พระเครื่อง

ชั่วโมงเซียน-พระสมเด็จปิลันทน์พระหน่อเนื้อเชื้อกษัตริย์ วัดระฆังโฆสิตาราม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

วัดระฆังถือว่าเป็นวัดอารามหลวงที่มีอายุเก่าแก่มาก สร้างมานานตั้งแต่สมัยอยุธยา แต่เดิมชื่อว่า วัดบางหว้าใหญ่ ครั้นต่อมาเมื่อกรุงรัตนโกสินทร์ สมัยสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ ทางวัดทำการขุดสระน้ำภายในบริเวณวัดเพื่อสร้างหอเก็บพระไตร ได้ขุดพ

 และต่อมาภายหลังได้นำไปเก็บไว้ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) ซึ่งต่อมาทำให้ชาวบ้านทั่วไปหันกลับมาเรียกวัดบางหว้าใหญ่ เป็นวัดระฆังเรื่อยๆ มาจนติดปาก และได้เปลี่ยนชื่อเป็นวัดระฆังในที่สุด จวบจนถึงปัจจุบันนี้ นี่แหละเป็นที่ไปที่มาของชื่อวัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร พอสังเขป

 พระสมเด็จปิลันทน์ วัดระฆัง สันนิษฐานว่ามีการสร้างขึ้นไว้เมื่อประมาณ พ.ศ.๒๔๑๘  โดยผู้สร้างคือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (หม่อมเจ้าทัด เสนีวงศ์) ท่านเป็นพระโอรสในกรมหลวงเสนีบริรักษ์ (พระองค์เจ้าแดง) ในกรมพระราชวังบวรสถานภิมุข (วังหลัง) ประสูติเมื่อ พ.ศ.๒๓๖๔ สมัยสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒

 หม่อมเจ้าทัด ทรงออกผนวช ตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๓ ประมาณ  พ.ศ.๒๓๘๕ ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นนาคหลวง โดยมีสมเด็จพระสังฆราชด่อน เป็นพระอุปัชฌาย์ และเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรฺหมฺรังสี) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ในครั้งสมัยนั้นยังเรียกกันว่า พระมหาโต เปรียญหก หลังจากผนวชแล้วได้มาประทับอยู่ที่วัดระฆังโฆสิตาราม ทรงศึกษาด้านพระธรรมวินัย สมถกรรมฐาน และวิปัสสนาธุระกับพระอาจารย์มหาโตแต่ผู้เดียว จนสอบไล่ได้เป็นเปรียญ ๗ ประโยค ใน พ.ศ.๒๔๐๔  

 ต่อมา เมื่อเจริญด้วยพระชนมายุ จึงได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่  “พระพุทธบาทปิลันทน์” ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ราวปี พ.ศ.๒๔๐๗ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (หม่อมเจ้าทัด เสนีวงศ์)  มรณภาพ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๓  รวมสิริอายุได้ ๗๙ ปี ๕๘ พรรษา ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ราวปี พ.ศ.๒๔๐๗

 อันนามสัญญาบัตรที่ “พระพุทธุปบาทปิลันทน์” นี้ เป็นสมณศักดิ์สงวนเฉพาะแต่พระราชวงศ์ ตั้งแต่หม่อมราชวงศ์ขึ้นไป ซึ่งสมณศักดิ์ที่สงวนไว้สำหรับราชวงศ์มีดังนี้คือ

 ๑. พระราชานุพัทธมุนี
 ๒. พระศรีวราลังการ
 ๓. พระสังวรประสาท
 ๔. พระพุทธุปบาทปิลันทน์

 การเรียกชื่อพระปิลันทน์นำหน้าชื่อพระว่า สมเด็จ ก็เพราะว่าผู้สร้างมียศศักดิ์สูงถึงชั้นสมเด็จ และคำว่า "ปิลันทน์" ก็หมายถึง ชื่อเดิมของท่านที่ชื่อว่า “พระพุทธบาทปิลันทน์” ครั้งเมื่อท่านได้สร้างพระเครื่องขึ้นมาทำให้ชาวบ้านทั่วไปเรียกและขนานนามพระที่ท่านสร้างนั้นว่า พระสมเด็จปิลันทน์ ตามชื่อเดิมท่าน และเรียกกันเรื่อยๆ มาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งที่จริงแล้วพระพุทธบาทปิลันทน์นั้นท่านก็เป็นศิษย์เอกองค์หนึ่งของสมเด็จพระพุฒาจารย์โต พรหมรังสี เช่นกัน

 พระสมเด็จปิลันทน์มีการสร้างไว้มากมายหลายพิมพ์ทรง สีของเนื้อพระจะออกสีเขียวอมดำ อมเทา หรือเนื้อผง สีออกขาวเหลืองก็มี  มีทั้งที่บรรจุกรุ  และไม่ลงกรุ องค์พระที่ลงกรุส่วนใหญ่จะมีคราบไขปกคลุมอยู่ทั่วองค์พระ จับอยู่เป็นชั้นๆ บางจุดก็มีไขเกาะหนาเป็นก้อนนูนเด่น ลักษณะแข็ง มัน เหนียวเหนอะ คล้ายกับไขวัว ดูแล้วมีเสน่ห์เข้มแข็งน่าใช้

