พระเครื่อง

รอดตายหลายครั้งเพราะ'เขี้ยวหมูตัน''เอี้ยง ปู่ยีนส์'สายตรงพระอาจารย์นำ

รอดตายหลายครั้งเพราะ'เขี้ยวหมูตัน''เอี้ยง ปู่ยีนส์'สายตรงพระอาจารย์นำ

23 ม.ค. 2554

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เหรียญพระอาจารย์นำ แก้วจันทร์ วัดดอนศาลา อ.ควนขนุน จ.พัทลุง รุ่นแรก ปี ๒๕๑๙ ได้รับความศรัทธาสนใจจากนักสะสมพระเครื่อง รวมทั้งชาวบ้านทั่วๆ ไป เป็นอันมาก จนทำให้ราคาซื้อขายเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จากหลักพันที่มีมาก่อนหน้านี้หลายปี ได้พุ่งข

 เนื่องเพราะเป็นเหรียญที่มีประสบการณ์ในทุกด้าน และที่โดดเด่นไม่เหมือนเหรียญพระเกจิอาจารย์ท่านอื่นใดก็คือ เป็น เหรียญเนื้อโลหะบ้านเชียง ของเก่าโบราณนับพันปี ซึ่งเป็นส่วนผสมหลักที่มีเฉพาะเหรียญรุ่นนี้เท่านั้น เอกลักษณ์สำคัญของเนื้อโลหะบ้านเชียง ที่ปรากฏอยู่บนผิวเหรียญอย่างเห็นได้ชัด คือ ผิวเหรียญจะกระดำกระด่างทุกเหรียญ และรอยกระดำกระด่างนั้นจะปรากฏบนผิวแต่ละเหรียญไม่เหมือนกัน นับเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของเหรียญพระอาจารย์นำรุ่นนี้

 และที่สำคัญสุดยอด พระอาจารย์นำ แก้วจันทร์ (ฉายาทางพระคือ "ชินวโร") เป็นศิษย์เอกสายเขาอ้อ ซึ่งเป็นสำนักไสยศาสตร์อันโด่งดังมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นผู้สืบทอดวิทยายุทธ์ตำราสายนี้เอาไว้อย่างครบถ้วน โดยได้ถ่ายทอดวิชาอาคมต่างๆ ให้กับลูกศิษย์หลายท่านด้วยกัน ซึ่งล้วนเป็นผู้มีชื่อเสียงโด่งดังทั้งสิ้น

 การสะสมพระเครื่องที่ได้รับการปลุกเสกจากพระอาจารย์นำ จึงย่อมไม่ผิดหวัง สำหรับผู้ที่ต้องการ ของดีมีคุณค่า อย่างแท้จริง ด้วยเหตุนี้จึงทำให้พระเครื่องของพระอาจารย์นำเป็นที่ต้องการของนักสะสมอย่างกว้างขวาง จนทำให้มีการซื้อขายในราคาที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ดังกล่าว

 และเป็นที่น่ายินดี ที่ทุกวันนี้ มีลูกหลานชาว อ.ควนขนุน จ.พัทลุง คนหนึ่งได้ความมุ่งมั่นแสวงหาพระเครื่อง และวัตถุมงคลต่างๆ ของพระอาจารย์นำอย่างจริงจัง จนมีมากมายพอสมควร ถือได้ว่าเป็นนักสะสม สายตรงวัตถุมงคลพระอาจารย์นำ ก็คงจะไม่ผิดนัก

 เขาคือ “เอี้ยงปู่ยีนส์” (พิจักษณ์ เพชรสงค์) ลูกหลานชาว อ.ควนขนุน ผู้มีอาชีพซื้อขายเสื้อผ้ายีนมาก่อนหน้านี้  โดยทำอยู่นานเกือบ ๓๐ ปี เคยซื้อขายยีนบิ๊กอีตัวละ ๕ แสนบาท จนโด่งดังไปทั่วทุกวงการ และมีข่าวลงหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์รายวันมาแล้ว

 ชีวิตที่ผ่านมาของ "เอี้ยง" เจ้าตัวยอมรับว่า เป็นคนเกเรมาตั้งแต่เด็ก ชอบเป็นผู้นำมากว่าเป็นผู้ตาม เรื่องชกต่อยมีมาตลอด เมื่อไปเรียนต่อในโรงเรียนเทคนิค ก็เคยยกพวกตีกับนักเรียนโรงเรียนอื่นอยู่เสมอ จนแม่ต้องพาไปอยู่กับ ท่านพระครูกรุณานุรักษ์ วัดสุวรรณวิชัย ซึ่งเป็นเจ้าคณะอำเภอควนขนุน นิสัยเกเรก็ค่อยๆ หายไป จนทุกวันนี้  "เอี้ยง" บอกว่า ใจเย็นลงมากแล้ว ตั้งหน้าตั้งตาทำมาหากินอย่างเดียว

