


 "มัสยิด ๓๐๐ ปีแห่งนี้จึงเกิดขึ้นด้วยความร่วมมือของพ่อท่านศรีแก้วกับโต๊ะอิหม่ามในยุคนั้น โดยสร้างแบบศิลปะประยุกต์ ผสมผสานระหว่างพุทธกับมุสลิม ภายในมีสถานที่ในการประกอบพิธีละหมาด แต่เมื่อมองจากภายนอกจะคล้ายคลึงกับโบสถ์ในศาสนาพุทธ"

เรื่อง / ภาพ สุพิชฌาย์ รัตนะ