 ส่วนพระสมเด็จปิลันทน์เนื้อผงสีขาวนั้น มาแตกกรุขึ้นภายหลังที่กรุเจดีย์ในวัดระฆังเช่นกันเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๑ และพบอีกหลายๆ ครั้งต่อมาทั้งที่วัดระฆังเอง  และที่กรุวัดอื่นๆ ในบริเวณใกล้เคียงกับวัดระฆัง ซึ่งสมเด็จปิลันทน์เนื้อขาวนั้นจะพบคราบไขเกาะองค์พระน้อยกว่ามากกับพระสมเด็จปิลันทน์ที่เป็นสีอื่นๆ

 พระสมเด็จปิลันทน์เท่าที่พบมีด้วยกันประมาณ ๒๐ พิมพ์ มีลักษณะแบ่งเป็น  ๒ แบบ คือแบบที่มีรูปทรงสี่เหลี่ยม และรูปทรงที่มีลักษณะโค้งคล้ายพระซุ้มกอ  กำแพงเพชร

 พระสมเด็จปิลันทน์ได้รับการนิยมด้วยกันทุกแบบ ทุกพิมพ์ทรง มาด้วยกันช้านาน แต่พิมพ์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดก็คือ พิมพ์ซุ้มประตู ยิ่งพระองค์ไหนเป็นพิมพ์ลึก และมีทองปิดเดิมมาจากกรุด้วยแล้วราคาก็ยิ่งสูงเป็นทวีคูณ

 ในปัจจุบัน พระสมเด็จปิลันทน์ถือว่าเป็นพระเนื้อผงยอดนิยมที่หาชมองค์จริงแท้  สภาพเดิมที่สวยสมบูรณ์นั้นได้ค่อนข้างยากมาก บางพิมพ์แทบจะไม่เคยเห็นมีเข้ามาวนเวียนอยู่ในตลาดพระเลย เช่น พิมพ์ปรกโพธิ์ใหญ่ พิมพ์ปฐมเทศนา พิมพ์หยดแป้ง พิมพ์ปิดตา หรือพิมพ์สมเด็จจิ๋ว เป็นต้น

 พระสมเด็จปิลันทน์ทุกพิมพ์ทรงได้ทำการเลียนแบบทำของเก๊มากมาย หลายฝีมือมาช้านาน เพราะว่าเป็นพระเล่นง่าย ขายก็คล่องเป็นที่ต้องการของตลาดพระเครื่องมาก เป็นพระเครื่องประเภทหนึ่งซึ่งมีจำนวนน้อยที่ครองใจค่าความนิยมของนักสะสมพระเครื่องในตลาดพระได้ยาวนานตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

 พระสมเด็จปิลันทน์นอกจากจะได้รับความนิยมสูงสุดแล้ว ยังได้รับการจัดให้อยู่ในประเภทพระเนื้อผงยอดนิยมชุดที่ ๑ และได้รับคำนิยมยกย่องจากบุคคลทั่วไปว่าเป็น "พระหน่อเนื้อเชื้อกษัตริย์” เป็นพระมีตระกูล “ที่ไปที่มาดี” ซึ่งหมายถึงว่า พระที่มีผู้สร้างดี พิธีกรรมปลุกเสกดี และวัดที่ออกพระนั้นก็ดี แค่นี้ก็ถือว่าเป็นพระที่มีองค์ประกอบครบถ้วนที่สุดแล้ว

 ข้อควรระวังในการเก็บพระสมเด็จปิลันทน์ คือ เป็นพระที่มีอายุการสร้างนานเก่าแก่ร้อยกว่าปีและเป็นพระเนื้อผงจึงมีความแห้ง แข็ง เปราะ และกรอบ ตกแตกหักง่าย

 ราคาค่างวด อย่างที่พูดไว้ข้างต้นว่าพระสมเด็จปิลันทน์ได้รับความนิยมสูงทุกพิมพ์ วงการพระนิยม จึงเล่นกันที่หลักหมื่นต้นขึ้นไป จนถึงหลักแสนในบางพิมพ์ ส่วนองค์ที่ไม่ได้บรรจุกรุ  ส่วนมากจะได้รับความนิยมน้อยกว่า หรือต่ำกว่าองค์ที่ลงกรุ  อาจเพราะว่าองค์พระขาดความขลัง ความอลังการที่ไม่ค่อยมีไขเกาะที่องค์พระซึ่งทำให้พิจารณาความแท้ได้ยากอีกต่างหาก

 ด้านพุทธคุณเชื่อว่า พระสมเด็จปิลันทน์เฉกเช่นเดียวกันกับพระสมเด็จวัดระฆังของเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์โต ซึ่งมีพุทธคุณดีครบทุกด้านไม่ว่าจะเป็นทางด้านแคล้วคลาด  คงกระพันชาตรี  เมตตามหานิยม และโภคทรัพย์ดีเยี่ยมที่สุด

นุ   เพชรรัตน์ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