    "เอี้ยง" เล่าย้อนไปในอดีตที่ผ่านมาว่า "พ่อผมถึงแก่กรรมตั้งแต่ผมยังเล็กๆ ผมจึงต้องหาเงินใช้เองบ้างในบางครั้ง สมัยโน้นคนแถวบ้านผมที่ควนขนุน มักจะขึ้นไปขายเสื้อผ้ากางเกงยีนที่สนามหลวง กรุงเทพฯ ตอนนั้นผมอายุ ๑๓-๑๔ ปีก็ได้ติดตามพี่ๆ เขาไปด้วย จนเมื่อเติบโตขึ้น เรียนก็ไม่จบเทคนิค ผมเลยยึดอาชีพขายยีนตลอดมา เป็นของเก่ามือ ๒ จากอเมริกา ใส่กระสอบผ่านมาทางมาเลเซีย ตัวละไม่กี่ร้อยบาท ต่อมาเมื่อมีการซื้อขายจนกลายเป็นเพื่อสะสมของเก่า ทำให้เสื้อผ้ายีนยี่ห้อดังๆ ของอเมริกา ราคาแพงขึ้นเรื่อยๆ จนถึงหลักแสนก็มี โดยเฉพาะชาวญี่ปุ่นชอบมาก ขณะเดียวกัน ผมก็ได้รู้จักกับ 'พี่หงา' สุรชัย จันทิมาธร ศิลปินนักร้องเพลงเพื่อชีวิต 'วงคาราวาน' ก็ด้วยเรื่องเสื้อผ้ากางเกงยีนนี่แหละ เพราะพี่หงาเขาก็ชอบทางนี้ เลยได้ทัวร์คอนเสิร์ตไปกับพี่หงาเสมอเป็นประจำ จนถึงทุกวันนี้ กว่า ๒๐ ปีแล้วที่ได้คบหาสมาคมกันมา"

 สำหรับเรื่อง พระเครื่องรางของขลัง เอี้ยงบอกว่า "ผมเริ่มสนใจตอนเรียนอยู่ ม.๑ คุณปู่ให้แขวนตะกรุดพระอาจารย์นำ เพราะสมัยนั้นผมเกเรมาก พอโตขึ้นคุณปู่ได้ให้ 'เขี้ยวหมูตัน' ของพระอาจารย์นำปลุกเสก ซึ่งยังใช้ติดตัวมาจนถึงทุกวันนี้ 'เขี้ยวหมูตัน' อันนี้ ผมมีประสบการณ์มาอย่างโชกโชน ถูกยิงถูกฟันมานับครั้งไม่ถ้วน แต่แคล้วคลาดปลอดภัยเสมอ จนทำให้เชื่อได้อย่างสนิทใจว่า เป็นของดีที่วิเศษสุดของพระอาจารย์นำ และเป็นการจุดประกายให้ผมสนใจวัตถุมงคลอย่างอื่นๆ ของพระอาจารย์นำมากขึ้น จึงหาหนังสือมาศึกษาประวัติของท่าน รวมทั้งพระเครื่องรางของขลังที่ท่านได้ปลุกเสกเอาไว้ ก็ยิ่งเพิ่มความศรัทธาเลื่อมใสพระอาจารย์นำมากขึ้นไปอีก โดยเฉพาะพระเกจิอาจารย์ผู้เป็นศิษย์สายเขาอ้อ แต่ละท่านล้วนได้ศึกษาวิชาอาคมมาแล้วอย่างเจนจบในทุกด้าน จึงย่อมไม่ธรรมดาอย่างแน่นอน สมัยที่ผมขึ้นมาขายเสื้อผ้าที่สนามหลวง พอมีเวลาว่างก็มักจะเข้าไปดูพระที่สนามหลวงบ้าง ท่าพระจันทร์บ้าง ทำให้ได้รู้จักกับเซียนพระบางคน และได้ซื้อพระของอาจารย์นำทุกครั้งที่ได้พบเห็น ต่อมาได้ขึ้นไปบนห้างเดอะมอลล์ บางกะปิ ได้พบกับ 'ชาญเดอะมอลล์' เปิดร้านพระอยู่บนนั้น ชาญเป็นเพื่อนที่เรียนอยู่ห้องเดียวกันกับผม สมัย ม.๑-ม.๓ ตรงจุดนี้ทำให้ผมซื้อพระของอาจารย์นำได้ง่ายขึ้น โดยมีชาญเป็นคนพาไปหาซื้อ จนได้มามากพอสมควร"

 จากการที่ได้พระแท้ของพระอาจารย์นำมาเป็นแบบอย่าง ทำให้ เอี้ยง ได้เรียนรู้ดูพระสายนี้ได้ง่ายขึ้น และแม่นยำมากขึ้นด้วย รวมทั้งได้ไปติดตามขอพระจากญาติพี่น้องที่อยู่ในละแวกวัดดอนศาลา ที่พระอาจารย์นำพำนักอยู่ ก็ได้มาอีกมากมาย ทำให้เวลานี้ เอี้ยง มีวัตถุมงคลต่างๆ ของพระอาจารย์นำแทบจะครบถ้วนทุกอย่าง ซึ่งนอกจากเหรียญแรก รุ่นปี ๒๕๑๙ แล้วก็ยังมีตะกรุด พระปิดตา พระกลีบบัว พระกริ่งทักษิณชินวโร พระรูปเหมือน พระบูชารูปเหมือน ลูกประคำ งาช้างน้ำ เขี้ยวหมูตัน ซึ่งล้วนเป็นของที่หายาก รวมทั้งภาพถ่ายเก่าๆ ของพระอาจารย์นำ ก็ได้มาหลายชิ้น

 ต่อมา เอี้ยง มีโอกาสเข้าไปคารวะ พี่พยัพ คำพันธุ์ นายกสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย จึงได้ฝากตัวเป็นน้องชายคนหนึ่ง ซึ่งพี่ยัพก็ยินดี เอี้ยง กล่าวถึงตรงนี้ว่า "ผมประทับใจพี่ยัพมาก เพราะพี่เขาเป็นคนกันเอง จริงใจ พูดคำไหนคำนั้น เป็นแบบอย่างลูกผู้ชายตัวจริง เป็นผู้นำที่ผมประทับใจ และศรัทธามาก เป็นแบบอย่างที่ผมจะต้องทำให้ได้ พร้อมกันนี้ผมได้เอาเครื่องรางของขลังที่ผมได้สะสมมา ให้พี่ยัพดู ปรากฏว่าเป็นของเก๊เกือบทั้งหมด ผมเลยให้พี่เขาสอนวิชาดูเครื่องรางให้ พี่ยัพก็สอนให้ พร้อมกับเอาของแท้ให้ดูเป็นตัวอย่าง เพื่อการศึกษา จนทุกวันนี้ผมได้เครื่องรางชนิดยอดนิยมไว้หลายชิ้นแล้ว บางอย่างก็ขอแบ่งจากพี่ยัพก็มี อาทิ เบี้ยแก้หลวงปู่รอด วัดนายโรง แพะหลวงพ่ออ่ำ วัดหนองกระบอก เสือหลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย  ลิงหลวงพ่อดิ่ง วัดบางวัว หนุมานหลวงพ่อสุ่น วัดศาลากุน ฯลฯ "

 สิ่งที่ เอี้ยง ได้มุ่งมั่นจะทำให้ได้ในขณะนี้ คือ การเก็บข้อมูลต่างๆ ของพระอาจารย์นำ แก้วจันทร์ ทั้งจากตำราที่มีผู้เขียนถึง และจากลูกศิษย์ผู้ใกล้ชิด เช่น พ่อเปลี่ยน อัตยานนท์ เจ้าพิธีเขาอ้อคนปัจจุบัน ซึ่งได้เรียนวิชาจากพระอาจารย์นำ, พระครูสิทธยาภิรัต (เอียด) ปทุมสโร วัดดอนศาลา, พระอาจารย์ปาน ปาลธัมโม วัดเขาอ้อ และลุงพร้อม หนูด้วง ผู้อยู่ในพิธีปลุกเสกทุกครั้ง คู่กับศิษย์ผู้พี่ คือ พล.ต.ต ขุนพันธรักษ์ราชเดช อาจารย์เฉลียว พงศาปาน ผอ.โรงเรียนราชวินิตบางเขน (อดีต ผอ.โรงเรียนนำวิทยา วัดดอนศาลา) ซึ่งเป็นหลานของพระอาจารย์นำ รวมทั้งพ่อจวน แก้วจันทร์ (ลูกชายพระอาจารย์นำ) แม่คล้อย แก้วจันทร์ นายนิยม แก้วจันทร์ (หลาน) และชาวบ้านละแวกวัดดอนศาลา วัดเขาอ้อ อีกมากมายหลายท่านด้วยกัน

 เอี้ยง กล่าวในตอนท้ายว่า "การรวบรวมข้อมูลต่างๆ ของพระอาจารย์นำ และวัตถุมงคลของท่าน เพื่อให้ได้ครบทุกรุ่นทุกพิมพ์ ผมได้ใช้เวลามานานกว่า ๒๐ ปี โดยวางโครงการไว้ว่า จะทำเป็นพิพิธภัณฑ์เล็กๆ ไว้ที่บ้าน หากทำได้สำเร็จก็จะเป็นสิ่งที่ผมภาคภูมิใจที่สุดในชีวิต เป็นการสนองในพระคุณของพระอาจารย์นำ ที่ผมเคารพศรัทธาเลื่อมใสอย่างสูงสุด"
 ทุกวันนี้ เอี้ยง เปิดร้านพระอยู่หน้าสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย ชั้น ๓ ห้างพันธุ์ทิพย์ งามวงศ์วาน โทร.๐๘-๙๐๙๙-๙๘๘๘ ที่นี่นอกจากจะมีพระเครื่องรางของขลังที่พระอาจารย์นำปลุกเสกอย่างหลากหลายชนิดแล้ว ยังมีภาพถ่ายเก่าๆ ของพระอาจารย์นำให้ชมเป็นวิทยาทานอีกหลายภาพด้วยกัน เป็นภาพเก่าที่หาชมได้ไม่ได้ง่ายนัก

 0 ตาล ตันหยง 0